เพราะ Tourism Never Die
เราควรใช้โอกาสจากวิกฤตินี้สร้างจุดเปลี่ยนสู่ Next Normal ที่ยั่งยืนให้กับภาคการท่องเที่ยวของไทยอย่างไร
เชิญพบคำตอบได้จาก ศาสตราจารย์ ดร.เทิดชาย ช่วยบำรุง
The NEXT NORMAL of THAILAND TOURISM
ความปกติใหม่ของการท่องเที่ยวไทยในอนาคต
คงมิมีใครคาดคิดว่าวิกฤตการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) จะก่อให้เกิดวิกฤตที่รุนแรงที่สุดกับเศรษฐกิจโลก นับตั้งแต่ครั้งเหตุกาณณ์ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในช่วงทศวรรษที่ 1930 ซึ่งสร้างการเปลี่ยนแปลงและผลกระทบอย่างมหาศาล และหนึ่งในผู้ประสบวิกฤตที่เลวร้ายที่สุดครั้งนี้ก็คือ อุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยว (Sutheeshna Babu S, 2020)(1)
อย่างไรก็ดี ภายหลังจากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นก็มักจะมีนักวิชาการและผู้เชี่ยวชาญจากแวดวงการท่องเที่ยวและแวดวงเศรษฐศาสตร์จากหลายฝ่าย ต่างออกมาวิเคราะห์ ประเมิน และคาดการณ์สถานะของการท่องเที่ยวในอนาคตจากทุกๆ เหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมักพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า “Tourism never die” กล่าวคือ ไม่ว่าอย่างไรอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็จะยังคงฟื้นคืนกลับมาเป็นปรกติได้เหมือนทุกครั้งที่ผ่าน รวมถึงวิกฤตโควิด-19 ครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
สิ่งหนึ่งที่แตกต่างจากวิกฤตครั้งก่อนๆ ก็คือ ผลกระทบจากวิกฤตการณ์ครั้งนี้อาจเป็น “จุดเปลี่ยน”(2) ครั้งสำคัญที่จะพลิกโฉมหน้าของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยจากเดิมที่มีการเติบโตแบบไร้จุดสมดุล (ยุทธศักดิ์ สุภสร, 2563) และยังคงติดกับดักของเป้าหมายที่มุ้งเน้นการเติบโตที่เร็วเกินไป หรือเฝ้าแต่มองหาตัวเลขจอมปลอมจนหลงลืมการสร้างและเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์จากทรัพยากรการท่องเที่ยวที่แท้จริง(3) (ไพฑูรย์ มนต์พานทอง, 2563) และนี่คงเป็นโอกาสที่จะทำให้การท่องเที่ยวได้กลับด้านมาอยู่ในจุดที่เรียกว่า “สมดุล”(4) (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2563) และเติบโตอย่างมีทิศทางกว่าครั้งก่อนๆ ที่ผ่านมา
ผลกระทบอันเนื่องจากวิกฤตการณ์ที่ทุกประเทศทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ตอนนี้ ส่งผลให้ภาพรวมทางการท่องเที่ยวของประเทศไทยที่เคยถูกจัดอันดับขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการท่องเที่ยว เมื่อปี 2562 ไว้เป็นอันดับที่ 3 ของอาเซียน (World Economic Forum, 2019)(5) ต้องเผชิญกับสถานการณ์ที่เรียกว่าตกต่ำและอ่อนแอที่สุดเป็นครั้งประวัติการณ์ และมีทีท่าจะยืดเยื้อกินระยะเวลานานกว่าวิกฤตต่างๆ ที่ผ่านมาทุกครั้ง ตราบใดที่ยังไม่มีประเทศใดในโลกคิดค้นวัคซีนหรือนวัตกรรมใหม่ในการยับยั้งและรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสดังกล่าวได้
ประเทศไทยเองก็ยังมิอาจตอบไว้ว่าจะวางใจได้กับสถานการณ์ที่เป็นอยู่ ณ ขณะนี้ และแน่นอนว่าวิกฤตโควิด-19 คงจะมิใช่เหตุการณ์ร้ายๆ ครั้งเดียวที่จะเกิดขึ้นกับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว แต่วิกฤตครั้งนี้จะเป็นสัญญาณเตือนให้ภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศไทยและของทุกๆ ประเทศที่พึ่งพาการท่องเที่ยวเป็นเศรษฐกิจหลักของประเทศ ต้องหันกลับมาร่วมมือ ร่วมคิดหาทางแก้ไข และกำหนดแนวทางหรือนโยบายในรับมือกับวิกฤตการณ์ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ต้องเสริมสร้างนวัตกรรมใหม่ที่ส่งเสริมและเอื้อประโยชน์ต่อการท่องเที่ยวในรูปแบบใหม่ที่เป็น New Normal(6) (จันทนี เจริญศรี, 2563; Ian Davis, 2009)
การเกิดวิกฤตที่ซ้ำซากวนเวียนย่อมก่อให้เกิดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ขึ้นภายหลังเหตุการณ์หรือสถานการณ์เหล่านั้น ความปกติรูปแบบใหม่ของการท่องเที่ยว (New Normal Tourism) ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงหนึ่งที่เกิดขึ้นอันเนื่องจากผลกระทบของวิกฤตเหล่านั้นด้วยเช่นกัน ซึ่งแรงกระทบนั้นมีผลอย่างหนักต่อการเปลี่ยนแปลงของภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ทั้งด้านเศรษฐกิจท่องเที่ยว การประกอบอาชีพ การผลิต การบริโภค และพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว ทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องหรือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตเหล่านั้นต้องดิ้นรนหาทาง “อยู่รอด” “อยู่เป็น” และ “อยู่ยืน” (Techsauce Team, 2563)(7) และต้องเตรียมพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงอีกครั้งสำหรับ Next Normal ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
การท่องเที่ยวมีลักษณะเป็นไดนามิกของเครื่องยนต์ที่ไม่มีวันหยุดนิ่ง โดยจะขับเคลื่อนและหมุนไปเรื่อยๆ ตามกระแสและพลวัตของการเปลี่ยนแปลง หากแต่การท่องเที่ยวที่ยั่งยืนนั้นก็ต้องมีการขับเคลื่อนที่ยั่งยืนด้วยเช่นกัน ซึ่งต้องเกิดจากการระเบิดจากข้างใน กล่าวคือ การท่องเที่ยวไทยจะต้องหลุดออกจากกับดักของตัวเลข หลีกหนีจากบริบทของการพึ่งพาจำนวนและปริมาณของนักท่องเที่ยวที่เพิ่มมากขึ้นในทุกปี แล้วหันกลับมาอยู่ในจุดยืนใหม่ที่มีความสมดุลและยั่งยืนยิ่งกว่า โดยการเปลี่ยนภาพการท่องเที่ยวไทยจาก Over-tourism หรือมีนักท่องเที่ยวมากเกินขีดความสามารถรองรับของพื้นที่มาสู่การเป็น Under-tourism (ประกาย ธีระวัฒนากุล และ ธราธร รัตนนฤมิตศร, 2563) แทน
การท่องเที่ยวไทยในอนาคตที่ควรจะเกิดขึ้นนั้น จะต้องรู้จักการหนุนเสริมความเข้มแข็งให้กับตัวเอง มีการเสริมสร้างการพัฒนาอย่างเป็นระบบ มุ่งเน้นเป้าหมายของการสร้าง “คุณค่า” มากกว่าปริมาณ รู้จักสร้างมูลค่าให้เกิดขึ้นกับทรัพยากรที่มีอยู่ เน้นการทำน้อยได้มาก สร้างบรรยากาศให้เกิดนวัตกรรมทางการท่องเที่ยว และดึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการสร้างนวัตกรรมมาบูรณาการในเครือข่ายการท่องเที่ยวให้มากขึ้น นอกจากนี้ จะต้องร่วมมือกันระหว่างภาคีและเครือข่ายในการกำหนดแนวทางการแก้ไขและป้องกันปัจจัยเสี่ยงอย่างรอบด้าน สร้างความเชื่อมั่นให้เกิดขึ้น พร้อมๆ กับความมั่นใจในการโต้ตอบ ยับยั้ง เยียวยา และฟื้นฟูได้ทันท่วงที ซึ่งทั้งหมดทั้งปวงคือ การสร้างบริบทใหม่ให้เกิดขึ้นกับวงการอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไทยที่ควรจะเป็น
ดังนั้น อนาคตของการท่องเที่ยวไทยที่จะเกิดขึ้นนั้น จะต้องเป็น Next Normal Tourism ที่ยั่งยืน แต่สามารถยืดหยุ่นได้ตามบริบทและกระแสแห่งพลวัต เราต้องฉลาดและรู้จักใช้การท่องเที่ยวให้เป็น “เครื่องมือ” เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายของความยั่งยืน (วีระศักดิ์ โควสุรัตน์, 2563)(9) และพร้อมที่จะเปลี่ยนเป้าหมายเดิมจากเชิงปริมาณ สู่เป้าหมายใหม่ที่เน้นคุณภาพและคุณค่า
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดภาพการท่องเที่ยวในอนาคตที่ยั่งยืน จึงจำเป็นต้องกำหนดบทบาทและหน้าที่ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนเพื่อผสานความร่วมมือในการใช้เครื่องมือนี้ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพ ซึ่งจะต้องให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้
- คนที่จะเป็นกำลังสำคัญของภาคการท่องเที่ยวและบริการ: ต้องรู้จัก Upskill, Reskill และ New skillทักษะเพื่ออนาคต (Future Skills Set)(10)
- สร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมของชุมชน เครือข่าย (ภาคี): ผนึกกำลัง (Empower) องค์กรภาครัฐ ชุมชนและภาคเอกชน โดยระดมสมอง ร่วมกันกำหนดแผน นโยบายและทิศทางเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต รวมถึงการสร้างฐานข้อมูลของผู้ประกอบการธุรกิจการท่องเที่ยวทุกภาคีเข้าสู่ระบบที่เป็นมาตรฐานสากล
- สร้างคุณค่าและคุณภาพของผลิตภัณฑ์และการบริการที่สัมผัสได้: ยกระดับการบริการจากที่สัมผัสด้วยใจ (Intangible Product) ให้สามารถจับต้องได้ (Tangible Product) ให้นักท่องเที่ยวได้รับประสบการณ์และคุณค่าจากการรับบริการได้ในเวลาเดียวกัน
- สร้างความปลอดภัยในทุกมิติที่นักท่องเที่ยวมีโอกาสได้สัมผัส: ความเชื่อมั่นจะเชื่อมโยงกับมาตรฐานการให้บริการที่นักท่องเที่ยวได้รับ แนวคิดที่มุ่งเน้น New Service & Hygiene ต้องถูกฝังในกระบวนการให้บริการทุกมิติและทุกขั้นตอน อาทิ การให้บริการแบบไร้สัมผัส (Contactless Services) การใช้ระบบดิจิทัลมาปรับใช้ควบคู่กับเทคโนโลยีเพื่อการบริการต่างๆ เช่น e-Booking, e-Checking in, e-Concierge, Digital control และ Digital payment เป็นต้น
- หนุนเสริมการวิจัยเพื่อค้นหานวัตกรรมและเทคโนโลยีใหม่ในการยกระดับการท่องเที่ยว: โดยให้ความสำคัญกับมาตรการต่างๆ ที่ช่วยเหลือนักท่องเที่ยวและผู้ประกอบการการท่องเที่ยวภายใต้นวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการท่องเที่ยว (Travel Tech/ Futures Digital Platform for Tourism Industry) เช่น การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อติดตามและช่วยเหลือนักท่องเที่ยว Screening/Tracing/ Tracking/ Surveillance System (STTS), ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อการยกระดับคุณภาพผลิตภัณฑ์และบริการการท่องเที่ยว และเพื่อยกระดับทักษะของบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว เป็นต้น
- สร้างความสมดุลให้เกิดขึ้นจากภายในสู่ภายนอกอย่างยั่งยืน: มองหาโลกของ “การท่องเที่ยวที่พึงประสงค์” และ “การพัฒนาการท่องเที่ยวจากฐานรากที่ยั่งยืน” ด้วยการผนึกกำลังร่วมกัน กระจายองค์ความรู้ (Caring & Sharing) และพัฒนาแบบบูรณาการในระบบ(11) (สุวิทย์ เมษินทรีย์, 2563)
อย่างไรก็ดี การสร้างบริบทใหม่ที่แข็งแกร่งให้กับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวได้นั้นต้องอาศัยรากฐานที่ดีจากองค์ประกอบหลายๆ องค์ประกอบมารวมกัน และเมื่อสกัดองค์ประกอบสำคัญเหล่านั้นได้ ก็จะพบว่าคำสำคัญเพียงไม่กี่คำที่ทรงพลัง จะสามารถนำพาการท่องเที่ยวของประเทศไทยในอนาคตทั้งระบบให้เข้มแข็งขึ้นได้ นั่นคือ “คน” “ชุมชน” “ความร่วมมือ” “คุณภาพ” “ความปลอดภัย” “เชื่อมั่น”“นวัตกรรม” “เทคโนโลยี” และ “ความสมดุล” ทั้งนี้ ใจความสำคัญของการเป็น Next Normal สำหรับการท่องเที่ยวแห่งอนาคต ก็คือ “ความสมดุล” และ “ความยั่งยืน” ซึ่งจะช่วยกำหนดทิศทางการขับเคลื่อนการท่องเที่ยวไทยให้พัฒนาก้าวไปข้างหน้า (Triving in Balance) จากแก่นแท้ของการพัฒนาและการขับเคลื่อนอย่างแท้จริง
(1) Sutheeshna Babu S (2020). Six ways how Covid-19 pandemic will change tourism industry. The Policy Circle. May 16, 2020 [Online]. Retrieved from https://www.policycircle.org/…/six-ways-how-covid-19…/
(2) ยุทธศักดิ์ สุภสร (2563). จุดเปลี่ยน “ท่องเที่ยวไทย” วิกฤตโควิด…สร้างสมดุลใหม่. [สัมภาษณ์]. ประชาชาติธุรกิจ, เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2563. เข้าถึงใน https://www.prachachat.net/tourism/news-451825
(3) ไพฑูรย์ มนต์พานทอง (2563). แนะเซตซีโร่ “ท่องเที่ยวไทย” สร้างสิ่งใหม่-ไม่เดินซ้ำรอยเดิม. [สัมภาษณ์]. ประชาชาติธุรกิจ, เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2563. เข้าถึงใน https://www.prachachat.net/tourism/news-455438
(4) สุวิทย์ เมษินทรีย์. (2563). โลกเปลี่ยน คนปรับ ความพอเพียงในโลกหลังโควิด. [ออนไลน์]. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. เข้าถึงใน https://www.nstda.or.th/…/13175-1-the-world-changes…
(5) World Economic Forum (2019). Travel & Tourism Competitiveness Report 2019. September 4, 2019 [Online]. Retrieved from https://www.weforum.org/…/the-travel-tourism…
(6) (1) จันทนี เจริญศรี (2563). 7 New Normal ที่อาจได้เห็นในสังคมไทยในวันที่ โควิด-19 หายไป. [สัมภาษณ์]. PPTV Online, เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2553. เข้าถึงใน https://www.pptvhd36.com/news/
(2) Ian Davis (2009). The new normal. McKinsey & Company. March 2009 [Online]. Retrieved from https://www.mckinsey.com/
business-functions/strategy-and-corporate-finance/our-insights/the-new-normal#
(7) Techsauce Team (2563). Abnormal-New Abnormal-New Normal. [ออนไลน์]. เมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม 2563. เข้าถึงใน https://techsauce.co/…/3-phases-the-world-will-face…
( ประกาย ธีระวัฒนากุล และ ธราธร รัตนนฤมิตศร (2563). ฉากทัศน์ ‘การท่องเที่ยวไทย’ หลัง COVID-19. กรุงเทพธุรกิจ. [ออนไลน์]. เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2563. เข้าถึงใน https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/879331
(9) วีระศักดิ์ โควสุรัตน์ (2563). แก้โจทย์ท่องเที่ยวไทย แนะใช้เป็น “เครื่องมือ” เดินสู่เป้าหมาย. [สัมภาษณ์]. ประชาชาติธุรกิจ, เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2563. เข้าถึงใน https://www.prachachat.net/tourism/news-458963
(10) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (2563). สอวช. เผยผลสำรวจผลกระทบที่ภาคเอกชนได้รับจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 ปิ๊งไอเดีย ต่อยอดข้อมูลทำ SME Transformation – ด้านแนวทาง Reskill / Upskill ผ่านฉลุย พร้อมส่งต่อ สป.อว. เดินเครื่องเต็มสูบ. ข่าวประชาสัมพันธ์, [ออนไลน์]. เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2563. เข้าถึงใน https://www.nxpo.or.th/th/3867/
(11) สุวิทย์ เมษินทรีย์ (2563). โลกเปลี่ยน คนปรับ “สังคมของพวกเรา”ในโลกหลังโควิด. [ออนไลน์]. กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม. เข้าถึงใน https://www.stkc.go.th/ebook
บทความโดย
ศาสตราจารย์ ดร. เทิดชาย ช่วยบำรุง
คณะการจัดการการท่องเที่ยว
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์