จากกระแสการเปลี่ยนแปลงอย่างหลากหลาย ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ทั้งการเข้ามาของเทคโนโลยีใหม่ การเกิดขึ้นของโรคระบาด การมาถึงของ New normal สู่ Next normal ทำให้เกิดความไม่แน่นอน และผันผวนต่อตลาดการค้า และอุตสาหกรรม โดยส่งผลกระทบต่อองค์กร และผู้ประกอบการในตลาดที่จำเป็นต้องปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจหรือกลยุทธ์การวางแผนเพื่อความอยู่รอดและการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) จึงกลายเป็นโจทย์และปลายทางที่หลายองค์กรในปัจจุบันพยายามก้าวไปให้ถึง เนื่องจากองค์กรต้องการความมั่นคงระยะยาวในการประกอบธุรกิจ
การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) เป็นเครื่องมือแห่งอนาคตที่สำคัญในการช่วยยับยั้งและอุดรอยรั่วอันเกิดจากความไม่แน่นอนต่าง ๆ ผ่านการวิเคราะห์ภาพอนาคต และการสร้างกลยุทธ์การจัดการที่ครอบคลุมและยืดหยุ่น (Flexible) ทำให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Dynamic capabilities: DC) ส่งผลให้องค์กรสามารถดำเนินธุรกิจในปัจจุบัน ในขณะเดียวกันก็สามารถปรับธุรกิจให้ตอบสนองกับความไม่แน่นอนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และมีการสร้างแผนการพัฒนาในอนาคต (Future Development) ที่เหมาะสมและมีความยั่งยืน
ทั้งนี้ การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight: SF) กับการเพิ่มขีดความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic capabilities: DC) และกลไกการเรียนรู้ขององค์กร (Organizational Learning: OL) สามารถบูรณาการร่วมกันเพื่อให้องค์กรเกิดการได้เปรียบอย่างยั่งยืน โดยแบ่งออกได้เป็น 2 กระบวนการ ดังนี้
- การเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อมสู่ความทรงจำในอนาคต
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสภาพแวดล้อม เช่น การเปลี่ยนแปลงของแรงงาน การแข่งขันในตลาด การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเปลี่ยนแปลงทางสังคม การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี ฯลฯ ทำให้เกิดผลกระทบอย่างเช่นความไม่แน่นอนต่อสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหล่าผู้ประกอบการต้องเผชิญ การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Foresight) จึงได้มีส่วนเข้ามาช่วยเหลือองค์กรซึ่งจำเป็นต้องปรับตัวเพื่อให้อยู่รอดในตลาดการแข่งขัน ผ่านกระบวนคาดการณ์อนาคตในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การกวาดสัญญาณแนวราบ (Horizon scanning) , การตีความสัญญาณ (Signals) , การวิเคราะห์แนวโน้ม (Trends) และตัวขับเคลื่อนสำคัญอื่น ๆ ที่อาจเป็นผลกระทบสำคัญหรือทิศทางความเปลี่ยนแปลงที่องค์กรอาจต้องเผชิญและเตรียมรับมือในอนาคต ซึ่งองค์กรสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการกระบวนการคาดการณ์อนาคตสร้างเป็นฉากทัศน์เพื่อใช้วางแผนกลยุทธ์ทางธุรกิจได้อย่างครอบคลุมและยืดหยุ่นต่อโอกาสการเปลี่ยนแปลง

อีกทั้งการคาดการณ์อนาคตเป็นเสมือนเลนส์ที่ช่วยให้องค์กรมองทะลุความคลุมเครือของปัจจุบันไปสู่การระบุโอกาสและทิศทางการพัฒนาของเรื่องราวต่าง ๆ ก่อนจะกลายเป็นประเด็นหลักที่ต้องรับมือในอนาคต (Future events) ทำให้สามารถตอบสนองพร้อมเรียนรู้ต่ออนาคตได้อย่างรวดเร็วและเผชิญกับการแข่งขันที่ไม่รุนแรงเท่าองค์กรอื่นที่ยังไม่มีการคำนึงถึงอนาคตมากนัก รวมถึงการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ยังช่วยสร้างความทรงจำในอนาคต (Memory of the Future) ซึ่งเป็นส่วนช่วยให้เกิดกลไกการเรียนรู้ภายในองค์กร (Leaning mechanism) ซึ่งทำให้องค์กรมีความเข้าใจประสบการณ์ในอดีต และมีความเชื่อมโยงกับอนาคตผ่านกระบวนการอนาคต เช่น การสร้างฉากทัศน์ (Scenario Process) และการสร้างแผนที่นำทาง (Roadmap) ดังนั้น เมื่อองค์กรสามารถแปรเปลี่ยนความไม่แน่นอนทางสภาพแวดล้อมให้เป็นความทรงจำในอนาคตผ่านกระบวนการเรียนรู้ได้ ก็จะช่วยให้องค์กรมีพื้นฐานข้อมูลที่ดีและพร้อมสำหรับการนำไปใช้เพื่อปรับพัฒนารูปแบบธุรกิจในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่งผลให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic capabilities: DC) ขององค์กร

- กลไกการเรียนรู้สู่การได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน
เมื่อเกิดการสร้างกลไกการเรียนรู้ขององค์กร (Organizational Learning: OL) ขึ้นอย่างเป็นระบบผ่านกระบวนการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ จะช่วยขยายขอบเขตการเรียนรู้และความรู้ขององค์กรให้กว้างขึ้นเนื่องจากเปิดโอกาสให้มีการคิดอย่างหลากหลายและถูกท้าทายจากสมมติฐานดั้งเดิมรวมถึงความเชื่อในปัจจุบัน ส่งผลให้ขีดความสามารถด้านการคิดเชิงระบบ (Systems thinking) ภายในองค์กรเพิ่มสูงขึ้น โดยองค์กรสามารถเรียนรู้จุดบอด (Blind Spots) ของแผนการบริหารทางธุรกิจของตน สร้างแบบจำลองความคิดเพื่อวิเคราะห์ปัญหาและรูปแบบธุรกิจต่าง ๆ (Mental Models) รวมถึงเติมเต็มช่องว่างทางความรู้ (Knowledge Gaps) ขององค์กรได้ ซึ่งเมื่อพบกับความไม่แน่นอนทางสภาพแวดล้อม (Environmental uncertainty) องค์กรที่มีการใช้การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์และกลไกการเรียนรู้ที่ดีจะสามารถปรับตัวได้ไว เนื่องจากมีความทรงจำในอนาคตของเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้น อีกทั้งองค์กรยังสามารถเป็นผู้เริ่มต้นค้นหาแหล่งทรัพยากรใหม่ที่สามารถนำมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ทางการแข่งขันได้ก่อนองค์กรอื่นหรือสามารถเลือกใช้แหล่งทรัพยากรได้อย่างหลากหลายเพื่อเพิ่มความได้เปรียบทางการแข่งขันและเพิ่มโอกาสในการตอบสนองกระแสความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม หลังจากตัดสินใจเลือกแหล่งทรัพยากรใหม่ องค์กรจะถูกท้าทายความสามารถในการปรับใช้แผนธุรกิจหรือองค์ความรู้ใหม่นั้นว่าจะสามารถลงมือปฏิบัติให้เกิดผลได้จริงหรือไม่ ซึ่งความสามารถในการลงมือปฏิบัติให้เกิดผลจริงนั้นมีผลเชื่อมโยงโดยตรงต่อขีดความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic capabilities: DC) เพราะองค์กรที่มีความสามารถในการตอบสนองต่อตลาดและเครือข่ายอุตสาหกรรมผ่านการจัดการเชิงกลยุทธ์ด้านทรัพยากร ร่วมกับการมีแผนการจัดการทรัพยากรที่มีประสิทธิภาพจะช่วยเสริมโอกาสในการลงมือปฏิบัติแผนทางธุรกิจให้เกิดผลลัพธ์เชิงประจักษ์ องค์กรจึงต้องเพิ่มขีดความสามารถเชิงพลวัต (DC) ควบคู่กับการสร้างกลไกทางการเรียนรู้ (OL) เพื่อให้บรรลุตามแผนธุรกิจที่ตั้งไว้
การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์มีวิธีการอย่างหลากหลายในการช่วยพัฒนาให้องค์กรมีความพร้อมรับมือกับเปลี่ยนแปลงในอนาคต ซึ่งนำไปสู่การเป็นองค์กรที่มีสมรรถนะสูง (High Performance Organization) มีกลยุทธ์ทางธุรกิจที่พร้อมตอบสนองทิศทางการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและผู้บริโภค หรือแม้แต่การแข่งขันกันภายในตลาด โดยองค์กรที่มีการใช้การคาดการณ์อนาคตมักจะสามารถรับมือกับอนาคตที่ผันผวนได้ดี และมีความสามารถในการปรับตัวให้อยู่รอดสูงกว่าองค์กรทั่วไป ทั้งการปรับตัวในระดับการผลิตโดยการปรับขยายฐานทรัพยากร การเลือกใช้แหล่งทรัพยากรใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ และยกระดับการบริการ พร้อมทั้งมองเห็นโอกาสในการเปลี่ยนแปลงของกระแสสังคม ไปจนถึงการปรับตัวให้เข้ากับความต้องการของกลุ่มผู้บริโภค ทำให้องค์กรมีขีดความสามารถที่สูงขึ้นควบคู่กับการได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืน
การบูรณาการคาดการณ์อนาคตเชิงกลยุทธ์ (Strategic Foresight: SF) ร่วมกับการเพิ่มขีดความสามารถเชิงพลวัต (Dynamic capabilities: DC) และกลไกการเรียนรู้ขององค์กร (Organizational Learning: OL) จึงมีประโยชน์ต่อการพัฒนาธุรกิจทั้งการเป็นเครื่องมือเพื่อช่วยสร้างกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรต่อเหตุการณ์ปัจจุบัน และการสร้างความทรงจำในอนาคตเพื่อศึกษาและสร้างแผนการดำเนินธุรกิจที่พร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม ซึ่งการผสานใช้การคาดการณ์อนาคตเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรจะทำให้เกิดแรงผลักดันทางการพัฒนาในเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการค้นหาสัญญาณ (Signals)และแนวโน้ม (Trends) ต่าง ๆ จึงทำให้องค์กรนั้นเกิดการพัฒนาทางธุรกิจอย่างต่อเนื่อง มีการพัฒนาและได้เปรียบทางการแข่งขันอย่างยั่งยืนสูงกว่าองค์กรทั่วไป