ประสาทวิทยาศาสตร์ (NEUROSCIENCE)

ประสาทวิทยาศาสตร์ เป็นการศึกษาทางวิทยาศาสตร์ทั้งหมด ที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้าง และหน้าที่ของระบบประสาท และสมอง  รวมถึงผลกระทบต่อพฤติกรรมและการรับรู้ (Nordqvist, n.d.) 

แนวโน้มในอนาคต 

▪ ฐานข้อมูลสมองจะขยายตัวครอบคลุมข้อมูลของกลุ่มประชากรอย่างหลากหลายและสมดุลมากขึ้น ส่งผลให้สามารถเข้าใจระบบประสาทและนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างกว้าง-ขวางยิ่งขึ้น (Altimus et.al., 2020, p.104)
▪ ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ สารสนเทศ การสื่อสาร และปัญญาประดิษฐ์จะเอื้อให้สามารถทำการศึกษาระบบประสาทในระดับที่ซับซ้อนได้มากขึ้น จำลองสมองได้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น และพัฒนาการคำนวณแบบสมองให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นได้ตามลำดับ (Human Brain Project, n.d.)
▪ นักวิจัยจะเข้าใจผลกระทบของปัจจัยภายในและภายนอกต่อระบบประสาท รวมถึงผลสืบเนื่องต่อพัฒนาการ พฤติกรรม และความเสี่ยงในการเป็นโรคมากขึ้น (Altimus et.al., 2020, p.102)
▪ การวิจัยโรคจะช่วยให้เข้าใจถึงกลไกในสมองที่ก่อให้เกิดโรคและพัฒนาวิธีการบำบัดรักษาโรคได้อย่างแม่นยำและมีประสิทธิผลยิ่งขึ้น (Ibid., p.104)
▪ ขนาดตลาดของธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับประสาท-วิทยาศาสตร์จะเติบโตจนมีมูลค่ารวมประมาณ 41.6 พันล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2031 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยประมาณร้อยละ 4 ต่อปี (Transparency Market Research, 2021)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ เสริมสร้างสมรรถนะของปัญญาประดิษฐ์ให้มีความสามารถในการเรียนรู้ การคิด และการตอบสนองแบบมนุษย์ในระดับที่ซับซ้อนและทรงพลังยิ่งขึ้น ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาปัญญา-ประดิษฐ์แบบทั่วไปที่มนุษย์ไม่ต้องให้คำแนะนำ
▪ ส่งเสริมการพัฒนาเทคโนโลยีที่เชื่อมสัญญาณจากสมองและระบบประสาทได้โดยตรง
▪ พัฒนาการจัดการศึกษาและการดูแลเด็กให้เหมาะสมและช่วยเสริมสร้างพัฒนาการด้านความทรงจำ การสื่อสาร การเรียนรู้ และพฤติกรรม อันจะเป็นประโยชนต่อการพัฒนาทุนมนุษย์และการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจการศึกษาและธุรกิจเกี่ยวเนื่อง
▪ ยกระดับความแม่นยำและประสิทธิผลของการทำสเต็มเซลล์บำบัด (stem cell therapy) และการรักษาโรคและการบาดเจ็บของระบบประสาทและสมอง ตลอดจนพัฒนาเครื่องมือการแพทย์และยาในการรักษาโรคเหล่านั้น ซึ่งหากประชาชนเข้าถึงได้ ก็จะช่วยให้มีสุขภาพดีขึ้น
▪ ช่วยให้เข้าใจพฤติกรรมผู้บริโภค อันจะเป็นประโยชน์ในการออกแบบสินค้าและการตลาดให้จูงใจผู้บริโภคได้มากขึ้น ในแง่นี้ บรรษัทจะมีอิทธิพลในการควบคุมพฤติกรรมในสังคมมากขึ้น
▪ สนับสนุนงานการสอบสวน การพิจารณาคดี และการข่าวกรองให้แม่นยำและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
▪ เสริมสร้างขีดความสามารถของรัฐบาลและตัวแสดงทางการเมืองในการโน้มน้าวความคิดและพฤติกรรมของประชาชน เพื่อดำเนินนโยบายหรือระดมความสนับสนุน ในกรณีที่ถูกใช้โดยกลุ่มหัวรุนแรง ก็อาจเป็นภัยคุกคามความมั่นคง