การขยายตัวของชนชั้นกลาง

พิจารณาจากรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว หรือ Gross National Income (GNI) per capita ในแต่ละประเทศ โดยแบ่งประเทศออกเป็นสี่กลุ่มตามรายได้ คือ รายได้ต่ำ, รายได้ปานกลางในระดับต่ำ, รายได้ปานกลางในระดับสูง, รายได้สูง (World Bank Country and Lending Groups, 2021) ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นของ GNI ทำให้หลายประเทศเข้ามาอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง บ่งชี้ว่ารายได้ของประชากรในประเทศนั้นเพิ่มขึ้นและสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นกลางกำลังขยายตัว ประเทศไทยนั้นก็จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper-middle income) เช่นกัน (ไทยเลื่อนชั้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง, 2554) 

แนวโน้มในอนาคต 

▪ มีแนวโน้มว่าแต่ละประเทศรวมถึงไทยเองจะมีการเพิ่มขึ้นของรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว หรือ Gross National Income (GNI) per capita เรื่อย ๆ เนื่องจากรัฐบาลหลายประเทศได้ให้ความสนใจและผลักดันการเพิ่ม GNI มาอย่างต่อเนื่อง คาดว่า 5.3 พันล้านคน (67% ของประชากรโลก) จะมีรายได้ในระดับที่เป็นชนชั้นกลาง (middle class) ภายในปี 2030 (Developments and Forecasts of Growing Consumerism, n.d.)
▪ แนวโน้มสำหรับประเทศไทย พบว่าแม้จะมีรายได้ต่อหัวของประชากรอยู่ในระดับกลุ่มรายได้ปานกลางในระดับสูง คือ 7,216 ดอลลาร์สหรัฐในปี 2020 อ้างอิงจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (ภาพรวมเศรษฐกิจ, 2564) แต่การเติบโตของเศรษฐกิจมวลรวมประเทศมีการชะลอในช่วงหลายปีที่ผ่านมา (Bandaogo, 2020) และมีแนวโน้มว่าประเทศไทยจะไม่สามารถเติบโตไปมากกว่านี้ได้ ทำให้ติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง ไม่สามารถขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลักให้ประเทศเข้าไปอยู่ในกลุ่มประเทศรายได้สูงได้ (Bandaogo, 2020) (กับดักรายได้ปานกลางและมาตรการภาครัฐในการแก้ไข, 2563)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ ภาคธุรกิจขยายตัว การเพิ่มขึ้นของรายได้ทำให้คนออกมาใช้จ่ายและเดินทาง มีการบริโภคมากขึ้น ธุรกิจการค้า ธุรกิจท่องเที่ยว ธุรกิจโรงแรม ธุรกิจขนส่งได้ประโยชน์ โดยกลุ่มชนชั้นกลางมีอัตราการจับจ่ายและบริโภคสูงมาก อัตราการบริโภคของชนชั้นกลางในประเทศกำลังพัฒนานั้นขยายตัวราว 6 – 10% ต่อปี
▪ เกิดการขยายตัวของความเป็นเมือง เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ทำให้ผู้คนเข้าถึงความความเจริญ เทคโนโลยีและสิ่งอำนวนความสะดวกต่าง ๆ ได้มากขึ้น
▪ เกิดการขาดแคลนทรัพยากรในระยะยาว เนื่องจากการบริโภคและการผลิตที่เพิ่มขึ้น
▪ ชนชั้นกลางจะมีปากมีเสียงทางการเมืองมากขึ้นและผลักดันให้รัฐบาลพัฒนานโยบายและจัดหาสวัสดิการให้แก่ประชาชนรวมถึงยังผลักดันด้านการคุ้มครองสิทธิในด้านต่าง ๆ
▪ ประเทศไทยมุ่งการแก้ปัญหาเชิงโครงสร้าง ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและนวัตกรรม (แพรวไพลิน วงษ์สินธุวิเศษและณัชพล จรูญพิพัฒน์กุล, 2017) เร่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Bandaogo, 2020) เพื่อแก้ไขปัญหากับดับรายได้ปานกลาง