มองอนาคตให้กว้างและไกล ต้องใช้เลนส์อะไรบ้าง

เรามักจะพบว่าหลายเหตุการณ์ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน มักเป็นสิ่งที่อยู่เหนือจากจินตนาการ ที่เรามีในอดีต เช่น เหตุการณ์ COVID – 19 การตัดต่อพันธุกรรมมนุษย์ เป็นต้น หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นสิ่งที่เราไม่คาดคิดว่าจะเกิดขึ้นในช่วงชีวิตของเรา และหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นเร็วกว่าที่เราได้คาดคิดไว้ เช่น การเป็นที่ยอมรับของเงินสกุลดิจิทัลซึ่งไม่ได้ขึ้นอยู่กับรัฐบาลหรือองค์กรระหว่างประเทศใด การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของจำนวนรายการและมูลค่าการซื้อขายผ่านอินเตอร์เน็ต เป็นต้น เหตุผลที่ดีที่สุดที่เราใช้อธิบายความคลาดเคลื่อนของการคาดการณ์อนาคตคือ เพราะอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนไม่มีใครสามารถหยั่งรู้ได้ครบถ้วนร้อยเปอร์เซ็นต์

แม้อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนและไม่สามารถคาดการณ์ให้ถูกต้องได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การเห็นและเข้าใจอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นและมีผลกระทบสูงกับเราหรือองค์กรของเรา ย่อมช่วยให้เรามีความพร้อมที่จะรับมือเมื่อเหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นจริง และหากเป็นการเห็นและเข้าใจอนาคตที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้และมีผลกระทบสูงกับเราแต่คู่แข่งรายอื่นๆยังไม่เห็นหรือยังไม่เข้าใจสภาวการณ์นั้นๆในอนาคตได้ดีเท่ากับเราหรือองค์กรของเรา เมื่อสภาวการณ์นั้นเกิดขึ้นจริงเราย่อมสามารถตักตวงและเก็บเกี่ยวโอกาสได้อย่างเต็มที่ และมีขีดความสามารถในการแข่งขันเหนือกว่าคู่แข่ง หรือมีขีดความสามารถในการตอบสนองความต้องการของสังคมได้เหนือกว่าความคาดหวังของสังคม

การมองอนาคตหรือการคาดการณ์อนาคตจึงไม่ได้มีวัตถุประสงค์เพื่อค้นหาภาพเชิงเดี่ยว (Single Future) ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด แต่มีเป้าหมายเพื่อสร้างภาพอนาคตที่หลากหลาย (Multiple Futures) ที่เป็นไปได้และมีผลกระทบสูงต่อเราหรือองค์กรของเรา ทั้งนี้เพื่อลดโอกาสที่เราจะมองไม่เห็น (Blind Spot) หรือมองข้าม (Overlook) ภาพหรือสภาวการณ์ในอนาคตที่อาจเกิดขึ้นและมีความสำคัญต่อเราหรือองค์กรของเรา

การมองอนาคตในระยะไกลให้มีความกว้างอย่างครอบคลุม จำเป็นต้องเอาชนะกับดักทางความคิดหลายประการที่ทำให้เรามองภาพอนาคตได้ไม่กว้างและไม่ไกลเท่าที่ควร กับดักที่สำคัญคือการคิดแบบผูกติดอยู่กับปัจจุบันและอดีต เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีตจะต้องกลับมาเกิดขึ้นอีกในอนาคต เหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็จะไม่มีทางเกิดขึ้น หรือความเร็วของการเปลี่ยนแปลงของสิ่งต่างๆในอนาคตจะเท่ากับความเร็วของการเปลี่ยนแปลงของสิ่งนั้นๆในอดีต นอกจากนี้กับดักที่สำคัญอีกประการคือ การคาดการณ์อนาคตโดยใช้ขีดความสามารถที่ทำได้ในปัจจุบันหรือกรอบความคิดในปัจจุบันเป็นเกณฑ์ในการประเมินความเป็นไปได้ของสิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในอนาคต

นักอนาคตศึกษาได้พยายามลดข้อจำกัดของการคาดการณ์อนาคต ด้วยเทคนิคและเครื่องมือที่หลากหลาย บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดเกี่ยวกับประเภทของอนาคตตาม “กรวยแห่งอนาคต (Future Cone)” ซึ่งช่วยทำให้เราสามารถก้าวข้ามกับดักการมองอนาคตข้างต้นได้ ผ่านการมองอนาคตจากฐานคิดที่แตกต่างกัน เปรียบเสมือนการเปลี่ยนเลนส์ที่เราใช้มองอนาคตซึ่งช่วยทำให้เรามองอนาคตได้แตกต่างและกว้างมากขึ้น โดยมีเลนส์ที่สำคัญดังนี้

เลนส์ Probable Futures หรืออนาคตที่น่าจะเกิดขึ้น เป็นการมองอนาคตโดยใช้การคาดการณ์ที่อิงกับการขยายความ (Extrapolation) โมเมนตัมของการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นจากอดีตมาสู่ปัจจุบัน หรือคาดการณ์ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจากสภาวการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน

เลนส์ Preferable Futures หรืออนาคตที่อยากให้เกิดขึ้น การสร้างภาพอนาคตซึ่งเป็นเหตุการณ์หรือสถานการณ์ในอนาคตที่เราหรือองค์กรของเราอยากให้เกิดขึ้น อนาคตประเภทนี้อาจมีฐานคิดจากกรอบในอดีตและปัจจุบัน หรืออาจเป็นความใฝ่ฝันที่เกินจากความเป็นไปได้ตามฐานคิดในปัจจุบัน หรือกระทั่งเป็นความใฝ่ฝันที่ไม่มีทางเป็นไปได้แม้ในอนาคต

เลนส์ Plausible Futures หรืออนาคตที่เชื่อว่าสามารถเกิดขึ้นได้ เป็นการสร้างภาพอนาคตบนฐานคิดของความเป็นไปได้ในปัจจุบันทั้งในด้านวิทยาการเทคโนโลยี องค์ความรู้ กลไกเชิงสถาบันต่างๆของสังคม สภาพการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมในปัจจุบัน ซึ่งรวมถึงสิ่งต่างๆที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในอดีตด้วย

เลนส์ Possible futures หรืออนาคตที่เป็นไปได้ (ทั้งหมด) เป็นการสร้างภาพอนาคตที่นอกจากใช้ฐานคิดของความเป็นไปได้ตามทุกสิ่งที่รู้ในปัจจุบันแล้ว ยังรวมถึงสิ่งที่มนุษย์อาจค้นพบหรือมีความรู้เพิ่มขึ้นในอนาคตหรือสิ่งแปลกใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตเป็นครั้งแรก เลนส์นี้จึงรวมถึงการมีจินตนาการถึงสิ่งที่คาดว่าเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยไม่ให้ความสำคัญถึงโอกาสหรือความเป็นไปได้ที่จะเกิดขึ้นจริงว่ามีมากน้อยแค่ไหน แต่จะไม่ครอบคลุมไปถึงสิ่งที่เราคาดว่าไม่มีทางเกิดขึ้นได้ในอนาคต

จากการเปลี่ยนเลนส์ที่ใช้คาดการณ์อนาคตหลายๆแบบ ทีมงาน FuturISt หวังว่าทุกท่านจะสามารถมองอนาคตได้ครอบคลุมมากขึ้นและไม่พลาดโอกาสสำคัญในอนาคตจากการมองข้ามอนาคตที่สำคัญและเป็นไปได้ไปนะครับ

บทความโดย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์