การโหยหาอดีต

การโหยหาอดีต หรือ “วันชื่นคืนสุข” ที่ผ่านไปแล้ว การโหยหาอดีตนี้ เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ไม่น่าอยู่ ผู้คนจึงต้องการหลีกหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบัน ด้วยการแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ในอดีต ที่รู้สึกว่าดีกว่าในปัจจุบัน (รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, 2555)  

แนวโน้มในอนาคต 

▪ คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นกระแสในระดับโลกและเป็นกระแสในไทยไปอีกสักพักใหญ่ ทั้งนี้เป็นเพราะคนรุ่นใหม่คือ Gen Y หรือมิลเลนเนียมและคน Gen Z ที่กำลังเป็นกำลังซื้อสำคัญในตลาดการค้านั้น กำลังอยู่ในวัยทำงาน มีชีวิตที่วุ่นวาย ในสังคมที่ดูไม่มั่นคงนัก จึงโหยหาช่วงเวลาที่ตนเองมีความสุข ซึ่งก็คืออดีตนั่นเอง ซึ่งผลสำรวจของ WGSN ได้สะท้อนให้เห็นถึงความรู้สึกนี้ โดย 75% ของ Gen Z ที่ตอบผลสำรวจว่ากระแส Nostalgia ทำให้พวกเขารู้สึกสบายใจขึ้น เมื่อรู้สึกโกรธหรือไม่มีความสุข (เจาะเทรนด์โลก 2021 : Reform This Moment, 2563) โดยเฉพาะในประเทศไทยตอนนี้ที่สังคมไม่มั่นคงและเศรษฐกิจกำลังซบเซา
▪ การโหยหาอดีตที่คนหลายวัยกลับมีร่วมกันได้อย่างไม่น่าเชื่อนั้นบ่งชี้สภาพสังคมในปัจจุบัน ทั้งนี้ยิ่งสังคมไหนตกอยู่ในสภาวะที่ขาดความมั่นใจหรือมีวิกฤติต่อสภาพสังคมในยุคปัจจุบัน และรู้สึกหมดหวังต่อสังคมในอนาคตของตนเองมากเท่าไรปรากฏการณ์โหยหาอดีตก็จะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นเท่านั้น

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ กระแสโหยหาอดีตนี้อีกทางหนึ่งแล้วก็เป็นเหมือนสะพานเชื่อมคนหลายรุ่นเข้าด้วยกัน Gen Z อาจจะมีความโหยหาช่วงเวลาในยุค 80s และ 90s แม้จะไม่เคยใช้ชีวิตในช่วงนั้น แต่ความสนใจและความคิดถึงอดีตที่มีเหมือนกันก็ทำให้ Gen Z สามารถเชื่อมต่อกับคนรุ่นเก่าได้ เป็นหนทางหนึ่งในการลดช่องว่างระหว่างวัยและความขัดแย้งระหว่างช่วงวัยได้
▪ เกิดเป็น Nostalgia tourism ที่เน้นขายความย้อนยุคที่เก๋ มีสไตล์ เช่นตลาดนัดย้อนยุค หมู่บ้านสไตล์เรโทร ร้านอาหาร ร้านกาแฟที่มีจุดขายคือสถานที่และการตกแต่ง
▪ ตอกย้ำถึงความตื้นเขินในสังคมและการที่บริโภคนิยมและทุนนิยมแทรกซึมเข้ามาอยู่ในทุกอณุของชีวิต โดยกระแสนี้ไม่มีความ จริงแท้ (authentic) นำเสนอเพียงเปลือกที่สวยงามเพื่อเงินเท่านั้น พื้นที่ ๆ กลายเป็นพื้นที่ท่องเที่ยวแบบ Nostalgic Tourism ไม่ได้ทำหน้าที่เดิมหรือมีความหมายเดิมอีกต่อไป ตลาดไม่ใช่ตลาด ละแวกเก่าแก่ไม่ใช่พื้นที่ของชุมชนอีกต่อไป แต่เป็นภาพที่วาดขึ้น เป็นรูปสัญลักษณ์อันสอดคล้องและตอบรับกับภาพ ‘วันชื่นคืนสุข’ ของวิถีชีวิตแบบดั้งเดิม อันเป็นภาพสมมติในจินตนาการของคนชั้นกลางในเมือง
▪เกิดเป็นกระแสในวงการการตลาดที่นำความย้อนยุคมาเป็นจุดขาย นอกจากการโฆษณาและการตกแต่งแล้ว สินค้ายุคก่อนอย่างกล้องฟิลม์ แผ่นเสียง เสื้อผ้า ก็กลับมาเป็นที่นิยม