DINK และ SINK ย่อมาจาก Dual Income No Kids and Single No Kids แปลความหมายได้ว่า DINK เป็นคู่รักหรือคู่แต่งงานที่มีรายได้ทั้งสองคนและไม่มีบุตรหรือเลือกที่จะไม่มีบุตร (Kagan, 2021) ส่วน SINK นั้นคือคนโสดที่ไม่มีบุตร ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปและการตกต่ำของเศรษฐกิจที่ทำให้หลายคนไม่มีความมั่นคงทางการเงินและการงาน (พงศ์ธร ยิ้มแย้มและโอมศิริ วีระกุล, 2019), (ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์และคณะ, 2563)

แนวโน้มในอนาคต
DINK และ SINK เพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก และน่าจะเป็นเช่นนี้ต่อไปอีกในอนาคต พิจารณาจากอัตราการเกิดในแต่ละประเทศที่ลดลงและการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เกิดขึ้นทั่วโลก
ประเทศไทยเองก็เช่นกัน ปี พ.ศ. 2560 พบว่าคนไทยอยากมีบุตรลดลง จำนวนเด็กเกิดก็น้อยลงเช่นกัน จำนวนเด็กเกิดก็น้อยลงเช่นกัน ปี พ.ศ. 2560 มีเพียง 7 แสนคนและปีพ.ศ. 2563 มีเด็กเกิดตามทะเบียน 587,368 คนเท่านั้น (สถิติประชากรศาสตร์ ประชากรและเคหะ, 2563) ซึ่งเป็นครั้งแรกที่จำนวนการเกิดของเด็กไทยลดต่ำกว่า 600,000 คนและมีแนวโน้มจะลดต่ำอย่างต่อเนื่อง (สธ.เปิดสถิติเด็กไทยเกิดต่ำกว่า 600,000 คน ครั้งแรกในรอบ 3 ปี, 2564)

ผลกระทบต่อประเทศไทย
ขาดแคลนแรงงานของประเทศในอนาคตเนื่องจากอัตราเด็กเกิดใหม่ลดลง
การคลังของประเทศจัดเก็บภาษีได้น้อยลงเนื่องจากคนวัยทำงานที่ลดลง ทั้งนี้เพราะมีแรงงานรุ่นใหม่เข้ามาแทนที่ไม่เพียงพอและผู้สูงอายุเมื่อเลิกทำงานแล้วก็จะมีรายได้ลดลง ซึ่งเหล่านี้จะเป็นปัญหาด้านการเงินของประเทศในระยะยาว ปัญหาเหล่านี้อาจทำให้รัฐต้องวางนโยบายกระตุ้นให้คนอยากมีบุตร
ธุรกิจมีการเจาะตลาดประชากรกลุ่มที่ไม่มีบุตรมากขึ้นเพราะเป็นผู้บริโภคที่มีกำลังในการซื้อสูงเนื่องจากไม่มีภาระผูกพัน เช่น สิ่งอำนวยความสะดวก สินค้าเพื่อสุขภาพ รวมไปถึงการลงทุนและออมเงินเพื่อเกษียณ
ธุรกิจเจาะตลาดคนโสดโดยเฉพาะมากขึ้น มีการออกแบบสินค้าและบริการเพื่อคนโสดโดยเฉพาะ (ศูนย์วิจัยกสิกรไทย, 2020)
การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุที่เร็วขึ้นและกลายเป็นสังคมไร้ลูกหลาน ซึ่งส่งผลกระทบมากต่อผู้สูงอายุในไทย เนื่องจากสภาพสังคมรวมถึงสถานะทางเศรษฐกิจ ทำให้ผู้สูงอายุคาดหวังว่าจะได้อยู่กับลูกหลานในยามแก่ แต่เมื่อสังคมกลับกลายเป็นสังคมไร้ลูกหลานจึงทำให้เกิดความผิดหวัง รู้สึกโดดเดี่ยว ส่งผลกระทบต่อสภาพจิตใจ (ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์และคณะ, 2563)