ภาพอนาคตจีน จากความฝันสู่ความจริง

อย่างที่ท่านทั้งหลาย ได้ติดตามสถานการณ์โลก จะทราบดีว่า นักเศรษฐกิจ จากสำนักต่างๆ

ได้คาดการณ์ว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกา จีนจะเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจโลก อย่างเช่นสำนักวิจัย Center for Economics and Business Research (CEBR) ในกรุงลอนดอน ซึ่งมีชื่อเสียงในด้านการพยากรณ์ทางเศรษฐกิจได้แถลงผลการวิจัยเมื่อ 26 ธันวาคม 2017 ว่าเศรษฐกิจจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ตั้งแต่ปี 2032 และมีนักวิชาการมองภาพอนาคตของจีนจากมุมมองที่แตกต่างกัน 

ผู้เขียนคิดว่าคำที่พรรณนาภาพอนาคตจีนที่ดีที่สุดคือ “ความฝันของจีน” (Chinese Dream) ที่ประธานาธิบดีกล่าวไว้ เป็นครั้งแรกในขณะที่กล่าวสุนทรพจน์ในงานนิทรรศการที่พิพิธภัณฑ์แห่งชาติจีน กรุงปักกิ่งเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2012 หลังจากได้รับการเลือกตั้งเป็นเลขาธิการใหญ่ พรรคคอมมิวนิสต์จีน เมื่อ 15 พฤศจิกายน 2012 ในที่ประชุม “สมัชชา 18” ของพรรค โดยกล่าวว่าภารกิจหลักของกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่ คือ การนำพาประชาชาติจีนบรรลุถึง “ความฝันจีน” นั่นคือการฟื้นฟูครั้งใหญ่ของประชาชาติจีน

สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงภาพแก่นแกนของความฝันของจีนคือ “เป้าหมาย 100 ปีสองวาระ” ซึ่งได้แก่วาระแรกคือวาระครบรอบ 100 ปีของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในปี 2020 และวาระที่สองคือวาระครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจีนใหม่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 2049

เป้าหมายในปี 2020 คือบรรลุ “สังคมพออยู่พอกินอย่างทั่วถึง” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์ “สามก้าวของจีน”กล่าวคือ ก้าวจาก “กินอิ่มอยู่อุ่น” สู่ “พออยู่พอกิน” ซึ่งประเทศจีนได้บรรลุเป้าหมายนี้แล้ว และประเทศจีนกำลังก้าวสู่เป้าหมายวาระครบ 100 ปีแห่งการสถาปนาจีนใหม่ “สาธารณรัฐประชาชนจีน” ในปี 2049 นั่นคือ “ถึงกลางศตวรรษนี้ บนพื้นฐานที่จีนบรรลุความทันสมัยขั้นพื้นฐานแล้ว จีนจะพัฒนาเป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย ที่มีความเป็นประชาธิปไตย อารยธรรม ปรองดองและความสวยงาม”

ประเทศจีนมีประชากร 1,400 ล้านคนและมีอาณาเขตกว้างใหญ่ ดังนั้นมีสภาพภูมิอากาศ ภูมิประเทศที่แตกต่างกัน ดังนั้น เรื่องกินเรื่องอยู่เป็นเรื่องสำคัญ ผู้นำจีนทุกยุคทุกสมัยต้องเอาเรื่องคุณภาพชีวิตของประชาชนไว้เป็นส่วนสำคัญประธานาธิบดีสี จิ้นผิงจึงประกาศ “ยุทธการชนะความยากจน” หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “แก้จนตรงเป้า” ซึ่งมีประกาศใช้คำนี้ครั้งแรกเมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน 2013 ในระยะ 40 กว่าปีนับตั้งแต่จีนดำเนินนโยบายเปิดประเทศและปฏิรูปเศรษฐกิจในปี 1978 เป็นต้นมา ประเทศจีนสามารถทำให้ประชาชนกว่า 900 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจนภายในปี 2020 ตามเป้าหมาย “พออยู่พอกิน”อย่างทั่วถึงที่ตั้งไว้ ซึ่งถือว่าเป็นคุณูปการอันยิ่งใหญ่ต่อการขจัดความยากจนของเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าจีนได้บรรลุภาพอนาคตในวาระแรกปี 2020 อย่างสมบูรณ์แบบ

สำหรับภาพอนาคตในวาระที่สองที่จีนครบรอบ 100 ปีของการสถาปนาสาธารณรัฐประชาชนจีนในปี 2049 นั้น จีนได้วาดภาพอนาคตที่ชัดเจนและมีความเชื่อมั่นเต็มร้อยว่าจีนสามารถบรรลุเป้าหมายนี้ได้อย่างแน่นอน จีนประกาศทุกครั้งว่าจีนจะยืนหยัดในสังคมนิยมที่มีเอกลักษณ์จีน ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงได้ประกาศต่อชาวโลกว่า “ทุกวันนี้ จีนมีความแข็งแกร่ง ไม่มีพลังกำลังใดที่จะทำให้จีนสั่นคลอน” ในโอกาสวันชาติจีนครบรอบ 70 ปีเมื่อปี 2019 ที่ผ่านมา

แม้อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะลดน้อยลงและเป็นครั้งแรกที่จีนไม่ได้ประกาศอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจในที่ประชุมสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติที่ผ่านมา ประการหนึ่งเนื่องด้วยสถานการณ์โควิด แต่อย่างไรก็ตาม จีนยังรักษาแนวโน้มที่ดีในการพัฒนาเศรษฐกิจ และเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับภูมิภาคและระดับโลก ดังที่กล่าวขั้นต้นว่านักเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ว่าในมิติเศรษฐกิจจีนจะแซงหน้าสหรัฐอเมริกาในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้ และในขณะนี้ GDP ต่อหัวเกิน 1 หมื่นเหรียญสหรัฐฯ รายได้ของประชาชนดีขึ้นตามลำดับ ที่ผ่านมามีช่วงหนึ่ง ประเทศจีนเน้นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ มองข้ามปัญหาสิ่งแว้ดล้อมไป ตั้งแต่ผู้นำรุ่นที่แล้วและรุ่นปัจจุบันเน้นการพัฒนาสีเขียว ต้องเป็น Green GDP ดังนั้น มีมาตรการเข้มงวดกับสิ่งแวดล้อม มีการย้ายโรงงานผลิตออกจากเมืองใหญ่และเป็นที่ประจักษ์ว่าในสองสามปีที่ผ่านมาคุณภาพอากาศของจีนโดยเฉพาะในเมืองใหญ่ดีขึ้นมากแล้ว

ในขณะที่ประเทศจีนให้ความสำคัญกับการพัฒนาเศรษฐกิจ จีนยังให้ความสำคัญกับการปฏิรูปเชิงกว้างและเชิงลึกมากยิ่งขึ้น มีการป้องกันและปราบปรามปัญหาคอรัปชั่น มีการเปลี่ยนบทบาทของหน่วยงานรัฐ ข้าราชการจากการบริหารประชาชนมาเป็นการบริการประชาชนตามหลักธรรมาภิบาล ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาประชาธิปไตยในจีน

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่าภาพอนาคตของจีน “ถึงกลางศตวรรษนี้ บนพื้นฐานที่จีนบรรลุความทันสมัยขั้นพื้นฐานแล้ว จีนจะพัฒนาเป็นประเทศสังคมนิยมที่แข็งแกร่ง ทันสมัย ร่ำรวย ที่มีความเป็นประชาธิปไตย อารยธรรม ปรองดองและความสวยงาม” เป็นการวาดภาพอนาคตจากการวิเคราะห์สภาพการณ์ทั้งจากอดีตและปัจจุบัน มีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อมของจีน เป็นภาพอนาคตที่สามารถบรรลุได้

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.หลี่ เหรินเหลียง
รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
ผู้อำนวยการหลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาการบริหารการพัฒนาสังคม ภาคพิเศษ
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า)