จับเวลาสามมุม…หาสิ่งกุมชะตาอนาคต

แม้อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยาก แต่ก็มีนักปราชญ์หลายท่าน ได้กล่าวไว้ว่าอนาคต มีความเชื่อมโยงกับปัจจุบัน แต่มนุษย์มักจะมองข้าม ปัจจัยที่เชื่อมโยงปัจจุบันไปสู่อนาคต ดังเช่นที่ William Gibson ได้กล่าวไว้ว่า “อนาคตมีอยู่ในปัจจุบันเพียงแต่ปรากฎอยู่เพียงในบางสถานที่ (ซึ่งไม่ได้มีคนเห็นทุกคน)” หรือ Riel Miller ได้กล่าวไว้ว่า“อนาคตมีเค้าลางหรือร่องรอยอยู่ในปัจจุบันที่สามารถสืบหาไปสู่อนาคต”

การคาดการณ์อนาคตโดยเชื่อมโยงจากสิ่งที่มีอยู่ในอดีตและปัจจุบัน ต้องใช้ทักษะความสามารถทั้งศิลป์และศาสตร์ กล่าวคือ การคาดการณ์อนาคตต้องใช้ทักษะการคิดเชิงจินตนาการหรือการคิดเชิงสร้างสรรค์ เพื่อลดการมองข้ามปัจจัยสำคัญหรือการประเมินผลกระทบในอนาคตในกรอบที่แคบเกินไปตามความเชื่อหรือแนวคิดในอดีต หรือมองข้ามปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบต่างๆที่เกิดขึ้นในขณะเดียวกัน นอกจากนี้การคาดการณ์อนาคตยังต้องใช้ทั้งทักษะการคิดเชิงระบบและการคิดเชิงวิพากษ์ เพื่อให้สามารถแยกแยะปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อการเปลี่ยนแปลงในอนาคต และป้องกันการตีความผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตเกินกรอบความเป็นไปได้

การคาดการณ์อนาคตที่เป็นไปได้ (Plausible Future) ซึ่งอยู่ตรงกลางระหว่างการคาดการณ์อนาคตแบบแคบหรืออนาคตที่น่าจะเป็นมากที่สุด (Probable Future) กับการคาดการณ์อนาคตแบบกว้างหรืออนาคตที่เป็นไปได้ทั้งหมด (Possible Future) จำเป็นต้องลดความคาดเคลื่อนสุดโต่งสองด้าน คือ ความคาดเคลื่อนจากการประมาณการณ์ที่สูงเกินไป (Overprediction) และความคาดเคลื่อนจากการประเมินปัจจัยและผลกระทบที่ต่ำเกินไป (Underprediction)
การคาดการณ์อนาคตที่เป็นไปได้ (Plausible Future) จึงจำเป็นต้องคำนึงถึงปัจจัยที่เป็นตัวกำหนดอนาคตให้ครบถ้วนอย่างรอบด้านทั้งกลุ่มปัจจัยที่เป็น แรงดึง (Pull) แรงส่ง (Push) และแรงหน่วง (Weight) ต่อการเปลี่ยนแปลงของอนาคต Prof.Sohail Inayatullah จึงได้แนะนำแนวคิดสามเหลี่ยมอนาคตหรือ Future Triangle ไว้ในหนังสือ Questioning the Future ในปี ค.ศ. 2002

สามเหลี่ยมอนาคต (Future Triangle) เป็นทั้งกรอบแนวคิดในการประเมินภาพอนาคต และยังเป็นเครื่องมือในการระดมความคิดเพื่อสร้างภาพอนาคต โดยมีฐานคิดว่าอนาคตถูกกำหนดจากพลังของแรงสามกลุ่ม คือ (1) แรงผลักดันจากปัจจุบัน (Push of the Present) ซึ่งก่อให้เกิดแนวโน้มของพัฒนาการหรือสืบเนื่องที่จะเกิดขึ้นในอนาคต (2) แรงดึงดูดจากความจำเป็นหรือความต้องการของอนาคต (Pull of the Future) และ (3) แรงหน่วงจากอดีต (Weight of History) ซึ่งเป็นเสมือนข้อจำกัดในเชิงฐานคิดหรือข้อจำกัดเชิงระบบที่ฉุดรั้งและต้านทานการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่ออนาคต

Push of the Present เป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน (ซึ่งมักสืบเนื่องมาจากอดีตด้วย) และจะมีผลสืบเนื่องต่อไปในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงอัตราการเกิดและอัตราการเสียชีวิตในปัจจุบันย่อมส่งผลต่อโครงสร้างประชากรในอนาคต หรือความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในปัจจุบันที่มีแนวโน้มพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในอัตราเร่งและมีแนวโน้มสามารถหลอมรวมกับเทคโนโลยีอื่นๆได้ย่อมส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีในอนาคต ความเสื่อมโทรมทางสภาวะแวดล้อมในปัจจุบันย่อมส่งผลถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เป็นต้น
Pull of the Future เป็นแรงดึงดูดในเชิงความปรารถนาจากอนาคต โดยอาจเป็นความปรารถนาต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเพื่อให้สังคมในอนาคตมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น (Gain Creator) เช่น ใช้เวลาที่ลดลง มีต้นทุนที่ลดลง มีความสะดวกมากขึ้น เป็นต้น หรือเพื่อให้สังคมในอนาคตไม่เกิดผลลบตามที่คาดการณ์ไว้ (Pain Reliever) เช่น ลดความเสี่ยงจากสภาวะโลกร้อน ป้องกันภัยชนิดใหม่ที่เกิดขึ้นได้ ป้องกันหรือบรรเทาปัญหาสังคม ลดปัญหาการว่างงานหรือสภาวการณ์ที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตนไร้ประโยชน์ เป็นต้น

Weight of History เป็นสิ่งที่หน่วงหรือฉุดรั้งไม่ให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือชะลอการเปลี่ยนแปลง ทำให้การเปลี่ยนแปลงต้องใช้ระยะเวลาที่นานขึ้นหรือไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ปัจจัยหน่วงเหล่านี้มักจะมีน้ำหนักมากจากการที่ปัจจัยเหล่าได้หยั่งรากลึกเป็นระยะเวลานาน เช่น ฐานคิดต่อสิ่งที่ให้คุณค่า แนวคิดและระบบกฎหมาย ระบบราชการ ระบบความเชื่อ ค่านิยมของคนในสังคม ความไม่ไว้วางใจและความขัดแย้งทางสังคม หรือวัฒนธรรมขององค์กรที่เน้นการทำงานแบบแยกส่วน เป็นต้น

องค์ประกอบของแต่ละมุมในสามเหลี่ยมอนาคตมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ทั้งในทิศทางที่เสริมพลังให้แก่กันและกันหรือการลดทอนพลังของแรงอื่นๆ โดยปฏิสัมพันธ์สามด้านที่สำคัญคือ (ก) ปฏิสัมพันธ์ที่ระหว่างแรงผลักดันของปัจจุบันกับแรงดึงของอนาคตที่อาจเสริมกันและเป็นตัวเร่งการเปลี่ยนแปลง เช่น พัฒนาการของเทคโนโลยีด้านต่างๆ กับแรงดึงดูดในอนาคตที่ เป็นต้น

6033369779ee200bf410b0df_800x0xcover_2-CRGHPL

ส่วน (ข) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงผลักดันของปัจจุบันกับแรงหน่วงจากอดีตมักจะเป็นไปในทางตรงกันข้ามกัน เช่น การแลกเปลี่ยนทางเศรษฐกิจและความคิดเห็นผ่านทางแพลตฟอร์มดิจิทัล การให้คุณค่ากับความเป็นธรรม การมีส่วนร่วม และความโปร่งใสที่มากขึ้น อาจต้องเผชิญกับแรงต่อต้านจากฐานความเชื่อเรื่องการรักษาฐานอำนาจและความมั่นคง ระบบอุปถัมภ์ และการให้ความสำคัญกับความศรัทธาต่อผู้นำมากกว่าผลลัพธ์เชิงประจักษ์ เป็นต้น ดังนั้นอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดมากกว่ากันย่อมขึ้นอยู่กับว่าแรงผลักดันการเปลี่ยนแปลงของปัจจุบันจะมีพลังมากหรือน้อยกว่าแรงหน่วงจากอดีต

ปฏิสัมพันธ์รูปแบบสุดท้ายคือ (ค) ปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงดึงจากอนาคตกับแรงหน่วงจากอดีตมักจะมีผลในทางตรงกันข้ามกัน เช่น ระบบการดูแลผู้สูงอายุในศูนย์ผู้สูงอายุหรือด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเพื่อประสิทธิภาพและประสิทธิผลกับค่านิยมซึ่งอาจตรงกันข้ามหลักคิดด้านความกตัญญูที่ลูกหลานต้องตอบแทนพระคุณและให้การเลี้ยงดูบุพการียามแก่เฒ่า หรือการส่งเสริมให้มีการใช้เงินสกุลดิจิทัลที่มีความปลอดภัยด้วยเทคโนโลยีบล็อกเชนซึ่งอาจขัดแย้งความเชื่อเรื่องทรัพย์สินที่จับต้องได้ย่อมมีความปลอดภัยมากที่สุด หรือ การส่งเสริมและความต้องการใช้รถยนต์พลังงานไฟฟ้าขับเคลื่อนด้วยตัวเองอาจต้องเผชิญกับความกังวลต่อการล้มละลายของกิจการในโซ่การผลิตของรถยนต์พลังงานสันดาบ ความกังวลต่อการว่างงานของพนักงานขับรถ และความไม่พร้อมของกฎหมายและระบบสาธารณูปโภค หรือ พัฒนาการด้านเทคโนโลยีอาจทำให้หุ่นยนต์สามารถวินิจฉัยและรักษาโรคให้กับมนุษย์ได้ในอนาคต แต่ฐานกฎหมายหรือความเชื่อของคนในสังคมอาจเป็นสิ่งหน่วงรั้งไม่ให้เกิดขึ้นได้ เป็นต้น ซึ่งในกรณีนี้แรงดึงจากอนาคตจะสามารถเอาชนะหรือก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ในอนาคตจริงหากมีพลังมากกว่าแรงหน่วงจากอดีต เช่น ผลประโยชน์ที่สังคมได้รับมีค่ามากกว่าความสูญเสียหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจน หรือพลังของกลุ่มผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือกระแสสนับสนุนมีน้ำหนักมากกว่ากลุ่มที่ต่อต้านการเปลี่ยนแปลง เป็นต้น

นอกจากการพิจารณาถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงทั้ง 3 แล้ว การคาดการณ์อนาคตยังควรต้องคำนึงถึงปฏิสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยต่างๆในแต่ละแรงประกอบด้วย ทั้งนี้ปัจจัยที่มีผลต่ออนาคตที่อยู่ในแต่ละแรงอาจมีความสัมพันธ์ได้ทั้งในรูปแบบที่เสริมกันหรือหักล้างกัน หากพบว่าปัจจัยที่มีผลต่ออนาคตซึ่งอยู่ภายในแต่ละกลุ่มแรงมีปฏิสัมพันธ์ที่เสริมกัน (เช่น ในแรงผลักดันของปัจจุบัน ปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีต่างๆมีความสัมพันธ์ที่เสริมกันและกัน หรือระหว่างปัจจัยแนวโน้มการลดลงของประชากรวัยแรงงานกับปัจจัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีอัตโนมัติและปัญญาประดิษฐ์ เป็นต้น) ก็จะทำให้แนวโน้มในเรื่องนั้นมีน้ำหนักความเป็นไปได้ที่มากขึ้นโดยอาจทำให้ประเด็นนั้นๆเปลี่ยนจากสัญญาณ (Signal) เป็นแนวโน้ม (Trend) หรือเป็นแรงขับเคลื่อนอนาคต (Driver)

ในทางตรงกันข้ามหากพบว่าปัจจัยภายในแต่ละกลุ่มแรงมีปฏิสัมพันธ์ในทิศทางที่หักล้างหรือตรงกันข้ามกัน (เช่น ในแรงผลักดันของปัจจุบัน ระหว่างปัจจัยความต้องการข้อมูลที่มากขึ้นเพื่อความแม่นยำในการเรียนรู้ของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) กับปัจจัยการให้ความสำคัญต่อข้อมูลและสิทธิส่วนบุคคลที่มากขึ้น หรือระหว่างปัจจัยค่านิยมเรื่องคุณธรรมความดีกับปัจจัยความต้องการร่ำรวยรวดเร็วและให้ความสำคัญกับวัตถุมากกว่าจิตใจ เป็นต้น) ส่งผลให้ไม่สามารถทำนายอนาคตได้อย่างแน่นอนว่าอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบใด โดยหากความไม่แน่นอนดังกล่าวมีน้ำหนักความสำคัญสูงต่อหน่วยวิเคราะห์ ประเด็นความไม่แน่นอนดังกล่าวก็จะถูกนำไปใช้กำหนดเป็นประเด็นความไม่แน่นอนหลัก (Key Uncertainty) เพื่อใช้ประกอบการออกแบบโครงสร้างภาพอนาคตที่เป็นไปได้ในรูปแบบต่างๆ (Scenario Planning)

จากเนื้อหาทั้งหมด สรุปได้ว่าอนาคตถูกกำหนดจากปัจจัยที่หลากหลายภายใต้สามกลุ่มแรงคือ แรงผลักดันจากปัจจุบัน แรงดึงจากอนาคต และแรงหน่วงหรือแรงต้านจากอดีต ภาพอนาคตจะเป็นอย่างไรขึ้นอยู่กับความแตกต่างของระดับอิทธิพลของแรงผลักดันและแรงดึงว่ามีมากหรือน้อยกว่าแรงหน่วงหรือแรงต้าน นอกจากนี้การวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่ออนาคตซึ่งอยู่ภายในแต่ละกลุ่มแรงยังช่วยทำให้เกิดการค้นพบปัจจัยแนวโน้ม (Trends) หรือแรงขับเคลื่อนอนาคต (Drivers) และปัจจัยความไม่แน่นอน (Uncertainty) การวิเคราะห์และทำความเข้าใจต่อแรงทั้งสาม ปฏิสัมพันธ์ของปัจจัยภายในแรงทั้งสาม และปฏิสัมพันธ์ระหว่างแรงทั้งสามย่อมช่วยทำให้การคาดการณ์อนาคตมีความคาดเคลื่อนลดลงได้
ขอให้ทุกท่านและองค์กรของทุกท่านมีความพร้อมต่ออนาคตครับ

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
Future Intelligence & Strategy (FuturISt)
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์