ความเหลื่อมล้ำ

ความไม่เท่าเทียมกัน ภาวะความเป็นอยู่ของคนในสังคมเดียวกันแต่ดำรงชีวิตหรือมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ แบ่งเป็น 1) ความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ (Outcome) 2) ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส (Opportunity) 3) ความเหลื่อมล้ำด้านผลกระทบ (Impact) (McGowan & Vereinte Nationen, 2018)โดยทั่วไปมักจะหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (พิรญาณ์ รณภาพ, 2564

แนวโน้มในอนาคต 

▪ ในระดับโลก แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีจากการเพิ่มขึ้นของรายได้เฉลี่ยต่อหัวของประชากร แต่ปัญหารายได้และทรัพย์สินกระจุกตัวอยู่ที่คนกลุ่มน้อยก็ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำที่ยังไม่ได้รับการแก้ไข ในขณะเดียวกันความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศที่กำลังพัฒนาก็มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น กล่าวคือประเทศที่พัฒนาแล้ว ประชากรก็จะมีค่าแรงที่สูงกว่าและมีโอกาสในการเข้าถึงการศึกษา สาธารณสุขและโอกาสในชีวิตที่มากกว่า
▪ ประเทศไทย คาดว่าสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำจะไม่พัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น โดยอ้างอิงจากอัตราความยากจนที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 7.2 เป็นร้อยละ 9.8 (ข้อมูลปี พ.ศ. 2558 – 2561) และการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลดลง โดยในปี พ.ศ. 2562 GDP ของไทยเติบโตเพียงร้อยละ 2.7 เป็นอัตราที่ต่ำที่สุดอัตราหนึ่งในภูมิภาคตะวันออกและแปซิฟิก นอกจากนี้ยังพบว่าความมั่งคั่งยังคงไม่ได้กระจายอย่างทั่วถึงไปสู่ประชากรที่มีรายได้ต่ำล่างสุดร้อยละ 40 (อัตราความยากจนของประเทศไทยเพิ่มสูงขึ้นท่ามกลางเศรษฐกิจที่ชะลอตัว, 2563)
▪ โดยสาเหตุหลักของความเหลื่อมล้ำในประเทศไทยคือปัญหารายได้เกษตรกร ปัญหาการเข้าถึงการศึกษาและสวัสดิการ กระตุ้นด้วยปัญหาความเหลื่อมล้ำทางเทคโนโลยีและการเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะได้รับการแก้ไขอย่างแท้จริง (KKP Research, 2021)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ ความเหลื่อมล้ำอาจลดอุปสงค์ในภาคเศรษฐกิจ ส่งให้เศรษฐกิจไม่เติบโตและเกิดการชะลอตัวส่งผลให้เกิดการว่างงาน หรือการลดลงของรายได้ โดยคนมีรายได้น้อย ผู้ประกอบการรายย่อยมีรายได้น้อย รายได้มวลรวมลดลง หนี้เพิ่ม มีความเสี่ยงสูง ซึ่งนำไปสู่การขาดเสถียรภาพของเศรษฐกิจ
▪ เศรษฐกิจฐานราก ผู้ประกอบการรายย่อย startup เหล่านี้เติบโตได้น้อยและไม่สามารถพัฒนาได้ ซึ่งสุดท้ายก็จะส่งผลให้ไม่มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบธุรกิจใหม่ ๆ หรือนวัตกรรมต่าง ๆ
▪ แรงงานจำนวนมากมีรายได้ต่ำทำให้คุณภาพชีวิตต่ำ ซึ่งในอนาคตประชากรเหล่านี้จะกลายไปเป็นผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อยและไม่สามารถช่วยตัวเองได้ เป็นปัญหาที่สังคมและรัฐต้องแบกรับต่อไปในอนาคต
▪ ประชากรที่เผชิญความเหลื่อมล้ำอาจต้องการย้ายไปทำงานต่างประเทศ เพื่อออกไปแสวงหาโอกาสที่ดีกว่าและชีวิตที่มั่นคง ทำให้เกิดภาวะสมองไหล (Brain Drain)
▪ เกิดการตั้งคำถามต่อระบบและสถาบันในภาคส่วนต่าง ๆ ไปจนถึงแนวคิดที่สืบทอดต่อกันมา (ฐานริณทร์ หาญเกียรติวงศ์และคณะ, 2563)
▪ เกิดการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงโดยอาจจะแสดงออกมาในรูปแบบการประท้วงซึ่งในบางกรณีอาจจะนำไปสู่ความไม่สงบได้ และอาจจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง