บล็อกเชนเป็นเทคโนโลยีการจัดเก็บ และการประมวลผลข้อมูลบนเครือข่าย แบบกระจายศูนย์หรือหน่วยต่อหน่วย ที่ปราศจากตัวกลาง หรือแม่ข่าย ซึ่งผูกขาดการจัดเก็บ และการเปลี่ยนแปลงข้อมูลต้นฉบับ ข้อมูลทั้งหมดจะถูกสำเนา และจัดเก็บโดยทุกหน่วยในเครือข่ายอย่างถาวร ขณะที่การดำเนินการเปลี่ยนแปลงใด ๆ จะได้รับการตรวจสอบเทียบเคียงกับสำเนาข้างต้น และอนุมัติโดยทุกหน่วยในเครือข่ายแทน (Biscontini, 2020) ด้วยคุณลักษณะดังกล่าว การนำบล็อกเชนมาใช้งาน จึงช่วยลดต้นทุนของการมีตัวกลาง ตลอดจนเสริมสร้างความรวดเร็ว ความโปร่งใส และความปลอดภัยจากการเปลี่ยนแปลงข้อมูล โดยมิชอบในการจัดการข้อมูล

แนวโน้มในอนาคต
เงินตราเข้ารหัสลับ (cryptocurrency) และสินทรัพย์ดิจิทัลที่ขับเคลื่อนด้วยบล็อกเชนจะถูกนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนและสะสมมูลค่าอย่างกว้างขวางยิ่งขึ้น จนกลายมาเป็นเงินตราหรือทรัพย์สินทางเลือกที่สำคัญในระยะ 5-10 ปี (Pawczuk et.al., 2021, p.5-6) แต่อาจไม่ได้เข้ามาแทนที่เงินตราตามแบบ (fiat money) อย่างสมบูรณ์ เนื่องจากปัญหาการขาดความเชื่อมั่น (Abdulhakeem and Wang, 2019, p.69)
บล็อกเชนมีแนวโน้มที่จะถูกนำไปประยุกต์ใช้ในกิจกรรมการผลิตสินค้าและบริการอื่นอย่างหลากหลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการตามรอยสินค้าและบริการ ในระยะ 10 ปี (PwC, 2020a)
บล็อกเชนมีศักยภาพที่จะสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจทั่วโลกเพิ่มขึ้นมากกว่า 1,750 พันล้านเหรียญสหรัฐ และสร้างตำแหน่งงานในธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั่วโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 40 ล้านตำแหน่งภายใน ค.ศ.2030 (PwC, 2020c)
ในระยะยาว หากบล็อกเชนยังคงใช้พลังงานขับเคลื่อนสูงเฉกเช่นปัจจุบัน และเทคโนโลยีการจัดเก็บและการประมวลผลข้อมูลอื่นได้รับการพัฒนาจนมีความสามารถใกล้เคียงและส่ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยกว่า บล็อกเชนก็อาจได้รับความนิยมและมีอิทธิพลลดลง

ผลกระทบต่อประเทศไทย
ส่งเสริมระบบการเงินแบบกระจายศูนย์ (DeFi) เพิ่มประสิทธิภาพการกระจายทุนในตลาด และอาจลดบทบาทของสถาบันการเงินตามแบบ
ลดปัญหาความอสมมาตรของข้อมูลระหว่างผู้ผลิตกับผู้บริโภค เอื้อต่อการตรวจสอบอัต-ลักษณ์และคุณภาพสินค้า และการจัดการห่วงโซ่อุปทาน จึงกดดันให้ผู้ผลิตต้องยิ่งพัฒนาคุณภาพของสินค้า และช่วยให้แก้ไขปัญหาในกระบวนการผลิตได้ดียิ่งขึ้น (Openlink, 2019)
เอื้อให้ผู้ผลิตขั้นต้นกับผู้บริโภคขั้นสุดท้ายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการกันได้โดยตรง ลดบทบาทของตัวกลาง ส่งผลให้กิจการประเภทนี้ต้องเสี่ยงออกจากตลาด และแรงงานว่างงาน
บั่นทอนความสามารถของรัฐบาลในการรักษาเสถียรภาพของตลาดเงิน-ตลาดทุน เศรษฐกิจ มหภาค และสังคม (Bagby, 2019, p.441-442)
พัฒนาประสิทธิภาพของรัฐในการประมวลข้อ-มูล เก็บภาษี ป้องกันการทุจริต และจัดบริการสาธารณะ (Triana Casallas, 2020, p.67-68)
ส่งเสริมคุณค่าแบบอิสรนิยม (Allon, 2018, p.223) ซึ่งจะลดความสำคัญของสิทธิและความเสมอภาคในมิติที่นอกเหนือจากมิติตลาด ด้อยค่าอัตลักษณ์กลุ่มและผลประโยชน์ส่วนรวม จึงจะบ่อนทำลายบูรณภาพของสังคมและรัฐ
อาจลดอิทธิพลของรัฐมหาอำนาจที่ควบคุมสกุลเงินหลักและบรรษัทข้ามชาติที่สำคัญของโลก