เครือข่ายหกจีหมายถึงระบบการสื่อสารไร้สายที่กำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดจากเครือข่ายห้าจี (5G) เพื่อให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นและสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดของเครือข่ายห้าจีในปัจจุบัน โดยข้อจำกัดที่สำคัญ ได้แก่ ปริมาณ ความเร็ว และความหน่วงในการรับส่งข้อมูล (latency) ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในการใช้งานอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่งและปัญญาประดิษฐ์ที่จะซับซ้อนและเพิ่มจำนวนมากขึ้นในอนาคตอันใกล้ (Emerging Technology from the arXiv, 2019; Nelson, 2018)
ความจำเป็นในการใช้จุดรับส่งสัญญาณภาคพื้นจำนวนมาก เนื่องจากคลื่นสัญญาณอ่อนและสามารถส่งสัญญาณได้ในระยะทางที่จำกัด (Supamangmee, 2019)

แนวโน้มในอนาคต
เครือข่ายหกจีมีแนวโน้มที่จะมีความเร็วในการรับส่งข้อมูลสูงถึง 1 เทระไบต์ต่อวินาที และมีความหน่วงไม่เกิน 0.1 มิลลิวินาทีหรือเข้าใกล้ศูนย์ (Zhao et al., 2021) ซึ่งหมายความว่าจะเร็วกว่าห้าจีประมาณ 100 เท่า (Boxall and Lacoma, 2021)
เครือข่ายหกจีถูกคาดหมายว่าจะประสบความสำเร็จและสามารถเริ่มนำมาให้บริการเชิงพาณิชย์ได้ราว ค.ศ.2030-2032 (Christensen and Kranz, 2021)
ขนาดของตลาดที่เกี่ยวเนื่องกับเครือข่ายหกจีในระดับโลกจะมีมูลค่าถึง 8.76 พันล้านเหรียญสหรัฐในปีแรกที่น่าจะสามารถเริ่มให้บริการเชิงพาณิชย์ (ค.ศ.2030) และขยายตัวเป็น 1,773 พันล้านเหรีญสหรัฐภายใน ค.ศ.2035 โดยมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 133.89 ต่อปี (BIS Research, 2021)
ภายหลังเครือข่ายหกจีเริ่มสามารถนำมาใช้งานจริง เครือข่ายเจ็ดจี (7G) น่าจะได้รับการพัฒนาให้มีขีดความสามารถสูงยิ่งขึ้นไปอีก โดยอาศัยความก้าวหน้าของเทคโนโลยีควอนตัมเป็นปัจจัยสำคัญ (Christensen and Kranz, 2021)

ผลกระทบต่อประเทศไทย
เอื้อให้ผู้ใช้สามารถสื่อสาร ทำงาน และบริโภคสินค้าและบริการผ่านเครือข่ายได้อย่างรวดเร็วและกว้างขวางยิ่งขึ้น ส่งผลให้ธุรกิจออนไลน์มีแนวโน้มที่จะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญ ส่วนธุรกิจออฟไลน์ก็อาจถูกกดดันให้ต้องเปลี่ยนแปลงไปสู่รูปแบบออนไลน์หรือมีฐานผู้บริโภคลดลง
เอื้อให้บรรษัทข้ามชาติสามารถจัดการการผลิตและธุรกิจทางไกลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น จึงอาจถ่ายโอนกิจกรรมไปยังพื้นที่ที่มีทรัพยากรและแรงงานตามความต้องการได้สะดวกยิ่งขึ้น
เสริมสร้างสมรรถนะและอรรถประโยชน์จากการใช้งานข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง จึงจะเร่งการเติบโตของตลาดเทคโนโลยีเหล่านี้ และเมื่อประกอบกับผลกระทบอื่นข้างต้น จะส่งผลให้แรงงานทักษะขั้นสูงมีผลิตภาพสูงขึ้น แรงงานในภาคส่วนที่มีอุปสงค์สูงรับจ้างงานจากต่างถิ่นได้เพิ่มขึ้น แรงงานขั้นกลาง-ต่ำเสี่ยงว่างงานมากขึ้น
เพิ่มขีดความสามารถของรัฐบาลในการประมวลข้อมูลประกอบการกำหนดนโยบายและการจัด บริการสาธารณะทางไกล เช่น การแพทย์ทางไกล
ส่งเสริมความได้เปรียบของตัวแสดงที่ถือครองเทคโนโลยีในการควบคุมข้อมูล เป็นเหตุให้มหาอำนาจมีแนวโน้มจะแข่งขัน/กีดกันการเข้าถึงเครือข่ายระหว่างกัน จึงกระตุ้นความไม่มั่นคงในโลก