กระแสการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรง ผ่านการออกกำลัง การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารคลีน รวมถึงการดูแลสุขภาพกาย และสุขภาพจิตของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทุกคนยิ่งหันมาให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น

แนวโน้มในอนาคต
กระแสรักสุขภาพ ถือเป็นเทรนด์ที่ได้รับการตอบรับจากผู้คนทั่วทั้งโลก รวมถึงประเทศไทย ทั้งในกลุ่มของ คนรุ่นใหม่ ไปจนถึงกลุ่มผู้สูงอายุ โดยการเข้ามามีอิธิพลของ Gen Y, การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุและวิกฤตโรค COVID-19 น่าจะเป็นตัวผลักดันให้สุขภาพเป็นเรื่องสำคัญที่คนส่วนมากใส่ใจต่อไป
สำหรับประเทศไทยพบว่าคนไทยใส่ใจสุขภาพมากขึ้น โดยสำรวจจำนวนคนที่ออกกำลังกายและเล่นกีฬาของคนไทยในปี 2563 พบว่า มีประมาณ 12.9 ล้านคน และในปี 2564 มีจำนวน 16.7 ล้านคน และน่าจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2563)
สถานการณ์การระบาดของโรค COVID-19 และการต้องกักตัวและทำงานจากที่บ้าน ทำให้ผู้คนเริ่มหันกลับมาใส่ใจสุขภาพ กลายเป็นส่วนหนึ่งของกระเเสความเคลื่อนไหวการดูเเลตัวเอง (Self-Care Movement) ที่เป็นกระแสหลักกระแสหนึ่งในปี 2020 จนถึงปีนี้ และโซเชียลมีเดียก็ยังได้กลายเป็นพื้นที่ส่งต่อความรู้และเคล็ดลับในการดูแลตัวเอง (เจาะเทรนด์โลก 2021 : Reform This Moment, 2563)
การเติบโตของธุรกิจความงามนั้นจะมาควบคู่ไปกับกระแสรักสุขภาพเช่นกัน เป็นกระแส Holistic Beauty หรือความงามควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพใจ (เจาะเทรนด์โลก 2021 : Reform This Moment, 2563)

ผลกระทบต่อประเทศไทย
เกิดบริการด้านสุขภาพผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์มากขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก COVID-19 และการใช้เทคโนโลยีที่มากขึ้นซึ่งคาดว่าต่อไปบริการเหล่านี้จะแพร่หลายและกลายเป็นเรื่องธรรมดาทั่วไป เช่นบริการใหม่ๆ จากผู้ให้บริการฟิตเนส เช่น Bootcamp เปิดคลาสสอนผ่านแพลตฟอร์ม Instagram Live
ภาคการเกษตรในระดับท้องถิ่นและภายในประเทศขยายตัว อาจมีการนำเทคโนโลยีทางการเกษตรมาใช้มากขึ้นเพื่อให้ได้ผลผลิตที่สดใหม่และปลอดสารพิษ ทั้งนี้เป็นผลมาจากตลาดอาหาร vegan และอาหาร organic ที่ขยายตัวขึ้นมาก ซึ่งอาหารเหล่านี้มักใช้วัตถุดิบจากเกษตรกรในท้องถิ่นเพื่อความสดใหม่และยืนยันได้ว่าปลอดสารพิษเพราะผู้บริโภคมีความใส่ใจและต้องการรู้ว่าวัตถุดิบแต่ละชนิดได้ผ่านสารเคมีอะไรมาบ้าง มาจากที่ไหน
ประเทศไทยอาจมีการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ (medical tourism) และขยายตลาดในด้านนี้โดยต่อยอดจากกระแสรักสุขภาพ
การใส่ใจสุขภาพนั้นรวมถึงสุขภาพจิตด้วย คนรุ่นใหม่จึงมองว่าการพบจิตแพทย์เป็นเรื่องธรรมดา แม้ไทยจะไม่มีข้อมูล แต่อ้างอิงจากผลสำรวจในปี 2018 ของ APA พบว่า 1 ใน 3 ของประชากรอเมริกันในช่วงอายุ Gen Y และ Gen Z เคยเข้ารับการรักษาจากจิตแพทย์ (Stress in America: Generation Z, 2018) ทำให้มุมมองของสังคมโดยรวมต่อปัญหาสุขภาพจิตเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น การตีตราจากสังคมต่อผู้ป่วยด้วยปัญหาสุขภาพจิตลดลง