เมื่อสังคมบริโภคนิยม ในประเทศจีน ได้กลายเป็นความท้าทายอีกประการของประเทศ ความมั่นคงด้านอาหาร จึงเป็นประเด็นที่รัฐบาลจีนหันมาให้ความสำคัญ
ภาพอนาคตของความมั่นคงทางอาหารในประเทศจีนจะเป็นอย่างไร หาคำตอบได้จาก ผศ.ดร.หลี่ เหรินเหลียง
จาก “กินเกลี้ยงชาม” สู่ความมั่นคงทางอาหารของจีน
เป็นที่ทราบกันว่าประเทศจีนใช้ร้อยละ7 ของที่ดินเพาะปลูกเลี้ยงประชากรกว่าร้อยละ 20 ของประชากรโลก ดังนั้น ความมั่นคงด้านอาหารเป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ของจีน เมื่อเดือนมกราคม ปี 2013 ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงได้แสดงปาฐกถาพิเศษเรียกร้องให้คนในชาติต้องประหยัด ต่อต้านการฟุ่มเฟือย ตั้งแต่นั้นมาทั้งร้านอาหารโรงเรียน มหาวิทยาลัย โรงแรม มีการรณรงค์ “กินเกลี้ยงจาน” ล่าสุดเดือนสิงหาคมปี 2020 ที่ผ่านมา ประธานาธิบดี สี จิ้นผิงเน้นย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า “เห็นการกินทิ้งกินขว้าง ทำให้ตนเจ็บใจนัก” ความมั่นคงด้านอาหารได้รับความสนใจจากสังคมจีนอีกครั้งหนึ่ง
สถานการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในอดีตและปัจจุบัน
ตั้งแต่ประเทศจีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 เป็นต้นมา การผลิตพืชธัญหารของจีนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น จากการผลิตพืชธัญหารรวม 304 ล้านตันในปี 1978 มาเป็น 446 ล้านตันในปี 1990 และเพิ่มถึง 500 ล้าน ตันในปี 1996 จากนั้นมีช่วงหนึ่งที่มีผลผลิตลดน้อยลงจนถึงจุดต่ำสุดในปี 2003 และเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดปี 2019 ผลผลิตรวมถึง 663 ล้านตัน และทำให้การบริโภคธัญหารของคนจีนอยู่ที่ 470 กิโลกรัมต่อคนต่อปี ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยเส้นความมั่นคงด้านธัญหารโลก 400 กิโลกรัมต่อคนต่อปี พืชการเกษตรหลักที่คนจีนบริโภคได้แก่ ข้าว ข้าวสาลีและข้าวโพด มีมากเพียงพอให้คนจีนบริโภคภายในประเทศมากกว่าร้อยละ 98 มีการนำเข้าจากต่างประเทศร้อยละ 2 ซึ่งประเทศจีนรักษาอัตรานี้ไว้ตลอด (ภาพประกอบภาพที่ 1-2)


สาเหตุที่ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้น
ผลผลิตทางการเกษตรเพิ่มขึ้นมาจากสาเหตุหลักๆ 4 ประการ
- ประการแรกคือ ประเทศจีนดำเนินนโยบายปฏิรูป จัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำมาหากิน และยกเว้นภาษีรายได้การเกษตรกรรม ทำให้เกษตรกรมีความกระตือรืนร้นในการทำการเกษตร
- ประการที่สอง รักษาไว้ซึ่งที่ดินเพาะปลูกแม้ประเทศจีนในหลายสิบปีที่ผ่านมา มีการก่อสร้างโรงงาน ขยายเมืองมากขึ้นก็ตาม แต่จีนขีดเส้นใต้ไว้ต้องรักษาที่ดินเพาะปลูกไม่น้อยกว่า 760 ล้านไร่ ดังนั้นต้องอาศัยการปรับปรุงที่ดินซึ่งเดิมอาจเป็นทะเลทรายให้เหมาะกับการทำเกษตรกรรม
- ประการที่สามคือ ใช้เทคโนโลยี เครื่องจักรทางการเกษตรมากขึ้น ทำให้มีผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
- ประการที่สี่ เนื่องจากการปลูกถั่ว อ้อยน้ำตาล และฝ้ายมีต้นทุนสูง ดังนั้นจีนจึงลดพื้นที่การปลูกถั่ว อ้อย และฝ้าย เป็นต้น เพื่อหันมาปลูกข้าว ข้าวโพดและข้าวสาลีแทน ในขณะเดียวกันเพิ่มการนำเข้าถั่วเหลืองจากอเมริกาแทน ตามสถิติของสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน ปี 2001 จีนมีพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองอยู่ 59 ล้านไร่ พอมาถึงปี 2012 พื้นที่ปลูกลดลงเหลือ 44 ล้านไร่ ปี 2002 จีนนำเข้าถั่วเหลืองจากอเมริกาอยู่ที่ 10 ล้านตัน พอถึงปี 2019 จีนนำเข้าถั่วเหลืองมากถึง 94 ล้านตัน เพิ่มขึ้นถึง 9.5 เท่า คิดเป็นร้อยละ 90 ที่มีการนำเข้าจากต่างประเทศ
ความท้าทายความมั่นคงด้านอาหาร
ผลผลิตทางการเกษตรไม่ใช่ความท้าทายหลักสำหรับประเทศจีน ความท้าทายที่สำคัญที่สุดได้แก่ เมล็ดพันธุ์ Monsanto, DuPont, Syngenta สามบริษัทของสหรัฐอเมริกาได้ควบคุม 1 ใน 3 ของการจำหน่ายเมล็ดพันธุ์โลก ตั้งแต่ปี 2000 เป็นต้นมา การนำเข้าเมล็ดพันธุ์เริ่มเพิ่มมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ จาก 77.4 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2000 เป็น 301 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ในปี 2010 ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมาสัดส่วนการนำเข้ามีมากกว่าร้อยละ 90 และตั้งแต่ปี 2010 ถึงปี 2020 สัดส่วนการนำเข้ามีมากกว่าร้อยละ 80 ความท้าทายความมั่นคงด้านอาหารนอกจากเมล็ดพันธุ์ดังที่กล่าวมา ยังมีความท้าทายที่สำคัญอื่นๆ เช่น เครื่องจักรการเกษตร ปุ๋ย ยาและการบริการจัดการที่ทันสมัยสำหรับฟาร์มขนาดใหญ่ จีนยังต้องนำเข้าเครื่องจักรการเกษตรที่มีความทันสมัยจากอเมริกาและยุโรป จีนมีการใช้ปุ๋ย ยาต่อหน่วยเป็น 6 เท่าของค่าเฉลี่ยโลก จีนมีจำนวนประชากรมาก ที่ดินน้อย ดังนั้น ส่วนใหญ่เป็นการทำไร่ทำนาแปลงเล็กทำให้มีต้นทุนสูงในการทำการเกษตร
ความมั่นคงด้านอาหารในอนาคต (ปี 2020-2030)
มีนักวิชาการจากกรมสารสนเทศ กระทรวงการเกษตรของจีนอาศัยตัวแบบ CAMES คำนวณและคาดการณ์ความมั่นคงด้านอาหารในอนาคตของจีน
1) ขีดความสามารถในการผลิตอาหารของจีนเพิ่มสูงขึ้น พื้นที่ปลูกคงที่และมีการลดลงเล็กน้อย แต่ผลผลิตต่อไร่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ผลผลิตโดยรวมเพิ่มขึ้นเล็กน้อย น้อยกว่าร้อยละ 1 ต่อปี คาดการณ์ว่าปี 2030 ผลผลิตของข้าวมากกว่า 200 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 ต่อปี ผลิตข้าวสาลี 135 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.13 ต่อปี
2) ใน 10 ปีข้างหน้า การบริโภคข้าว และข้าวสาลีเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.4 และร้อยละ 11.8 ตามลำดับ เนื่องจากโครงสร้างการบริโภคเปลี่ยนไปทำให้อาหารสัตว์มีความต้องการเพิ่มมากขึ้น ทำให้การบริโภคข้าวโพดและถั่วเหลืองเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.7 และ14.5 ตามลำดับ
3) การนำเข้าจากต่างประเทศหลากหลายมากขึ้น จีนจะรักษาความเป็นคู่ค้าสำคัญกับอเมริกา บราซิล อาเซียน สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย และประเทศอื่นบน “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” คาดว่าปริมาณการนำเข้าของข้าวสาลีและข้าวโพดเพิ่มขึ้นร้อยละ 67.1 และ 74.6 คาดการณ์ว่าปี 2030 จีนนำเข้าข้าวสาลีเป็น 5.83 ล้านตัน มีการนำเข้าข้าวโพด 6.48 ล้านตัน ผลิตถั่วเหลืองภายในประเทศ 22 ล้านตัน ความต้องการใช้ถั่วเหลือง 112 ล้านตัน จะมีการนำเข้าถั่วเหลืองมากถึง 99.52 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 7.5
4) ตั้งแต่ปี 2020 ถึงปี 2030 ข้าว ข้าวสาลีเน้นการผลิตภายในประเทศเป็นหลัก ดังนั้นราคาข้าว ข้าวสาลีเป็นไปตามปัจจัยการผลิตและกลไกการตลาด อาหารสัตว์เช่นข้าวโพดจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่อัตราเพิ่มไม่มาก ถั่วเหลืองต้องอาศัยการนำเข้าเป็นหลัก ราคาจะขึ้นอยู่กับประเทศผู้ส่งออกและราคาในตลาดโลก
ความมั่นคงด้านอาหารเป็นการคาดการณ์ใน 10 ปีข้างหน้า ข้อมูลข้างต้นเป็นการคาดการณ์ที่อาศัยข้อมูลที่เป็นจริงทั้งการผลิตและบริโภคอาหารในอดีตและปัจจุบัน เป็นการคาดการณ์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด อย่างไรก็ดี จีนถือคติโดยตลอดมาว่า “ชามข้าวของคนจีนต้องอยู่ในมือของตัวเอง” จีนต้องดูแลอาหารของคนจีนเอง กุมชะตากรรมความมั่นคงด้านอาหารของจีนเองให้ได้
บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หลี่ เหรินเหลียง
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนา คณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคมภาคพิเศษ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)