ความไม่แน่นอนสำคัญระดับประเทศ

ความไม่แน่นอนสำคัญระดับประเทศ

ผลการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่ออนาคตในระดับประเทศแต่มีระดับความแน่นอนต่ำ พบว่ามีปัจจัยความไม่แน่นอนรวม 36 ปัจจัย ดังแสดงในภาพประกอบ อย่างไรก็ดีการสังเคราะห์ปัจจัยความไม่แน่นอนดังกล่าวให้เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญที่มีอิทธิพลต่ออนาคตในระดับประเทศผ่านการควบรวมปัจจัยความไม่แน่นอนที่มีลักษณะร่วมกันและเกณฑ์การจัดลำดับความสำคัญสี่ประการคือ (1) ระดับความไม่แน่นอน (2) ขอบเขตของของภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบ (3) ขนาดของผลกระทบ (4) ความลึกหรือผลสืบเนื่องของผลกระทบ

ผลการสังเคราะห์ปัจจัยความไม่แน่นอน 36 ปัจจัยดังกล่าวให้เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญที่มีอิทธิพลต่ออนาคตในระดับประเทศ ทำให้สามารถสรุปปัจจัยความไม่แน่นอนสำคัญได้ 6 ปัจจัย คือ (1) ความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของบุคคล องค์กร และสังคม (2) ความเสมอภาคทางโอกาสระหว่างกลุ่มคนต่างๆ (3) การมีระบบสนับสนุนแบบบูรณาการที่เพียบพร้อมและมีประสิทธิผล (4) เศรษฐกิจรุกล้ำไร้พรมแดน (5) ความสามารถในการเตรียมความพร้อมสำหรับอนาคต และ (6) ธรรมาภิบาลของการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีของทุกภาคส่วนในสังคม

NU1 ความเสมอภาคทางโอกาส (Equality of Opportunity)

    ความเสมอภาคทางโอกาส หมายถึง สภาวะที่ปัจเจกบุคคลหรือองค์กรทางสังคมสามารถแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรมด้วยมาตรฐานเดียวกัน ซึ่งโดยทั่วไป จะถูกกำหนดด้วยเงื่อนไข 2 ประการ ได้แก่ เงื่อนไขเชิงกฎเกณฑ์ที่เป็นทางการ กับเงื่อนไขเชิงวัตถุและกฎเกณฑ์ที่ไม่เป็นทางการ
    ความเสมอภาคในลักษณะนี้ถือเป็นความไม่แน่นอนในอนาคตของประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยอาจพัฒนาไปสู่สภาวะที่ประชากร บรรษัท และองค์กรทางสังคมมีความเสมอภาคทางโอกาสยิ่งขึ้นโดยถ้วนหน้า (ทางเลือก Y) หรือไปสู่สภาวะที่หน่วยทางสังคมต่าง ๆ มีความเสมอภาคลดลง แต่มีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสระหว่างกันเพิ่มมากขึ้น (ทางเลือก N) ก็ได้
     ความไม่แน่นอนในประเด็นข้างต้นได้รับคัดเลือกให้เป็นความไม่แน่นอนสำคัญประการหนึ่งที่จะใช้ในการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกอนาคตของประเทศไทยในโครงการ เพราะเป็นปัจจัยที่มีระดับความไม่แน่นอนว่าจะพัฒนาไปในทิศทางใดสูงมาก อีกทั้งยังส่งผลกระทบต่อภาคส่วนและประเด็นวาระต่าง ๆ อย่างกว้างขวาง มีนัยสำคัญ และลึกซึ้ง
     สาเหตุของระดับความไม่แน่นอนที่สูงยิ่งดังกล่าวก็เนื่องจากความเสมอภาคทางโอกาสเป็นสภาวะที่ถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีหลากหลาย ซึ่งบางส่วนมีพลวัตสูงและเปลี่ยนแปลงได้ง่าย บางส่วนเปลี่ยนแปลงแล้วส่งผลกระทบต่อความเสมอภาคอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่บางส่วนสามารถคาดการณ์แนวโน้มในระยะเวลาที่สนใจได้ยาก ตัวอย่างเช่น

  • ชุดคุณค่าและปทัสถานที่ประชากรยึดถือ: แม้ในปัจจุบัน ชุดคุณค่าและปทัสถานที่สนับสนุนความเสมอภาคทางโอกาส รวมถึงขบวนการทางสังคมที่เรียกร้องคุณค่าเหล่านั้นในประเทศไทย จะเติบโตและมีพลังมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ชุดคุณค่าและปทัสถานต่างล้วนถูกประกอบสร้างใหม่และต้องแข่งขันอิทธิพลกับชุดคุณค่าและปทัสถานอื่นอยู่เสมอ จึงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา ยิ่งไปกว่านั้น ชนชั้นนำและกลุ่มอนุรักษนิยมยังอาจประสบความสำเร็จในการใช้ความได้เปรียบทางทรัพยากรของตนจำกัดอิทธิพลของชุดคุณค่าและขบวนการดังกล่าว หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนแปลงสังคมให้มีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสเพิ่มขึ้น
  • โครงสร้างทางการเมืองและการจัดการปกครอง: แนวคิดและขบวนการทางการเมืองแบบประชาธิปไตยเสรีและมีส่วนร่วมมีแนวโน้มที่จะเติบโตจนสามารถเข้ามามีอิทธิพลในโครงสร้างทางการเมืองและการจัดการปกครอง แล้วผลักดันความเสมอภาคทางโอกาสได้มากขึ้นตามลำดับ อย่างไรก็ดี หากโครงสร้างที่ถูกครอบงำโดยกองทัพ ข้าราชการ นายทุนใหญ่ และนักการเมืองในเครือข่ายแบบปัจจุบันยังคงรักษาหรือขยายอิทธิพลได้ต่อไป ประเทศไทยก็น่าจะมีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสมากขึ้น
  • กฎหมายและนโยบายสาธารณะ: ในช่วงระยะเวลาที่สนใจ รัฐบาลอาจตรากฎหมายหรือดำเนินนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาสมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากชุดคุณค่าและปทัสถาน รวมถึงโครงสร้างทางการเมืองและการจัดการปกครองเอื้อต่อการดำเนินนโยบายเช่นนั้น ตัวอย่างได้แก่ การจัดรัฐสวัสดิการถ้วนหน้า เพื่อให้ประชากรทุกคนมีคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานที่ดีและมีโอกาสพัฒนาทักษะ แล้วมาแข่งขันในตลาดแรงงานได้อย่างเท่าเทียมยิ่งขึ้น หรือการลดอุปสรรคในการเข้าถึงปัจจัยการผลิตและตลาด ตลอดจนการป้องกันการผูกขาดทางการค้า เพื่อให้บรรษัทธุรกิจแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรมยิ่งขึ้น ในทางกลับกัน หากรัฐบาลดำเนินนโยบายในแนวทางตรงข้ามก็อาจส่งเสริมความเหลื่อมล้ำทางโอกาสภายในประเทศ
  • เทคโนโลยี: หากเทคโนโลยีที่มีธรรมชาติเอื้อต่อการเข้าถึงและการใช้ประโยชน์อย่างเท่าเทียม เช่น บล็อกเชน ข้อมูลขนาดใหญ่แบบเปิด และข้อมูลดาวเทียมแบบเปิด ได้รับการพัฒนาและมีอิทธิพลเป็นเทคโนโลยีหลักในอนาคต ก็อาจเอื้อให้ประเทศไทยมีความเสมอภาคทางโอกาสได้มากขึ้น ในทางตรงกันข้าม หากเทคโนโลยีที่มีต้นทุนสูงและเอื้อต่อการรวมศูนย์อำนาจ เช่น คอมพิวเตอร์ควอนตัมและข้อมูลขนาดใหญ่แบบปิด กลายมาเป็นเทคโนโลยีหลักและอยู่ภายใต้การผูกขาดของบรรษัทใหญ่น้อยราย ก็อาจส่งผลให้ประเทศไทยอยู่ในสภาวะที่มีความเหลื่อมล้ำทางโอกาสเพิ่มขึ้น

ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ผลกระทบของความไม่แน่นอนในประเด็นความเสมอภาคทางโอกาสนี้มีขอบเขตกว้างขวาง มีนัยสำคัญสูง และมีผลสืบเนื่องที่ลึกซึ้ง ดังจะเห็นได้จากตัวอย่างขอบเขตของผลกระทบที่สำคัญต่อไปนี้

  • ความกลมเกลียวในสังคม (social harmony): ในทางเลือก Y สังคมไทยจะยุติธรรมและกลมเกลียวกันมากขึ้น ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขสำคัญที่สุดประการหนึ่งอันจะยังผลให้สมาชิกในสังคมสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุข เห็นอกเห็นใจ ประนีประนอม และจัดการความขัดแย้งได้โดยปราศจากความรุนแรง ในแง่นี้ สังคมไทยจะยืดหยุ่นต่อปัญหาและมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลง (resilient) ที่รวดเร็วในอนาคตยิ่งขึ้น ความกลมเกลียวยังส่งผลสืบเนื่องให้การจัดการผลประโยชน์ทางการเมืองมีประสิทธิภาพ โครงสร้างการจัดการปกครองมีเสถียรภาพ ตลอดจนระเบียบเศรษฐกิจและระบบการเมืองมีความชอบธรรมมากขึ้น ฉะนั้น การพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม รวมถึงการดำเนินนโยบายสาธารณะจึงมีโอกาสประสบผลสำเร็จเพิ่มขึ้นด้วย ขณะที่ในทางเลือก N สังคมจะอยุติธรรมและแตกแยกยิ่งขึ้น นำไปสู่ผลสืบเนื่องในทางตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น
  • สมรรถนะของระบบเศรษฐกิจ: ในทางเลือก Y แรงงานและบรรษัทธุรกิจจะสามารถแข่งขันกันได้อย่างทั่วถึงและเป็นธรรมยิ่งขึ้น ด้วยเหตุนี้ กำลังแรงงานจะสามารถเข้าสู่ตลาด มีแรงจูงใจในการพัฒนาศักยภาพของตนเองและปรับตัว ตลอดจนเพิ่มผลิตภาพและสร้างสรรค์นวัตกรรมของประเทศได้มากขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น กำลังซื้อของประชากรจะขยายตัวและกระตุ้นการเติบโตของภาคเศรษฐกิจแท้จริงได้อย่างยั่งยืน ขณะเดียวกัน บรรษัทธุรกิจจะมีแรงจูงใจในการวิจัยและพัฒนา ยกระดับคุณภาพสินค้า เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต ปรับตัว และทดลองกิจการใหม่ อันจะส่งผลกระตุ้นการจ้างงานภายในประเทศ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบรรษัทไทยและประเทศไทยในตลาดโลก ขณะที่ในทางเลือก N ระดับการแข่งขันของแรงงานและบรรษัทจะต่ำ เพราะไม่สามารถแข่งขันกันได้อย่างเท่าเทียม ส่งผลสืบเนื่องในทางตรงกันข้ามกับที่กล่าวมาข้างต้น
  • ประสิทธิภาพในการพัฒนาเทคโนโลยี: ในทางเลือก Y ความเสมอภาคทางโอกาสและการแข่งขันอย่างเป็นธรรมของปัจเจกบุคคลและบรรษัทธุรกิจจะกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ และตอบสนองความต้องการของสังคมดียิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของเทคโนโลยีที่จำเป็นต้องอาศัยปฏิสัมพันธ์กับหน่วยทางสังคมอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมเพื่อพัฒนาคุณภาพ ตัวอย่างเช่น ข้อมูลขนาดใหญ่ที่มีอคติต่ำ ปัญญาประดิษฐ์ที่เรียนรู้จากข้อมูลที่มีอคติต่ำและตัดสินใจได้อย่างแม่นยำ และนวัตกรรมทางการแพทย์ซึ่งพัฒนาจากฐานข้อมูลทางชีวภาพที่ครอบคลุมประชากรมากที่สุด เป็นต้น การพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ายิ่งขึ้นนี้จะส่งผลสืบเนื่องอันเป็นประโยชน์ต่อสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อมอย่างกว้างขวาง ดังจะเห็นได้จากกรณีนวัตกรรมทางการแพทย์ ซึ่งย่อมเสริมสร้างสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน พัฒนาทุนมนุษย์ และเสริมสร้างขีดความสามารถของภาคบริการทางการแพทย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่อง ส่วนในทางเลือก N การพัฒนาเทคโนโลยีจะจำกัดและมีประสิทธิภาพน้อยกว่า เพราะมุ่งสนองผลประโยชน์และขับเคลื่อนโดยบุคคลและบรรษัทน้อยรายเท่านั้น
NU2 เศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดน (Intrusive Economy)

        เศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดน หมายถึง ระบบเศรษฐกิจที่กิจกรรมการผลิต การแลกเปลี่ยน และการบริโภคแทรกตัวอยู่ในทุกอณูของชีวิตมนุษย์อย่างไร้พรมแดน คือ ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างโลก กิจกรรม และช่วงเวลาทางเศรษฐกิจ กับโลก กิจกรรม และช่วงเวลาที่ไม่ใช่เศรษฐกิจ หรืออาจกล่าวได้ว่ามิติเศรษฐกิจกับมิติอื่นในชีวิตมนุษย์และสังคมผนวกรวมเป็นองคภาวะเดียวกันอย่างแยกไม่ออก พร้อมกันนั้น ก็ไม่มีเส้นแบ่งระหว่างกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายในท้องถิ่นหรือประเทศ กับกิจกรรมทางเศรษฐกิจภายนอกท้องถิ่นหรือประเทศ เพราะไม่สามารถระบุเทศะ (space) หรือตำแหน่งเชิงพื้นที่ของกิจกรรมได้อีกต่อไป เนื่องจากมนุษย์ดำเนินกิจกรรมเหล่านั้นตลอดเวลาผ่านระบบเครือข่ายการประมวลผลและการสื่อสารที่ซับซ้อน แทบไร้รอยต่อ และแทบไร้ความหน่วง

         เศรษฐกิจรูปแบบนี้ถือเป็นความไม่แน่นอนในอนาคตของประเทศไทย ในแง่ที่เศรษฐกิจไทยอาจเปลี่ยนผ่านเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนของโลกได้อย่างเต็มที่ (ทางเลือก Y) หรือมิได้เปลี่ยนผ่านไปในทิศทางนั้น (ทางเลือก N)

          ความไม่แน่นอนในรูปแบบเศรษฐกิจดังกล่าวได้รับคัดเลือกเป็นความไม่แน่นอนสำคัญสำหรับการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกอนาคตของประเทศไทยอีกประการหนึ่ง เพราะมีคุณสมบัติในลักษณะเดียวกันกับความไม่แน่นอนในประเด็นความเสมอภาคทางโอกาส กล่าวคือ มีระดับความไม่แน่นอนสูงว่าเศรษฐกิจจะพัฒนาไปสู่รูปแบบใด ประกอบกับผลกระทบของการพัฒนาไปในทิศทางหนึ่งมีขอบเขตในหลายมิติ มีนัยสำคัญ และนำไปสู่ผลสืบเนื่องกว้างขวาง

          ระดับความไม่แน่นอนสูงนั้นมีสาเหตุอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนขึ้นอยู่กับปัจจัยทางเทคโนโลยี เศรษฐกิจ การเมือง และสังคมหลายประการ ซึ่งล้วนแล้วแต่มีความไม่แน่นอนและ/หรือมีอิทธิพลสูงต่อทิศทางการเปลี่ยนผ่านข้างต้น ตัวอย่างเช่น

  • เทคโนโลยี: เทคโนโลยีการนำเข้า การจัดการ การประมวลผล การสื่อสาร และการแสดงผลข้อมูลขั้นสูง รวมถึงอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งที่เชื่อมต่อกับเทคโนโลยีเหล่านั้น ซึ่งมีต้นทุนต่ำ อเนกประสงค์ และใช้งานได้ง่ายเพียงพอสำหรับประชาชนทั่วไปในวงกว้าง ถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานในการทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจแทรกตัวอยู่ในทุกอณูของชีวิตมนุษย์แบบไร้พรมแดนได้อย่างแท้จริง แม้ในปัจจุบัน การพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง แต่เทคโนโลยีอีกหลายประเภทยังอาจจะได้รับการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้งานในประเทศไทยได้ถึงระดับนั้นไม่ทันภายในระยะเวลาที่โครงการสนใจ เช่น เครือข่ายหกจี
  • เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม: การเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มจะเพิ่มปริมาณการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบออนไลน์ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะเอื้อให้สังคมไทยสามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนได้ ในปัจจุบัน เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มถูกคาดการณ์ว่ามีศักยภาพที่จะขยายตัวในประเทศไทยต่อไปอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก็ย่อมเอื้อต่อการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจดิจิทัลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์มก็ยังคงเป็นภาคส่วนที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก และอาจจะมิสามารถเติบโตมากพอจนรองรับเศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนอย่างเต็มที่ได้ภายในระยะสิบปีข้างหน้า
  • กฎหมายและนโยบายสาธารณะ: ในช่วงระยะเวลาที่สนใจ รัฐบาลอาจตรากฎหมายหรือดำเนินนโยบายสาธารณะที่ส่งเสริมหรือขัดขวางการเปลี่ยนผ่านประเทศไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนของโลก
  • ชุดคุณค่าและปทัสถานที่ประชากรยึดถือ: แม้ในปัจจุบัน ชุดคุณค่าและปทัสถานที่สนับสนุนรูปแบบเศรษฐกิจดังกล่าวหลายชุดจะยังคงมีอิทธิพลหรือแม้กระทั่งขยายอิทธิพลเพิ่มมากขึ้น เช่น คุณค่าเรื่องประสิทธิภาพ บริโภคนิยม และสากลนิยม แต่ชุดคุณค่าและปทัสถานที่อาจขัดขวางรูปแบบเศรษฐกิจลักษณะนั้นก็มีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นเช่นกัน ตัวอย่างได้แก่คุณค่าเรื่องความเป็นส่วนตัว ความสงบในการดำเนินชีวิต และชาตินิยม เมื่อประกอบกับหลักการที่ว่าชุดคุณค่าและปทัสถานต่างล้วนถูกประกอบสร้างใหม่และต้องแข่งขันอิทธิพลกับชุดคุณค่าและปทัสถานอื่นอยู่เสมอ จึงสามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตของชุดคุณค่าและปทัสถานที่เกี่ยวข้องได้ยาก

ผลกระทบของความไม่แน่นอนในประเด็นเศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนนี้ประกอบด้วยผลกระทบในมิติต่าง ๆ อย่างน้อย 3 มิติ ได้แก่

  • แรงงานและรูปแบบการทำงาน: ในทางเลือก Y การเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจแบบรุกล้ำไร้พรมแดนจะส่งผลให้แรงงานไทยสามารถทำงานในลักษณะการคิด การสร้างสรรค์ การตัดสินใจ การควบคุม และการบริหารจัดการระยะไกลได้โดยไม่จำกัดเวลาและสถานที่ ในแง่นี้ แรงงานทักษะขั้นกลางถึงสูงจะมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น สามารถรับจ้างนายจ้างจากต่างพื้นที่หรือต่างประเทศได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสที่จะมีรายได้สูงขึ้น แต่ก็ต้องเผชิญการแข่งขันจากแรงงานต่างชาติมากขึ้นด้วย ส่วนแรงงานทักษะขั้นกลางถึงต่ำก็น่าจะมีผลิตภาพสูงขึ้นจากประสิทธิภาพของแรงงานขั้นสูงที่เพิ่มขึ้น แต่งานอาจมีคุณค่าลดลง อีกทั้งแรงงานกลุ่มนี้ในธุรกิจบางประเภทยังอาจสูญเสียรายได้และตำแหน่งงานไป

    ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลสืบเนื่องเชิงบวกให้แรงงานทักษะขั้นกลางถึงสูงมีอิสระในชีวิตยิ่งขึ้น พร้อมทั้งช่วยกระตุ้นการพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรม และขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ แต่ขณะเดียวกัน ก็จะก่อให้เกิดผลเชิงลบในการซ้ำเติมปัญหาความเหลื่อมล้ำระหว่างแรงงานต่างระดับทักษะ นอกจากนี้ ประชาชนยังอาจมีความมั่นคงในการทำงานลดลง ต้องแบกรับภาระด้านสวัสดิการแทนนายจ้างมากขึ้น และจำเป็นต้องพึ่งพาสวัสดิการของรัฐเพิ่มขึ้น ส่วนภาครัฐก็จะเผชิญความท้าทายในการบังคับใช้กฎหมายเพื่อคุ้มครองแรงงาน รวมถึงการจัดเก็บภาษีเพื่อจัดสวัสดิการ ยิ่งไปกว่านั้น หากไม่สามารถบริหารจัดการปัญหาข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิผล ปัญหาเหล่านี้ยังจะบ่อนทำลายบูรณภาพของสังคมและเสถียรภาพทางการเมืองของประเทศไทยในระยะยาวอีกด้วย
    ในทางเลือก N แรงงานทักษะขั้นกลางถึงสูงจะสูญเสียโอกาสในการเข้าถึงงานและรายได้ รวมถึงมีประสิทธิภาพในการทำงานและพัฒนาศักยภาพของตนเองไม่เต็มที่ ส่วนแรงงานทักษะขั้นกลางถึงต่ำก็อาจมีผลิตภาพลดลง คงที่ หรือสูงขึ้นในอัตราที่น้อยกว่าทางเลือก Y อีกทั้งยังเผชิญความเสี่ยงที่จะได้รับค่าจ้างลดลงหรือตกงานจากการเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจในมิติอื่น

    ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลสืบเนื่องเหนี่ยวรั้งการพัฒนาทุนมนุษย์ เทคโนโลยี นวัตกรรม ขีดความสามารถการแข่งขัน และการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ แต่แรงงานที่ทำงานในภาคส่วนทางเศรษฐกิจที่เข้มแข็งอาจมีความมั่นคงในการทำงานและสวัสดิการจากการจ้างงานมากกว่า ขณะที่แรงงานในภาคส่วนอื่นก็ยังมีโอกาสเผชิญความไม่มั่นคงในประเด็นดังกล่าว และต้องพึ่งพาการคุ้มครองและสวัสดิการจากภาครัฐมากขึ้น

  • รูปแบบและอุปสงค์ต่อธุรกิจภายในประเทศ: ในทางเลือก Y ผู้บริโภคน่าจะมีอุปสงค์ต่อสินค้าและบริการที่สามารถซื้อและบริโภคทางออนไลน์ได้ทุกที่ทุกเวลามากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ แทนที่สินค้าและบริการแบบออฟไลน์หลายประเภท ในแง่นี้ ธุรกิจออนไลน์ลักษณะข้างต้นจึงมีโอกาสเติบโตสูง ตรงข้ามกับธุรกิจออฟไลน์ที่อาจหดตัวและต้องออกจากตลาดหากไม่สามารถปรับตัว ยิ่งไปกว่านั้น ผู้บริโภคจะสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการจากผู้ผลิตนอกท้องถิ่นหรือนอกประเทศได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและสะดวกสบายยิ่งขึ้น ฉะนั้น บรรษัทธุรกิจในประเทศไทยจึงจะต้องเผชิญการแข่งขันกับบรรษัทต่างชาติรุนแรงขึ้น ซึ่งอาจจะส่งผลให้มีอุปสงค์จากภายในประเทศลดลง แต่ก็อาจมีอุปสงค์จากต่างประเทศเพิ่มขึ้น ประการสำคัญ สาขาธุรกิจหรือบรรษัทในประเทศไทยที่ไม่สามารถปรับตัวให้มีจุดเด่นหรือขีดความสามารถการแข่งขันสูงโดยเปรียบเทียบกับประเทศอื่น จะมีความเสี่ยงสูงมากที่จะต้องออกจากตลาด

    ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้มีแนวโน้มที่จะส่งผลสืบเนื่องให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงสินค้าและบริการที่มีคุณภาพดีและได้รับอรรถประโยชน์มากขึ้น กระตุ้นให้ผู้ผลิตต้องเร่งปรับตัวเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถของตน ส่งผลกระทบต่อโครงสร้างความต้องการแรงงาน ทั้งนี้ ในกรณีที่ประเทศไทยไม่สามารถปรับตัวเพื่อแสวงหาโอกาสจากเศรษฐกิจรูปแบบนี้ได้ อาจส่งผลให้แรงงาน โดยเฉพาะกลุ่มทักษะขั้นกลางถึงต่ำ ว่างงานอย่างกว้างขวาง เศรษฐกิจและประชาชนไทยตกอยู่ภายใต้การครอบงำของบรรษัทข้ามชาติ และประเทศไทยตกอยู่ภายใต้อิทธิพลของมหาอำนาจทางเศรษฐกิจการเมืองอื่น ไม่สามารถดำเนินนโยบายอย่างเป็นอิสระเพื่อบรรลุผลประโยชน์แห่งชาติได้เต็มที่

    ในทางเลือก N ประเทศไทยมีแนวโน้มที่จะได้รับผลประโยชน์ ผลกระทบ และผลสืบเนื่องเช่นเดียวกันกับในทางเลือก Y แต่ด้วยระดับที่ต่ำกว่า

  • อำนาจรัฐและโครงสร้างการจัดการปกครอง: ในทางเลือก Y รัฐจะสูญเสียอำนาจในการควบคุมและการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจตามแบบบางส่วน ขณะที่บรรษัททั้งในและต่างประเทศที่มีอิทธิพลในตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรษัทข้อมูลและแพลตฟอร์ม จะมีอิทธิพลในโครงสร้างการจัดการปกครองของประเทศยิ่งขึ้น พัฒนาการลักษณะนี้จะยังผลสืบเนื่องให้ประชาชนมีความเสี่ยงต้องเผชิญปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมที่รุนแรงและยาวนานสูงขึ้น ยิ่งไปกว่านั้น รัฐไทยยังจะสูญเสียความสามารถในการดำเนินนโยบายมิติอื่น ซึ่งในแง่หนึ่ง จะส่งผลให้ประชาชนและบรรษัทมีอิสระมากขึ้น แต่ในอีกแง่หนึ่ง ก็อาจได้รับการคุ้มครองสิทธิ เสรีภาพ ความเสมอภาค และความยุติธรรมโดยรัฐลดลง ต้องอยู่ภายใต้ปทัสถานที่เอื้อต่อการแสวงหาผลประโยชน์และการกดขี่ขูดรีดโดยบรรษัททรงอิทธิพลที่กล่าวถึงในช่วงต้นเพิ่มขึ้น ตลอดจนสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการปกครองโดยรวมได้น้อยลงด้วย

    สำหรับทางเลือก N รัฐมีแนวโน้มที่จะสูญเสียอำนาจเช่นว่านั้นน้อยกว่า ขณะที่บรรษัทข้อมูลและแพลตฟอร์มก็น่าจะมีอิทธิพลในโครงสร้างการจัดการปกครองน้อยกว่าทางเลือก Y ด้วยเหตุนี้ ผลสืบเนื่องของทางเลือกนี้จึงมีลักษณะคล้ายคลึงกันกับทางเลือก Y แต่จะมีระดับความเข้มข้นของผลต่ำกว่า

NU3 ความสามารถในการปรับตัว (Adaptability)

        ความสามารถในการปรับตัว หมายถึง ขีดความสามารถของปัจเจกบุคคล องค์กรทางสังคม หรือสังคมโดยรวมในการปรับตัวให้ยังคงสามารถอยู่รอด แสวงหาผลประโยชน์ และเจริญก้าวหน้าได้ต่อไป เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายใหม่ในอนาคต

        อาจพิจารณาได้ว่า ขีดความสามารถดังกล่าวถือเป็นความไม่แน่นอนในอนาคตของประเทศไทย ในแง่ที่ว่าประชากร องค์กรทางสังคม และสังคมไทยอาจมีความสามารถในการปรับตัวสูง เมื่อเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงและความท้าทายทางสังคม เทคโนโลยี เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และการเมือง ทั้งในระดับโลก ระดับภูมิภาค และระดับประเทศในระยะสิบปีข้างหน้า (ทางเลือก Y) หรือ หน่วยทางสังคมของไทยเหล่านั้นอาจมีขีดความสามารถในการปรับตัวต่ำ ส่งผลให้ไม่อาจรักษาผลประโยชน์และการเติบโตในบริบทของอนาคตที่เปลี่ยนแปลงไป (ทางเลือก N)

        ความไม่แน่นอนนี้ได้รับคัดเลือกเป็นอีกหนึ่งความไม่แน่นอนสำคัญในการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกอนาคตของประเทศไทย เนื่องจากมีคุณลักษณะครบถ้วนตามเกณฑ์ที่กำหนดไว้ อันได้แก่ มีระดับความไม่แน่นอนสูง มีขอบเขตของผลกระทบกว้างขวาง มีระดับผลกระทบสูง และมีผลสืบเนื่องอย่างมีนัยสำคัญ

        ระดับความไม่แน่นอนสูงข้างต้นมีสาเหตุอันเนื่องมาจากความสามารถในการปรับตัวนั้นถูกกำหนดโดยปัจจัยหลากหลายที่เกี่ยวข้องกับทั้งตัวหน่วยทางสังคมผู้ปรับตัว สิ่งแวดล้อมของการปรับตัว ตลอดจนปัญหาและความท้าทายที่หน่วยทางสังคมหนึ่ง ๆ จะปรับตัวเพื่อรับมือ ประกอบกับปัจจัยเหล่านี้ล้วนแล้วแต่มีความไม่แน่นอนในตัวเองสูงและสามารถคาดการณ์แนวโน้มในอนาคตที่แน่นอนได้ยาก ตัวอย่างปัจจัยที่สำคัญได้แก่

  • การพัฒนาทุนมนุษย์: ในระยะสิบปีถัดจากนี้ หากนโยบายการพัฒนาทุนมนุษย์ผ่านการจัดการศึกษา การฝึกและพัฒนาทักษะ (re-skill and up-skill) การฝึกอาชีพ และการจัดให้มีแหล่งเรียนรู้ ของทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม ถูกเปลี่ยนแปลงจนสามารถพัฒนาทักษะจำเป็นขั้นพื้นฐาน ทักษะการคิดวิเคราะห์และสร้างสรรค์ และทักษะการเรียนรู้องค์ความรู้ใหม่หรือทักษะใหม่ แก่ประชาชนได้อย่างเสมอภาคทั้งในเชิงการเข้าถึงและเชิงคุณภาพ รวมถึงสามารถปลูกฝังคุณค่าและปทัสถานที่สนับสนุนการปรับตัวได้ในวงกว้าง หน่วยทางสังคมในประเทศไทยก็อาจมีขีดความสามารถในการปรับตัวสูงในอนาคต แต่หากนโยบายยังคงถูกปฏิรูปในแนวทางปัจจุบันที่เน้นบ่อนทำลายทักษะดังกล่าวและครอบงำประชาชนให้สยบยอมต่อชนชั้นนำต่อไป หน่วยทางสังคมในประเทศไทยก็จะสูญเสียความสามารถในการปรับตัวเพิ่มขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ ทิศทางของนโยบายย่อมขึ้นอยู่กับคุณค่า ปทัสถาน และการพิจารณาผลประโยชน์ในสังคม กอปรกับพลวัตทางการเมือง
  • แหล่งทุนสนับสนุนการปรับตัว: นอกเหนือจากการลงทุนทางสังคมเพื่อพัฒนาทุนมนุษย์แล้ว หากประเทศไทยมีแหล่งทุนสนับสนุนการปรับตัวที่เพียงพอ เข้าถึงได้ง่ายอย่างถ้วนหน้า และมีเสถียรภาพ ทั้งในรูปแบบเงินอุดหนุนและกองทุนของภาครัฐ และแหล่งเงินทุนของภาคเอกชน ตลอดช่วงเวลาที่สนใจศึกษา หน่วยทางสังคมในประเทศไทยก็จะมีความสามารถในการปรับตัวสูงขึ้น ในทางตรงกันข้าม ก็จะมีขีดความสามารถนี้ต่ำลง ปัจจัยเรื่องแหล่งทุนนี้ขึ้นอยู่กับความผันผวนหลายประการ โดยนอกเหนือจากคุณค่าในสังคมและพลวัตทางการเมืองที่กล่าวถึงในปัจจัยประการก่อนหน้าแล้ว ยังขึ้นอยู่กับพลวัตทางเศรษฐกิจและตลาดเงินตลาดทุนด้วย
  • โครงสร้างพื้นฐาน: หากประเทศไทยสามารถพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน อันหมายรวมถึงโครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี เช่น ระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เครือข่ายการสื่อสาร และเซนเซอร์ในพื้นที่สาธารณะ ให้ทั่วถึง มีคุณภาพ และใช้ประโยชน์ได้อย่างถ้วนหน้า ก็จะเอื้อให้ประเทศไทยมีความสามารถในการปรับตัวสูง ในทางกลับกัน ก็จะไม่สามารถปรับตัวได้ในอนาคต ปัจจัยข้อนี้ถูกกำหนดโดยความผันผวนทางสังคมและการเมืองเช่นเดียวกันกับปัจจัยทั้งสองประการก่อนหน้า ประกอบกับความก้าวหน้าทางวิชาการและเทคโนโลยีในระดับโลกและระดับประเทศ
  • มาตรการรองรับความเสี่ยง: หากประเทศไทยสามารถปฏิรูประบบรัฐสวัสดิการให้กลายเป็นระบบถ้วนหน้าและจัดสวัสดิการรองรับความเสี่ยงที่เกิดในระยะปรับตัว เช่น เงินเดือนพื้นฐานถ้วนหน้า (universal basic income) เงินประกันการว่างงาน ระบบสนับสนุนการจัดหางาน ระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงบริการอันเกี่ยวเนื่องกับการพัฒนาทุนมนุษย์ ได้อย่างเพียงพอ มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพ ก็จะส่งผลให้ประชาชนและหน่วยทางสังคมพร้อมที่จะเผชิญความเสี่ยงในการปรับตัว เป็นเหตุให้ประเทศมีขีดความสามารถในการปรับตัวสูง แต่หากประเทศไทยยังรักษาระบบรัฐสวัสดิการแบบสงเคราะห์ในปัจจุบัน ซึ่งไม่มีสวัสดิการรองรับความเสี่ยงอย่างครอบคลุม ก็อาจก่อให้เกิดผลกระทบบั่นทอนขีดความสามารถการปรับตัวของหน่วยทางสังคมทั้งหมด
  • บริบทอื่นทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และสิ่งแวดล้อม ในส่วนของผลกระทบ ความไม่แน่นอนในประเด็นความสามารถในการปรับตัวมีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบต่อประเด็นวาระและภาคส่วนต่าง ๆ ในสังคมอย่างกว้าง มีนัยสำคัญ และลึกซึ้ง โดยมีตัวอย่างขอบเขตผลกระทบที่สำคัญดังต่อไปนี้
  • ฐานะและรูปแบบของแรงงานและธุรกิจไทยในตลาดโลก: ในทางเลือก Y แรงงานไทยจะมีภูมิคุ้มกันต่อความเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคมที่รวดเร็ว จึงมีโอกาสเข้าถึงงานได้และได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นอยู่เสมอ มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น และลดปัญหาความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ขณะที่ธุรกิจไทยก็จะยังสามารถปรับรูปแบบธุรกิจให้สอดคล้องกับบริบทใหม่ได้อย่างเท่าทัน จึงสามารถแข่งขันและเติบโตในตลาด ได้รับส่วนแบ่งที่เหมาะสมและมีอิทธิพลเหนือห่วงโซ่มูลค่าโลก รวมถึงรักษาการจ้างงานในประเทศต่อไปได้ ในแง่นี้ จะยังผลสืบเนื่องกระตุ้นการบริโภค ซึ่งหมายรวมถึงการบริโภคสินค้าที่ไม่จำเป็น ในประเทศมากขึ้น สังคมจะเท่าเทียม มีเสถียรภาพ และสามารถที่จะเติมเต็มและผลักดันคุณค่าอันดีงามต่าง ๆ เช่น สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค และการรักษาสิ่งแวดล้อม ได้เพิ่มขึ้น

    ส่วนในทางเลือก N แรงงานไทยมีแนวโน้มที่จะมีรายได้ลดลงและ/หรือสูญเสียงานไปมากขึ้น อันจะเป็นการซ้ำเติมปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำภายในประเทศ ขณะเดียวกัน ธุรกิจไทยก็อาจต้องออกจากตลาด ถูกครอบงำและใช้เป็นเครื่องมือในการแสวงหาผลประโยชน์ของบรรษัทต่างชาติโดยไม่ได้รับผลตอบแทนที่เหมาะสม จึงอาจไม่สามารถรักษาการจ้างงานที่เหมาะสมสำหรับแรงงานในฐานะมนุษย์ไว้ได้ อันจะยังผลสืบเนื่องในทางตรงกันข้าม กล่าวคือ การบริโภคหดตัว ความสามารถในการแสวงหาความสุขในชีวิตของประชาชนลดลง สังคมจะเหลื่อมล้ำ ไร้เสถียรภาพ และขาดจินตนาการที่จะขับเคลื่อนสังคมสู่เป้าหมายเชิงคุณค่าที่สูงขึ้นได้

  • ความมีตัวตน (agency): ความมีตัวตน หมายถึง ความสามารถที่จะแสดงออกซึ่งความต้องการและความคิดเห็นของตนเอง แล้วได้รับให้คุณค่าว่าควรถูกรับฟังและมีส่วนร่วมขับเคลื่อนกิจกรรมในบริบททางสังคมหนึ่ง (ability to speak for oneself) ในทางเลือก Y ประชากร องค์กรทางสังคม และสังคมไทยโดยรวมจะสามารถมีตัวตนในโลกและได้รับความนับถือจากองคภาวะอื่นในฐานะที่เท่าเทียมกันมากขึ้น ส่งผลสืบเนื่องให้สามารถมีส่วนร่วมกำหนดประเด็นวาระและตัดสินใจ มีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมของตนเอง ตลอดจนรู้สึกถึงการมีคุณค่าของตนเอง ในทางการเมืองภายในและการเมืองระหว่างประเทศ อาจหมายถึงความเป็นอิสระและการไม่ถูกครอบงำโดยองคภาวะอื่น ซึ่งถือเป็นเงื่อนไขพื้นฐานสำคัญในการรักษาและบรรลุผลประโยชน์ของตนเอง

    ในทางเลือก N ประชากร องค์กรทางสังคม และสังคมไทยจะสูญเสียตัวตนและความนับถือจากองคภาวะอื่นในฐานะที่เท่าเทียมกัน ยังผลสืบเนื่องในทางตรงกันข้ามกับทางเลือก Y ที่กล่าวมาข้างต้น

NU4 การบูรณาการระบบ (System Integration)

        การบูรณาการระบบ หมายถึง กระบวนการที่องค์ประกอบย่อยทุกส่วนภายในระบบ สามารถผนวกและประสานการทำงานร่วมกัน เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ของระบบในภาพรวมได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ

        แม้โดยทั่วไปมักหมายถึงการบูรณาการข้อมูล สารสนเทศ การสื่อสาร และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง แต่ในบริบทความไม่แน่นอนของประเทศไทย ณ ที่นี้ การบูรณาการระบบหมายความว่าประเทศไทยอาจจะประสบความสำเร็จในการผนวกและประสานการทำงานระหว่างภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาคส่วนในเชิงประเด็นวาระ (เช่น สังคม เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม) และภาคส่วนในเชิงตัวแสดง (เช่น ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม) ภายในประเทศอย่างเป็นระบบ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาของประเทศร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ (ทางเลือก Y) หรือ อาจไม่สามารถบูรณาการในลักษณะดังกล่าว จนส่งผลให้การพัฒนาประเทศขาดเอกภาพก็ได้ (ทางเลือก N)

        ความไม่แน่นอนนี้มีคุณลักษณะเช่นเดียวกันกับความไม่แน่นอนสำคัญที่ใช้สำหรับการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกอนาคตของประเทศไทยในโครงการทั้งสามประการก่อนหน้า คือ มีระดับความไม่แน่นอนสูง ประกอบกับผลกระทบครอบคลุมขอบเขตที่กว้างขวาง มีนัยสำคัญ และมีผลสืบเนื่องลึกซึ้ง จึงได้รับการคัดเลือกให้เป็นความไม่แน่นอนสำคัญลำดับที่ 4 สำหรับการพัฒนาฉากทัศน์

       ปัจจัยผันแปรสำคัญที่ส่งผลให้ความไม่แน่นอนในประเด็นการบูรณาการระบบมีระดับความไม่แน่นอนสูง ได้แก่

  • โครงสร้างและระเบียบเศรษฐกิจ: หากพิจารณาจากสัญญาณในปัจจุบัน เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มที่จะเหลื่อมล้ำ และอยู่ภายใต้อิทธิพลของกลุ่มทุนผูกขาดในเครือข่ายของชนชั้นนำทางการเมืองและบรรษัทข้ามชาติมากขึ้นตามลำดับ ภายใต้บริบทเช่นนี้ การบูรณาการระบบน่าจะเกิดขึ้นในวงจำกัด ไม่ทั่วถึง และไม่มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยอาจมีโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงไปสู่โครงสร้างที่เท่าเทียมและเปิดกว้างต่อการแข่งขันอย่างเสมอภาคมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อต่อการบูรณาการระบบอย่างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ทั้งนี้ ความเป็นไปได้ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวขึ้นอยู่กับปัจจัยผันผวนหลายประการ ตัวอย่างเช่น เทคโนโลยีใหม่ ธุรกิจรูปแบบใหม่ คุณค่าและปทัสถานในสังคม ตลอดจนโครงสร้างการเมืองและการจัดการปกครอง เป็นต้น
  • โครงสร้างการเมืองและการจัดการปกครอง: หากโครงสร้างการเมืองเปิดกว้างให้ประชาชนทุกคนและองค์กรทางสังคมจากทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมในกระบวนการจัดการปกครองอย่างเสรีและเสมอภาค การบูรณาการระบบก็จะมีโอกาสเกิดขึ้นโดยสมบูรณ์มากกว่า ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาสัญญาณในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าขบวนการทางการเมืองที่พยายามผลักดันการปฏิรูปโครงสร้างทางการเมืองไปสู่โครงสร้างแบบเปิดมีแนวโน้มที่จะสามารถระดมความสนับสนุนและมีพลังทางการเมืองเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเยาวชน ซึ่งจะเป็นพลเมืองกำลังหลักในอนาคต อย่างไรก็ตาม ขบวนการข้างต้นอาจไม่ประสบความสำเร็จในการขึ้นมาครองอำนาจนำและขับเคลื่อนการปฏิรูป เนื่องจากเครือข่ายชนชั้นนำของกองทัพ ข้าราชการ นายทุนใหญ่ และนักการเมืองฝ่ายขวาอาจจะยังสามารถรักษาโครงสร้างการเมืองแบบปิดและผูกขาดอำนาจในกระบวนการจัดการปกครองแบบปัจจุบันต่อไปได้ อันจะเป็นการขัดขวางมิให้ประเทศไทยสามารถบูรณาการระบบได้อย่างเต็มที่
  • กฎหมายและนโยบายสาธารณะ: ในช่วงระยะเวลาที่สนใจ รัฐบาลอาจตรากฎหมายหรือดำเนินนโยบายสาธารณะที่เอื้อต่อการบูรณาการระบบยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่ปัจจัยที่เกี่ยวข้องมีแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน
  • ประสิทธิภาพของระบบราชการ: การบูรณาการระบบในระดับประเทศจำเป็นต้องอาศัยบทบาทของภาครัฐในระดับหนึ่ง โดยนอกเหนือจากนโยบายสาธารณะที่กำหนดโดยฝ่ายการเมืองแล้ว ก็จำเป็นต้องอาศัยกลไกของระบบราชการในการปฏิบัติงานประจำวัน เพื่อให้ขับเคลื่อนและรักษาการบูรณาการอย่างสม่ำเสมอ ฉะนั้น ประสิทธิภาพของระบบราชการจึงเป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อการบูรณาการระบบ ความผันแปรของปัจจัยนี้ขึ้นอยู่กับแนวทางและความสำเร็จในการปฏิรูประบบราชการ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เช่น ระบบฐานข้อมูลของประเทศ เป็นต้น หากระบบราชการได้รับการปฏิรูปจนมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นเพียงพอและมีโครงสร้างพื้นฐานที่ดีเป็นเครื่องมือในการปฏิบัติงาน ก็จะสามารถปฏิบัติภารกิจรองรับการบูรณาการระบบได้ดี แต่หากยังคงมีโครงสร้าง ขีดความสามารถ และผลสัมฤทธิ์การทำงานในรูปแบบหรือระดับปัจจุบันต่อไป ประเทศไทยก็จะไม่สามารถบูรณาการระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพ

        ผลกระทบหลักของความไม่แน่นอนเรื่องการบูรณาการระบบ ได้แก่ ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร ซึ่งครอบคลุมทั้งทรัพยากรเงินทุน ทรัพยากรบุคคล ทรัพยากรเวลา ทรัพยากรข้อมูล ทรัพยากรองค์ความรู้ ทรัพยากรธรรมชาติ และอื่น ๆ โดยในทางเลือก Y การจัดสรรทรัพยากรภายในประเทศจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าทางเลือก N อย่างมีนัยสำคัญ ประสิทธิภาพเช่นว่านี้จะนำไปสู่ผลสืบเนื่องอย่างกว้างขวางและลึกซึ้ง กล่าวคือ ประสิทธิภาพที่สูงกว่าในทางเลือก Y ย่อมช่วยให้กิจการในภาคส่วนต่าง ๆ เข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นง่ายกว่าและพัฒนาไปในแนวทางที่เสริมแรงกันมากกว่า ข้อมูลที่ประมวลผลจะมีอคติน้อยกว่าและมีประโยชน์ในการใช้งานมากกว่า องค์ความรู้เชิงวิชาการ วิจัย และนวัตกรรมจะได้รับการต่อยอดและประยุกต์ใช้อย่างก้าวหน้ากว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะเสื่อมโทรมช้าและมีโอกาสฟื้นฟูได้ดีกว่า อีกทั้งในภาพรวม ยังส่งผลให้ประเทศไทยพัฒนาไปสู่เป้าหมายได้รวดเร็วและใช้ต้นทุนทรัพยากรน้อยกว่าในทางเลือก N ด้วย

NU5 การจัดการปกครองในอนาคต (Future Governance)

        การจัดการปกครองอาจนิยามได้ว่าเป็นการจัดระบบในการขับเคลื่อน ควบคุม และบริหารจัดการสังคมไทยหรือประเทศไทย ซึ่งรวมถึงกลไกการจัดการความขัดแย้ง กลไกการตัดสินใจ และกลไกความรับผิดของระบบนั้นและคณะบุคคลที่ทรงสิทธิอำนาจในระบบนั้น (Governance Institute of Australia, n.d.) ควรกล่าวด้วยว่า การจัดการปกครองมิได้หมายถึงเพียงโครงสร้างของรัฐบาลเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติ การจัดการปกครองเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ดำเนินผ่านเครือข่ายของตัวแสดงหลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม และภาคประชาชน และทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระดับระหว่างประเทศ

        การจัดการปกครองในอนาคตถือเป็นความไม่แน่นอนของประเทศไทยในแง่ที่ว่า ระบบการจัดการปกครองอาจจะมีขีดความสามารถสูงในการตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชนและการรับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ พร้อมทั้งรับผิดต่อประชาชนอย่างเหมาะสม (ทางเลือก Y) หรือ อาจจะมีขีดความสามารถข้างต้นต่ำและมิได้รับผิดต่อประชาชนอย่างเหมาะสมก็ได้ (ทางเลือก N)

        ความไม่แน่นอนในประเด็นนี้ได้รับคัดเลือกเป็นอีกหนึ่งความไม่แน่นอนสำคัญสำหรับการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกอนาคตของประเทศไทยในโครงการ เนื่องจากมีระดับความไม่แน่นอนสูง อีกทั้งยังมีผลกระทบต่อภาคส่วนและประเด็นวาระของประเทศอย่างกว้างขวาง มีนัยสำคัญ และมีผลสืบเนื่องลึกซึ้ง เป็นไปตามเกณฑ์ของระเบียบวิธีวิจัยที่ตั้งไว้

        ทั้งนี้ แนวโน้มพัฒนาการของการจัดการปกครองในประเทศไทยมีระดับความไม่แน่นอนสูง เพราะถูกกำหนดโดยปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ การเมือง และเทคโนโลยีอื่นหลายปัจจัย ซึ่งล้วนแล้วแต่มีพลวัตสูงและสามารถคาดการณ์รูปการของปัจจัยที่ชัดเจนได้ยาก บรรดาปัจจัยกำหนดข้างต้นที่สำคัญมีดังต่อไปนี้

  • ชุดคุณค่าและปทัสถานที่ประชากรยึดถือ: การประกอบสร้างใหม่และการปะทะแข่งขันกันระหว่างชุดคุณค่าและปทัสถานในสังคมไทยน่าจะมีพลวัตสูงและอาจเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีนัยสำคัญ ฉะนั้น อิทธิพลของปัจจัยประการนี้จึงมีความผันผวนสูงมาก ทั้งนี้ หากพิจารณาสัญญาณในปัจจุบันจะเห็นได้ว่า ชุดคุณค่าและปทัสถานว่าด้วยการจัดการปกครองแบบประชาธิปไตยน่าจะทรงพลังและสามารถระดมความสนับสนุนในสังคมได้เพิ่มขึ้นในช่วงเวลาที่สนใจ จึงมีโอกาสที่จะส่งผลให้การจัดการปกครองตอบสนองผลประโยชน์และรับผิดต่อประชาชนได้มากขึ้น แต่ขณะเดียวกัน ชุดคุณค่าและปทัสถานว่าด้วยการจัดการปกครองแบบเผด็จการโดยข้าราชการและนายทุนใหญ่ ราชาชาตินิยม อนุรักษนิยม ระบบอุปถัมภ์ รวมถึงเสรีนิยมใหม่ ก็ยังมีแนวโน้มที่จะยังคงรักษาอิทธิพลในสังคมไทยควบคู่ต่อไปด้วย ซึ่งจะยังผลต่อขีดความสามารถของการจัดการปกครองในทางตรงกันข้ามกับกรณีก่อนหน้า นอกเหนือจากชุดคุณค่าหลักสองชุดที่ขัดแย้งและมีผลกระทบต่างกันนี้แล้ว ยังปรากฏชุดคุณค่าอื่นที่เกี่ยวข้องซึ่งเริ่มมีอิทธิพลในสังคมมากขึ้นและอาจเป็นที่ยึดถือเพื่อใช้อย่างกว้างขวางในอนาคต ตัวอย่างเช่น ประชาธิปไตยแบบปรึกษาหารือ ประชาธิปไตยทางตรง การกระจายอำนาจ ท้องถิ่นนิยม สากลนิยม การเมืองเรื่องการปลดปล่อย ความเป็นกลางทางศาสนาของรัฐ การขยายบทบาทของรัฐ การแทรกแซงตลาดเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่ การควบคุมการผูกขาดตลาด การคุ้มครองผู้บริโภค การพัฒนารัฐสวัสดิการถ้วนหน้า การเมืองสีเขียว การลดบทบาทของรัฐ การให้กลไกตลาดทำงานอย่างเสรีเต็มที่ การลดกฎระเบียบ และความรับผิดชอบของบรรษัทต่อสังคม เป็นต้น ชุดคุณค่าและปทัสถานที่หลากหลายนี้ยิ่ง
  • รูปแบบและระเบียบเศรษฐกิจ: รูปแบบและระเบียบเศรษฐกิจย่อมส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างรัฐ บรรษัท แรงงาน และผู้บริโภค โดยหลักการเช่นนี้ รูปแบบและระเบียบเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มจะขยายตัวเพิ่มขึ้นและอาจกลายมาเป็นระเบียบเศรษฐกิจหลักในอนาคต ตัวอย่างเช่น เศรษฐกิจบล็อกเชน เศรษฐกิจแพลตฟอร์ม เศรษฐกิจแบบกิ๊ก และระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ จึงมีโอกาสจะส่งผลกระทบเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการจัดการปกครองในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ
  • พลวัตและโครงสร้างอำนาจทางการเมือง: หากขบวนการการเมืองหรือองค์กรภาคประชาสังคมแบบมวลชน ซึ่งเปิดโอกาสให้ประชาชนและกลุ่มผลประโยชน์หลากหลายได้เรียกร้องผลประโยชน์และมีส่วนร่วมตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมของขบวนการอย่างแท้จริง สามารถระดมความสนับสนุนจนขึ้นมาเป็นตัวแสดงที่ทรงอิทธิพลในโครงสร้างจัดการปกครองได้ การจัดการปกครองก็น่าจะสามารถตอบสนองความต้องการและรับผิดต่อประชาชนได้ดียิ่งขึ้น ในปัจจุบัน ขบวนการทางการเมืองในลักษณะเช่นนี้มีแนวโน้มจะเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ถึงกระนั้น ขบวนการก็อาจไม่สามารถรักษาการสนับสนุนจากมวลชนไว้ได้อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ขบวนการทางการเมืองของข้าราชการ นายทุนใหญ่ และนักการเมืองฝ่ายขวายังอาจสามารถรักษา หรือแม้กระทั่งเสริมสร้างอำนาจผูกขาดในปัจจุบันของตน ในโครงสร้างการจัดการปกครองไทยต่อไปได้ ในกรณีเช่นนี้ โครงสร้างการจัดการปกครองก็จะยังมุ่งตอบสนองผลประโยชน์ของชนชั้นนำกลุ่มข้างต้นต่อไป ไม่สามารถตอบสนองผลประโยชน์ของประชาชน รับมือกับความท้าทายใหม่ต่อประชาชน และรับผิดต่อประชาชนได้อย่างเหมาะสม
  • ระบอบโลกาภิบาล: พลวัตทางคุณค่าและการเมืองในระบอบโลกาภิบาลมีอิทธิพลต่อโครงสร้างการจัดการปกครองในประเทศไทย ยิ่งไปกว่านั้น หากระบอบโลกาภิบาลมีเสถียรภาพ อำนวยความสะดวกให้คู่ภาคีบรรลุข้อตกลงร่วมกัน และสามารถจัดการความขัดแย้งได้โดยสันติและมีประสิทธิภาพ การจัดการปกครองในประเทศไทยก็มีโอกาสที่จะสามารถตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชน รับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ และรับผิดต่อประชาชนได้มากกว่าด้วย เมื่อพิจารณาสัญญาณในปัจจุบัน ระบอบโลกาภิบาลในหลายสาขายังมีแนวโน้มที่จะรักษาสมดุลและเสถียรภาพ อันจะยังผลให้สามารถขับเคลื่อนภารกิจตามวัตถุประสงค์ของระบอบต่อไปได้ในอนาคต อย่างไรก็ดี ความพยายามในการขยายอำนาจและท้าทายระเบียบโลกอย่างก้าวร้าวของสาธารณรัฐประชาชนจีน ประกอบกับความเปลี่ยนแปลงของดุลอำนาจและโครงสร้างเชิงปทัสถานในระเบียบเศรษฐกิจการเมืองโลก อาจส่งผลให้โลกก้าวเข้าสู่สภาวะโลกหลายระเบียบหรือโลกไร้ระเบียบ ชุดคุณค่าและปทัสถานแบบเสรีนิยม-มนุษยนิยมในโลกมีอิทธิพลลดลง แล้วเป็นเหตุให้ระบอบโลกาภิบาลอ่อนแอ มีประสิทธิภาพลดลง และ/หรือแปรสภาพไปจากรูปแบบปัจจุบัน
  • เทคโนโลยีในอนาคต: การพัฒนาเทคโนโลยีในอนาคตยังคงมีความไม่แน่นอนสูงว่าจะมีทิศทางอย่างไรและประสบความสำเร็จเพียงใด ในแง่หนึ่ง ความไม่แน่นอนนี้จะส่งผลกระทบต่อปัจจัยกำหนดทั้งสี่ประการที่กล่าวมาข้างต้น ในอีกแง่หนึ่ง จะส่งเป็นเครื่องมือที่ตัวแสดงต่าง ๆ ในระบบการจัดการปกครองของประเทศสามารถนำไปใช้ประโยชน์ เพื่อเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจหน้าที่และความสัมพันธ์ภายในระบบดังกล่าว รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการตอบสนองต่อผลประโยชน์ของประชาชน รับมือกับปัญหาและความท้าทายใหม่ ตลอดจนรับผิดต่อประชาชนอย่างเหมาะสม

      ความไม่แน่นอนในประเด็นการจัดการปกครองในอนาคตส่งผลกระทบต่อทุกตัวแสดง ทุกภาคส่วน และทุกประเด็นวาระในสังคมอย่างสูงสุด เพราะการจัดการปกครองเกี่ยวพันถึงการขับเคลื่อน ควบคุม และบริหารจัดการกิจกรรมในสังคมและประเทศไทยทุกด้าน

NU6 การจัดการปกครองด้านเทคโนโลยี (Governance of Technology)

        การจัดการปกครองด้านเทคโนโลยีอาจนิยามได้ว่าเป็นการจัดระบบในการขับเคลื่อน ควบคุม และบริหารจัดการการวิจัยและพัฒนา การให้บริการ และการใช้งานเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึงกลไกการจัดการความขัดแย้ง กลไกการตัดสินใจ และกลไกความรับผิดของระบบนั้น ควรกล่าวด้วยว่า การจัดการปกครองด้านเทคโนโลยีมิได้หมายถึงเพียงการควบคุมเทคโนโลยีโดยภาครัฐเท่านั้น เพราะในทางปฏิบัติ การจัดการปกครองเป็นกระบวนการปฏิสัมพันธ์ที่ดำเนินผ่านเครือข่ายของตัวแสดงหลากหลาย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาค
ประชาสังคม และภาคประชาชน และทั้งในระดับองค์กร ระดับระบบ ระดับภาคส่วน ระดับประเทศ และระดับโลก

        การจัดการปกครองด้านเทคโนโลยีถือเป็นความไม่แน่นอนในอนาคตสำหรับประเทศไทย กล่าวคือ ประเทศไทยอาจมีการจัดการปกครองที่สามารถรักษาไว้ซึ่งผลประโยชน์แห่งชาติและประชาชน ปรับตัวกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ปัญหา และความท้าทายใหม่ได้อย่างเท่าทัน และรับผิดต่อประชาชน (ทางเลือก Y) หรือ อาจจะไม่สามารถจัดการปกครองที่มีขีดความสามารถข้างต้นได้สำเร็จก็ได้ (ทางเลือก N)

        ความไม่แน่นอนในประเด็นนี้มีคุณสมบัติเช่นเดียวกันกับความไม่แน่นอนสำคัญประการก่อนหน้าทั้งหมด คือ มีระดับความไม่แน่นอนสูง มีขอบเขตของผลกระทบกว้าง มีขนาดของผลกระทบที่มีนัยสำคัญ และมีผลสืบเนื่องที่ลึกซึ้ง ดังนั้น จึงได้รับเลือกให้เป็นปัจจัยความไม่แน่นอนประการสุดท้ายสำหรับการพัฒนาฉากทัศน์ทางเลือกอนาคตของประเทศไทยในโครงการ

        ปัจจัยผันแปรที่ส่งผลให้ทิศทางพัฒนาการของการจัดการปกครองด้านเทคโนโลยีมีความไม่แน่นอนสูงเป็นปัจจัยเดียวกันกับปัจจัยกำหนดความไม่แน่นอนในประเด็นการจัดการปกครองของประเทศ (ดูหัวข้อ 4.1.1.5.) โดยข้อแตกต่างหลักจะอยู่ที่สารัตถะของชุดคุณค่าและบรรทัดฐานที่เกี่ยวข้อง กับความสำคัญพิเศษของปัจจัยเรื่องเทคโนโลยีในอนาคต