ค้นหาสัญญาณ คาดการณ์อนาคต

เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ยังไม่เกิด การพยากรณ์จึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก การกวาดหาสัญญาณแนวราบ (Horizon Scanning) จะช่วยให้เราสามารถคาดการณ์อนาคต ได้แม่นยำยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจหรือบริษัทที่ต้องเตรียมการ สำหรับอนาคตที่ไม่แน่นอนนี้ การกวาดสัญญาณต้องทำแบบไหน แล้วสัญญาณแบ่งออกเป็นกี่ประเภท ติดตามไปพร้อมกัน

การกวาดหาสัญญาณแนวราบ (Horizon Scanning) เป็นการหาสัญญาณอ่อนๆที่อาจจะกลายมาเป็นแนวโน้มหรือไม่ก็ได้ ตรวจดูว่าในอนาคตจะมีอะไรบ้าง ซึ่งการกวาดหาสัญญาณแนวราบเปรียบเสมือนจุดเริ่มต้นการมองอนาคต เพื่อให้ง่ายต่อการวางแผนเพื่อเข้าสู่เป้าหมายในอนาคตที่ต้องการในการตามหาประเด็นใหม่ๆ

การกวาดสัญญาณสามารถทำได้หลายวิธี โดยการใช้การสำรวจสภาพแวดล้อมต่อไปนี้ เช่น PESTEL (Politic, Economic, Social, Technological, Environmental, Legal), STEEP (Social, Technological, Environment, Economic, Political) และหากต้องการเพิ่มประเด็นในมิติอื่นๆ เช่น ด้านการทหาร (Military) ประชากร (Demographic) หรือ ประเด็นเกี่ยวกับคุณค่า (Values) ก็สามารถทำได้ (STEEP-M, STEEPLED, STEEP-V) ศึกษามิติอื่นเพิ่มตามเป้าหมายที่เราสนใจ ซึ่งประเด็นปัจจัยด้านต่างๆที่แยกออกมาล้วนกระทบถึงกัน สิ่งสำคัญคือ ต้องวิเคราะห์ว่าเรื่องใดมีความเป็นไปได้ที่จะเป็นปัจจัยขับเคลื่อน และมีผลกระทบต่ออนาคตที่ต้องการมากที่สุด โดยการกวาดสัญญาณแนวราบจะนำไปสู่การทำฉากทัศน์ (Scenario)

สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่จัดตั้งหน่วยงานบริหารความเสี่ยงแห่งชาติหรือหน่วยงานอนาคตศาสตร์สำเร็จ สำนักนายกรัฐมนตรีสิงคโปร์มี 2 หน่วยงาน หน่วยงานแรกชื่อว่า RAHS เป็นคณะกรรมการร่วมระหว่างกระทรวงกลาโหมกับสำนักนายกฯ ทำการประเมินความเสี่ยง กับ Horizon Scanning (การกวาดสัญญาณแนวราบ) โดยบริษัท (โนวิสเคป) ทำเป็นหลัก

การกวาดสัญญาณคือการตามหาสัญญาณอ่อนๆ (Weak Signals) เพื่อดูว่ามีเหตุการณ์อะไรน่าสนใจบ้างประมาณ 2-3 เหตุการณ์และต้องเป็นเหตุการณ์ที่ไม่ได้มีอยู่ทั่วไปหรือเป็นกระแสหลักอยู่ตอนนี้ เมื่อมีเหตุการณ์ดังกล่าวซ้ำขึ้นเรื่อยๆ จะกลายเป็นสัญญาณที่กระเพื่อมแรงขึ้น แสดงว่าสัญญาณอ่อนๆที่เราจับตาดูเอาไว้ได้แปลเปลี่ยนกลายเป็นแนวโน้ม (Trend) การกวาดสัญญาณแนวราบจะช่วยให้องค์กรหรือประเทศมั่นใจในกลยุทธ์หรือนโยบายต่างๆว่าสามารถรับมือกับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาในอนาคตที่แตกต่างไปจากเดิมได้

สามารถจำแนกสัญญาณได้เป็น 3 ประเภท
1. ประเด็นเกิดใหม่ (Emerging issues) คือ เรื่องที่ยังไม่เป็นที่รู้จัก มีผลกระทบได้ทั้งแง่บวกและลบ เช่น คนจบปริญญากลับไปทำสวน การใช้สื่อโซเชียลมีเดีย เป็นต้น
2. แนวโน้ม (Trend) คือ แนวโน้มหรือทิศทางของเหตุการณ์ที่อาจหวนคืนกลับใหม่มาอีกครั้ง เช่น นิยมครอบครัวขนาดเล็ก การแต่งหน้าตามดาราเกาหลี เป็นต้น
3. ปรากฏการณ์ที่ไม่คาดคิด (Wild Card) คือ เหตุการณ์น่าตกใจประหลาดใจ หรือทฤษฎีหงส์ดำ ที่นิยามว่าสิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าจะไม่เกิด เช่น การแพร่ระบาดโควิด สงครามโลกครั้งที่ 1 เป็นต้น