ปัญญาประดิษฐ์ (ARTIFICIAL INTELLIGENCE, A.I.)

ระบบสมองกลอัจฉริยะ ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในอนาคตเพื่อช่วยเพิ่มความสะดวกรวดเร็วในการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอาจกล่าวได้ว่า เป็นเครื่องจักรที่มีฟังก์ชันที่มีความสามารถในการทำความเข้าใจเรียนรู้องค์ความรู้ต่าง ๆ อาทิเช่น การเรียนรู้ การรับรู้ การให้เหตุผล และการแก้ปัญหาต่าง ๆ และในปัจจุบันมีความสามารถเฉพาะทางมากกว่ามนุษย์ (ศิโรตม์ ภาคสุวรรณ, 2564, หน้า. 137-145) 

แนวโน้มในอนาคต 

▪ ขนาดตลาดปัญญาประดิษฐ์ทั่วโลกมีมูลค่า 62.35 พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 และคาดว่าจะขยายตัวในอัตราการเติบโตต่อปี (CAGR) ที่ 40.2% จากปี 2564 ถึง 2571 อีกทั้งยังมีการวิจัยและนวัตกรรมอย่างเนื่องโดยยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีอย่าง อเมซอน แอปเปิ้ล เฟซบุ๊ค และ Microsoft กำลังลงทุนพัฒนาเพื่อทำให้ AI สามารถเข้าถึงได้มากขึ้นสำหรับกรณีการใช้งานขององค์กร นอกจากนี้ปัจจัยด้านความต้องการเข้าถึงข้อมูลในอดีต ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และการระบาดของโรคโควิด-19 ก็เป็นปัจจัยเร่งที่ทำให้อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน (Grand view research, 2021)
▪ ปัจจุบันประเทศไทยเริ่มเดินหน้าวางยุทศาสตร์ปัญญาประดิษฐ์ โดยจัดร่าง “แผนแม่บทปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย” เป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยตั้งวิสัยทัศนร่วมกันว่า “ประเทศไทยจะเป็นประเทศชั้นนำในการพัฒนาและประยุกต์ใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน” (เนคเทค สวทช, 2564)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม: ความสามารถในการประมวลผลข้อมูลของ A.I. จะเป็นปัจจัยสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเศรษฐกิจแพลตฟอร์ม
▪ อุตสาหกรรม IoT: A.I. ที่ก้าวหน้าขึ้นจะยกระดับขีดความสามารถและคุณภาพของอุปกรณ์ IoT ส่งผลให้อุตสาหกรรมการผลิตอุปกรณ์ IoT สามารถแข่งขันในตลาดได้ดียิ่งขึ้น มีโอกาสเติบโตขยายธุรกิจ 
▪ แรงงาน: แรงงานทักษะขั้นสูงจะมีผลิตภาพสูงขึ้น แต่แรงงานทักษะขั้นกลางอาจถูกทดแทนด้วย A.I. ซึ่งอาจก่อให้เกิดการว่างงาน ขยายความแตกต่างของค่าจ้างของแรงงานตามระดับทักษะ นำไปสู่ความเหลื่อมล้ำที่รุนแรงขึ้น 
▪ ผู้ประกอบการการผลิต: A.I. จะช่วยวิเคราะห์ความต้องการของผู้บริโภคและคาดการณ์แนวโน้มของตลาดได้อย่างเฉพาะเจาะจงและแม่นยำยิ่งขึ้น ช่วยในการคิดค้นและพัฒนานวัตกรรม/สินค้าใหม่ และเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขัน ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นเครื่องมือให้สามารถวางแผน บริหารจัดการ และดำเนินกระบวนการผลิตได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยอาศัยข้อมูลขนาดใหญ่ที่ช่วยให้ A.I. เรียนรู้ วิเคราะห์ และตัดสินใจได้อย่างกว้างขวาง และลึกซึ้งยิ่งขึ้น