จากสถานการณ์ความไม่แน่นอนในปัจจุบัน หลังวิกฤติโรคระบาดโควิด 19 ในปี 2563 องค์กรหลายแห่งกลับมาตื่นตัวกับการประเมินสภาพแวดล้อมในอนาคต โดยนำแนวคิดการคาดการณ์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight: SF) มาใช้ในกระบวนการการสังเกต รวบรวม เปรียบเทียบ วิเคราะห์ข้อมูล เพราะการสำรวจแนวโน้มที่สามารถเกิดขึ้นได้อย่างเป็นระบบแบบนี้ ช่วยให้องค์กรสามารถเก็บเกี่ยวโอกาส และเตรียมพร้อมรับมือกับความไม่แน่นอนในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นได้ในทุกขณะเวลา และมักเป็นเรื่องที่องค์กรไม่เคยคาดการณ์ไว้ด้วย
การคาดการณ์หรือประเมินปัจจัยสภาพแวดล้อมในอนาคตจึงกลายมาเป็นเรื่องสำคัญ เพราะช่วยให้องค์กรมองเห็นทางเลือกในอนาคตที่หลากหลาย จึงเปรียบเสมือนเครื่องมือที่ช่วยฉายภาพการเดินทางไปสู่อนาคตที่ดีกว่า และช่วยให้องค์กรรับรู้กระแสธารความเปลี่ยนแปลงก่อนองค์กรอื่น จึงมีโอกาสที่จะก้าวหน้าสูง และคาดได้ว่าจะสามารถธำรงสถานะของความก้าวหน้านั้นไว้ได้ แม้จะมีปัจจัยสภาพแวดล้อมในอนาคตเข้ามากระทบการดำเนินงานก็ตาม
งานเขียนของ Rene (2010) กล่าวถึงความสำคัญในการนำแนวคิดการประเมินสภาพแวดล้อมมาใช้ในองค์กร เพราะลักษณะความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ในปัจจุบันได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบไปจากเดิมแล้ว กล่าวคือ จากที่พอจะสามารถคาดเดาและรับมือได้ ก็กลับกลายเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาได้ยาก เพราะสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้นล้วนไม่สัมพันธ์หรือเชื่อมโยงกับเหตุการณ์ที่เคยเป็นมา (Discontinuous Change) ประกอบกับมีปัจจัยต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะความเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี เป็นต้น
Rene (2017) ชี้ให้เห็นอีกว่า ทั้งความซับซ้อนของสภาพแวดล้อม (Complexity of the environment) และความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม (Volatility of the environment) สัมพันธ์กับความจำเป็นในการประเมินสภาพแวดล้อมขององค์กร บ่งชี้ได้ว่าองค์กรควรให้ความสำคัญกับการประเมินสภาพแวดล้อมและคาดการณ์อนาคตมากน้อยเพียงใด

รูปที่ 1: ปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความจำเป็นในการประเมินสภาพแวดล้อมขององค์กร
ดัดแปลงจาก Measuring Corporate Foresight Need, Rene (2017)
ความซับซ้อนของสภาพแวดล้อม (Complexity of the environment)
ปัจจุบันการคำนึงถึงความซับซ้อนของสภาพแวดล้อมครอบคลุมในหลากหลายมิติ ความซับซ้อนที่องค์กรเผชิญมีขอบข่ายที่ค่อนข้างกว้าง ตั้งแต่พฤติกรรมของคู่แข่ง และลูกค้า ไปจนถึงประเด็นเรื่องกฎระเบียบต่าง ๆ ทั้งจากนโยบายรัฐบาล และความเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลก ที่อาจเกี่ยวข้องกับการดำเนินกิจการต่าง ๆ ขององค์กรได้
นอกจากนี้ ปัจจัยภายในองค์กรเองก็มีผลต่อการประเมินสภาพแวดล้อมที่ซับซ้อนเช่นกัน ทั้งเรื่องของลักษณะองค์กร (Company Profile) กลยุทธ์องค์กร (Nature of Strategy) รวมถึงแนวโน้มการเติบโตขององค์กร ลักษณะการร่วมลงทุน ประเภทธุรกิจ ฯลฯ ความซับซ้อนของโครงสร้างภายในองค์กรเอง (Complexity of Internal Structures) บางครั้งกลายเป็นข้อจำกัดในการประเมินสภาพแวดล้อมด้วย เช่น องค์กรขนาดใหญ่ มีความซับซ้อนของระบบงาน มีจำนวนหลายสาขา มีแหล่งที่ตั้งกระจายอยู่หลายพื้นที่ และมีประเภทสินค้าและบริการที่หลากหลาย ก็อาจส่งผลให้การประเมินสภาพแวดล้อมมีความซับซ้อนเพิ่มขึ้น
บางองค์กรที่ประสบผลสำเร็จอยู่แล้ว บางแห่งได้พยายามธำรงรักษารูปแบบระบบโครงสร้างเดิม ที่องค์กรเคยทำแล้วประสบความสำเร็จ จึงไม่ตระหนักถึงความสำคัญของการประเมิน และปรับตัวตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป การยึดติดกับวิถีปฏิบัติแบบเดิมที่องค์กรเคยประสบสำเร็จมาแล้วนั้น ในด้านหนึ่ง จึงเป็นข้อจำกัดในการแสวงหาโอกาสใหม่ (Lack of Willingness to Cannibalize)
ความแปรปรวนของสภาพแวดล้อม (Volatility of the environment)
ความแปรปรวนของสภาพแวดล้อมอาจเกิดจากผลกระทบที่เกิดจากระบบเศรษฐกิจโลก ความผันผวนของตลาดการเงิน ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในสภาพแวดล้อมขององค์กรในอดีต ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ระบบตลาด พฤติกรรมของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ไม่ว่าจะเป็น องค์กรคู่แข่ง ผู้ผลิตสินค้า หรือลูกค้า ความรวดเร็วของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เป็นต้น
บางครั้งองค์กรที่มีแผนการดำเนินงานชัดเจนและตายตัวมากเกินไป ก็ไม่สามารถตอบสนองสถานการณ์ต่าง ๆ ที่แปรปรวนอยู่เสมอได้อย่างทันท่วงที ด้วยองค์กรไม่สามารถตรวจจับสัญญาณความเปลี่ยนแปลง (outside the reach of corporate sensors) จึงพลาดโอกาสจากความไม่รู้ (Ignorance) โดยมีที่มาจากหลายปัจจัย เช่น ผู้นำองค์กรมีข้อมูลข่าวสารท่วมท้น แต่ไม่สามารถนำข้อมูลที่มีความสำคัญมาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรไม่สามารถกระจายข้อมูลที่มีผลกระทบสำคัญให้กับผู้เกี่ยวข้อง รวมถึงการขจัดหรือเลือกใช้ข้อมูลบางส่วนสำหรับผู้ได้รับประโยชน์ในองค์กรเองก็อาจเกิดขึ้นได้
องค์กรที่ประเมินสภาพแวดล้อม
การประเมินสภาพแวดล้อมในอนาคตมีความสำคัญกับองค์กร เนื่องจากเป็นการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต (Future Preparedness) จึงมีนัยยะสำคัญต่อการสร้างความเชื่อมั่นในความสำเร็จ และการอยู่รอดขององค์กรในระยะยาว องค์กรที่มีการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต ในทางหนึ่ง สามารถแยกได้ 4 ประเภท ได้แก่
องค์กรที่ประเมินสภาพแวดล้อมเพียงพอต่อความจำเป็น ==> องค์กรที่ตื่นตัว (Vigilant)
องค์กรที่ประเมินสภาพแวดล้อมสูงเกินความจำเป็น ==> องค์กรที่วิตกกังวล (Neurotic)
องค์กรที่ประเมินสภาพแวดล้อมต่ำกว่าความจำเป็น ==> องค์กรที่เปราะบาง (Vulnerable)
องค์กรที่ไม่ประเมินสภาพแวดล้อม ==> องค์กรที่เสี่ยง (In Danger)

กล่าวโดยสรุป การคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์หรือการประเมินสภาพแวดล้อมในอนาคต เป็นเครื่องมือสำคัญที่ช่วยให้องค์กรสำรวจสถานการณ์ที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ และความสามารถในการระบุความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม จะช่วยให้องค์กรตอบสนองต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ด้วยยุทธวิธีที่มั่นใจได้มากขึ้นว่าจะเป็นประโยชน์กับองค์กรในระยะยาว เนื่องจากการประเมินปัจจัยสภาพแวดล้อมขององค์กร มิเพียงแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความตื่นตัวในการดำเนินกิจการในปัจจุบัน ยิ่งไปกว่านั้น กลับเป็นเรื่องที่สามารถบ่งชี้แนวโน้มผลการดำเนินงานหรือผลการประกอบการขององค์กรในอนาคตได้ เพื่อการก้าวไปข้างหน้าอย่างมีทิศทาง
บทความโดย: อารีลักษณ์ ไพรัตน์
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต#การคาดการณ์เชิงกลยุทธ์
#StrategicForesight #การประเมินสภาพแวดล้อม
Reference
René Rohrbeck. Towards a maturity model for organizational future orientation. Academy of Management Annual Meeting Proceedings. (2010).
René Rohrbeck, Menes Etingue Kum. Corporate foresight and its impact on firm performance: A longitudinal analysis. Technological Forecasting & Social Change 129. (2018).
George S. Day and Paul J.H. Schoemaker. Scanning the periphery. Harvard Business Review 83 (11):135-40, 142, 144-8 passim. December. (2005)