ในยุคปัจจุบันองค์กรภาครัฐ จำเป็นต้องแสวงหาแนวทาง ในการพัฒนานโยบายสาธารณะ ให้ตอบสนองความต้องการของประชาชน ตอบโจทย์ความท้าทายใหม่ ๆ และ สามารถรองรับอนาคต ซึ่งผู้กำหนดนโยบายจำเป็นต้องส่งเสริมให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเชิงนโยบาย ผ่านกระบวนการ หรือ การใช้เครื่องมือใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) เข้ามามีส่วนร่วมในการออกแบบ
หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจ ได้แก่ ผลงานของ Policy Lab UK ในการใช้กระบวนการ Co-Design (การออกแบบร่วมกัน) เพื่อพัฒนายุทธศาสตร์พาณิชยนาวี (Maritime 2050) ของประเทศอังกฤษ ที่มีการตั้งเป้าว่าในอนาคตอีก 30 ปีข้างหน้าอังกฤษจะยังเป็นผู้นำด้านการเดินเรือ และยกให้เทคโนโลยีเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรม
Policy Lab UK มีชื่อเสียงจากการออกแบบนโยบายให้กับองค์กรภาครัฐ โดยใช้กระบวนการเรียนรู้เชิงทดลองผ่านภาพ เสียง และการลงมือทำ เพื่อช่วยในการสำรวจแง่มุมใหม่ ๆ หรือความต้องการซ่อนเร้น กระตุ้นการมีส่วนร่วมและจินตนาการของหุ้นส่วน โดยในโครงการนี้ Policy Lab ได้ร่วมมือกับบุคลากรฝ่ายเทคโนโลยีทางทะเล กระทรวงคมนาคม ใช้กระบวนการต่าง ๆ เช่น การออกแบบร่วม และการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำ เพื่อช่วยผู้กำหนดนโยบายในการสร้างวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ด้านเทคโนโลยี
การสำรวจ: พัฒนาต้นแบบเพื่อวิจัยผู้ใช้
ในการสำรวจขั้นต้นเพื่อทำความเข้าใจภูมิทัศน์และผู้ใช้นั้น Policy Lab ได้ใช้เทคนิคการพัฒนาต้นแบบ (Early-stage prototyping) เพื่อทดสอบสมมติฐานและเข้าถึงข้อมูลเชิงลึกจากผู้ใช้ มีการออกแบบภาพชุดแนวโน้มอนาคตทั้งแบบอุดมคติ (Utopia) และแบบไม่พึงประสงค์ (Dystopia) เพื่อสำรวจมุมมองของหุ้นส่วนที่มีต่ออุตสาหกรรมพาณิชยนาวีอังกฤษในอนาคต หุ้นส่วนแต่ละคนจะได้รับไพ่ต้นแบบ Vision Cards คราวละใบ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการอภิปรายในนโยบายเฉพาะด้าน จากผลกระทบของท่าเรืออัจฉริยะ (Smart Ports) เรือข้ามฟากไร้คนขับ ไปจนถึงประเด็นเรื่องภัยคุกคามไซเบอร์ และผลกระทบที่เป็นไปได้จากการทำแผนที่พื้นทะเล
ภาพฉากทัศน์อนาคตที่ปรากฏ แม้จะไม่ตรงกับมโนทัศน์ของผู้เข้าร่วมทุกคน แต่ก็ช่วยกระตุ้นให้เกิดการถกเถียง และเป็นด่านทดสอบว่าวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ที่ทีมนโยบายนำเสนอไปจะได้รับการตอบรับอย่างใดบ้าง
การสื่อสาร: การวิจัยแบบมีส่วนร่วมเพื่อกระตุ้นให้เกิดการสื่อสาร
Policy Lab พยายามดึงหุ้นส่วนของพาณิชยนาวีให้เข้ามามีส่วนร่วมในการ ‘เรียนรู้ผ่านการลงมือทำ’ (Learning by Doing) ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การร่วมกันคัดสรรภาพวิดีโอของพวกเขาเองเพื่อใช้ในการวิจัยเชิงชาติพันธุ์วรรณา เมื่อเทียบกับรายงานวิจัยที่เป็นข้อเขียนหรือมีภาพประกอบ ภาพเคลื่อนไหวที่ถูกบันทึกจากประสบการณ์ส่วนบุคคลช่วยถ่ายทอดข้อมูลเชิงลึกได้อย่างเต็มอรรถรส
เพื่อให้ได้ข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับภูมิทัศน์ทางเทคโนโลยี หลังการค้นคว้าเอกสารวิจัย และรายงานคาดการณ์อนาคต ทีมงานวิจัย Sanjan ได้เดินทางไปกับทีมนโยบายเพื่อสัมผัสเรือดำน้ำจิ๋วไร้คนขับชื่อ Sea-Kit ที่ถูกใช้ในการสำรวจพื้นทะเลในนอร์เวย์ ขณะที่ทีมตากล้อง Kyna ได้เดินทางไปยังท่าเรือต่าง ๆ ในอังกฤษเพื่อบันทึกมุมมองของผู้คนที่ทำงานอยู่ในอุตสาหกรรม
ข้อมูลจากประสบการณ์ตรงของผู้คนที่ทำงานด่านหน้าได้ถูกนำมาตัดต่อรวมกันและถ่ายทอดให้หุ้นส่วนได้รับชมก่อนเริ่มต้นการเวิร์คช็อปในแต่ละครั้ง การเปิดฉากการประชุมด้วยวิดีโอเหล่านี้ช่วยกระตุ้นการมีส่วนร่วม และปูทางให้กับกิจกรรมอื่น ๆ ที่ตามมา
การระดมความคิดและทดสอบ: การร่วมกันออกแบบนโยบายผ่านการจำลองสถานการณ์
การออกแบบร่วมและทดสอบวิสัยทัศน์หรือยุทธศาสตร์ที่เป็นนามธรรมถือเป็นเรื่องท้าทาย แต่การนำการเรียนรู้ด้วยผัสสะเข้ามาในช่วงนี้ของกระบวนการฯ จะช่วยสร้างความเชื่อมโยงและปะติดปะต่อแนวความคิดในกลุ่มหุ้นส่วน มีการพัฒนาเกมที่ประยุกต์มาจากเกมกระดาน World Peace Game หรือเกมไพ่ IMPACT เพื่อใช้เป็นเครื่องมือในการออกแบบร่วมกัน ซึ่งช่วยในการสำรวจว่าตัวแปรต่าง ๆ เทคโนโลยี กฎกติกา และทักษะ เมื่อนำมาผนวกกับมุมมองของหุ้นส่วนแล้ว จะส่งผลกระทบต่อวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์สำหรับอุตสาหกรรมพาณิชยนาวีอย่างไร
เป้าหมายของกิจกรรม ‘เกมคาดการณ์อนาคตการเดินเรือ’ คือการเปิดโอกาสให้หุ้นส่วนได้หารือวิสัยทัศน์และจำลองภาพยุทธศาสตร์ร่วมกัน โดยผ่านกระดานกิจกรรมและเกมไพ่ที่ทีมวิจัยออกแบบ ในกระบวนการนี้ จะมีกระบวนกร (Facilitator) เป็นผู้นำเกม และมีทีมนโยบายคอยสังเกตการณ์กิจกรรมและบทสนทนาที่เกิดขึ้น เพื่อนำไปเปรียบเทียบกับแนวนโยบายของตน เสียงตอบรับเชิงบวกจากหุ้นส่วนหลังจบกิจกรรมในแต่ละครั้งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าแนวทางการจำลองสถานการณ์เพื่อการออกแบบนโยบายร่วมกันนั้นจะช่วยเพิ่มคุณค่าให้กับทีมนโยบายและหุ้นส่วน
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต #การคาดการณ์อนาคต #การออกแบบนโยบาย
#CoDesign #การออกแบบร่วมกัน
= = = = = = = = = =
แปลและเรียบเรียงโดย: อัลเบอท ปอทเจส
อ้างอิง
Becky Miller. (2019). Co-design in policy: learning by ‘doing’. [Online]
Becky Miller. (2019). Signals of change: using speculative design to anticipate regulatory needs. [Online]