สัปดาห์นี้เราจะพาท่านมาทำความเข้าใจว่า ทำไมองค์กรต้องมองภาพอนาคต แล้วกระบวนการมองอนาคต เมื่อประยุกต์ใช้กับองค์กรจะทำให้เกิดประโยชน์อะไรขึ้นได้บ้าง ติดตามไปพร้อมๆ กัน
วันเวลาผ่านไป หลายสิ่งหลายอย่าง ได้เกิดการพัฒนาเปลี่ยนแปลงเพิ่มมากขึ้น นวัตกรรมใหม่ๆ เกิดเพิ่มมากขึ้นเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา สิ่งประดิษฐ์หลายอย่างที่ถูกมองข้าม หรือเคยถูกมองว่าเป็นไปไม่ได้ กลับปรากฏขึ้นจริงในปัจจุบัน
การเข้าใจอนาคต จะช่วยให้เราจัดลำดับความสำคัญทางกลยุทธ์ได้ดี เข้าใจว่ากลยุทธ์ใดสามารถใช้ได้ ในสภาพแวดล้อมแบบไหน เพราะอนาคตมีความไม่แน่นอน เมื่อองค์กรมองเห็นภาพอนาคต ภายใต้ฉากทัศน์ที่มีสภาพแวดล้อมหลากหลาย ก็จะเป็นเรื่องง่ายในการไปออกแบบอนาคตที่พึงประสงค์เพื่อไปสู่เป้าหมายขององค์กร
การทำ foresight หรือการมองอนาคตช่วยให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพราะองค์กรสามารถจัดสรรตัวเลือกการตัดสินใจได้อย่างเป็นระบบมากขึ้น ไม่เสียเวลาและทรัพยากรไปกับสิ่งที่เป็นประโยชน์น้อย (irrelevant) ในอนาคต และไม่สูญเสียโอกาสที่เกิดขึ้นภายหลังจากการไม่ตัดสินใจศึกษาการเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปได้และวางแผนรอบรับอนาคต แต่ต้องมาจัดการหลังที่สถานการณ์ได้เกิดขึ้นไปแล้ว
การมองอนาคตจึงเปรียบเสมือนการวางแผนการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ภายใต้ความเป็นไปได้เกือบทั้งหมด ซึ่งมีเรื่องของการให้ความสำคัญกับการวางกรอบระยะเวลาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพราะ ถ้าวางกรอบระยะเวลาเอาไว้สั้นเกินไปอาจทำให้องค์กรไม่สามารถหลุดพ้นออกจากกรอบแนวคิดเดิม ๆได้ จึงต้องมองให้ยาว แต่ไม่ได้เป็นการมองยาวแบบไร้จุดหมาย
ยกตัวอย่างเช่นการวางแผนพัฒนาปรับปรุงกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งมีหลายขั้นตอนและสลับซับซ้อน เป็นการวางแผนแก้ไขปัญหาบางประการที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน แต่กว่าบทบัญญัติจะออกมาเป็นตัวบทกฎหมายที่บังคับใช้ ปัจจุบันนั้นก็กลายเป็นอดีตไปเรียบร้อย และได้มีปัญหาใหม่ๆอุบัติแทรกเพิ่มเข้ามา ทำให้เป็นข้อจำกัดสำคัญในการป้องกันหรือแก้ปัญหาได้อย่างทันการณ์
อย่างไรก็ตาม หากนำกระบวนการการมองอนาคตมาประยุกต์ใช้ประกอบการวางแผนนโยบายสาธารณะหรือกลยุทธ์องค์กร จะทำให้องค์กรหรือบริษัทนั้น ๆมีความได้เปรียบมากกว่าบริษัทอื่นที่ไม่ได้ใช้การมองอนาคต เพราะนอกจากจะทำให้องค์กรสามารถหลีกเลี่ยงความเสี่ยงหรือลดทอนความเสียหายจากเหตการณ์ไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้แล้ว ยังสามารถใช้หลักการมองอนาคตเป็นเครื่องมือในการมองหาสัญญาณอ่อน ๆที่อาจกลายเป็นสัญญาณที่แข็งแกร่งจนเป็นโอกาสหรือแนวโน้ม (Trend) ให้องค์กรสามารถก้าวเข้าสู่เป้าหมายได้รวดเร็วขึ้นและมีกลยุทธ์ มาตรการ เครื่องมือรอบรับกับสถานการณ์ต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
อย่างไรก็ดีการทำ foresight อาจทำให้เราไม่สามารถมองภาพอนาคตได้ครบหมดทุกภาพ แต่เราสามารถลดจุดบอด (blind spot) ได้โดยใช้การมีส่วนร่วม (Participant) ให้ผู้มีส่วนได้เสียจากสาขาที่สำคัญเข้ามามีส่วนร่วมในการบวนการระดมความคิดเห็นในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการประชุมเชิงปฏิบัติการ (workshop) หรือการรับฟังความคิดเห็นด้วยเทคนิคเดลฟาย (Delphi) ทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร เช่น ตัวแทนจากฝ่ายหรือแผนกต่างๆ ภายในบริษัทและผู้บริโภคกลุ่มสำคัญ เพื่อรวมรวมและสังเคราะห์ข้อมูลมาเป็น future intelligence ที่สามารถสร้างโอกาสและอนาคตทางเลือกให้กับองค์กร ทำให้เกิดการเข้าใจอนาคตอย่างเป็นระบบและพัฒนากลายเป็นวิสัยทัศน์และแผนกลยุทธ์สำหรับอนาคตขององค์กรต่อไป
บทความโดย
สิริมา มหาเวทศาสตร์
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์