สมาธิสั้น

การขาดสมาธิในการจดจ่อทำงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ในระยะเวลานาน แต่การขาดสมาธิหรือการมีสมาธิสั้นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม แต่การมีสมาธิสั้นนั้นเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม ทั้งสื่อ เทคโนโลยี สังคม ความกดดันจากงานและอื่น ๆ ทำให้คนมีปัญหาในการจดจ่อกับงานตรงหน้า หรือกับสิ่งที่อ่าน ฟัง ดู 

แนวโน้มในอนาคต 

▪ ผลสำรวจพบว่าคนทั่วโลกมีสมาธิสั้นลง โดยข้อมูลการใช้อินเทอร์เน็ตบ่งชี้ว่า ระยะเวลาที่ข่าวหรือหัวข้อต่าง ๆ อยู่ในความสนใจของผู้คนบนโลกออนไลน์นั้นมีระยะสั้นลงเรื่อย ๆ (McClinton, 2019)
▪ นอกจากนี้ คนรุ่นใหม่วัยทำงาน (Gen Y) และ Gen Z ยังมีพฤติกรรมที่เปลี่ยนไป คือไม่สามารถจดจ่อกับอะไรอย่างเดียวที่ซ้ำซากได้เป็นเวลานาน แต่มีความสามารถในการทำอะไรหลายอย่างพร้อม ๆ กัน (multitasking) สูง (Deep Patel, 2017)
▪ ในกลุ่มคนทำงานยังพบอาการสมาธิสั้นในคนทำงานหรือ ADT ( Attention Deficit Trait) ซึ่งมีสาเหตุมาจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ไม่ดีเป็นหลัก ไม่ใช่สาเหตุจากพันธุกรรมเหมือนคนสมาธิสั้นทั่วไป สภาพแวดล้อมที่เป็นตัวการของโรคนี้เกิดจากลักษณะการทำงานในปัจจุบันที่มีความรีบเร่งอยู่เสมอ ต้องแข่งขันกับเวลาอยู่ตลอด ทำให้ต้องรีบเร่งทำงานต่าง ๆ จนแบ่งเวลาไม่ถูก ร้อนรนกับงานทุกชิ้น (Hallowell, 2005)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนไป โดยเฉพาะการที่ผู้บริโภครุ่นใหม่มีระยะเวลาการให้ความสนใจเรื่องต่าง ๆ สั้นลงและสามารถกระโดดข้ามจากเรื่องหนึ่งไปอีกเรื่องได้โดยไม่มีปัญหาแต่อย่างใด การตลาดและการโฆษณาของธุรกิจต่าง ๆ ต้องมีการปรับเปลี่ยนสื่อโฆษณาให้รับกับพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปนี้ ซึ่งตลาดการโฆษณาของประเทศไทยที่โดยพื้นฐานเข้มแข็งอยู่แล้วจะหันมาสนใจเรื่องนี้ นอกจากนี้ การมีประชากรที่คล่องกับการใช้สื่อออนไลน์ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ อาจทำให้สามารถใช้โอกาสนี้พัฒนาศักยภาพด้าน digital marketing
▪ สถาบันการศึกษาอาจไม่สามารถปรับตัวตามพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของคนรุ่นใหม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นวิธีการสอนหรือการใช้สื่อการสอนที่เหมาะสมได้ อาจจะทำให้เกิดปัญหาคือผู้เรียนไม่สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่ ทำให้ไม่สามารถพัฒนาศักยภาพของตนได้
▪ อาจจะนำไปสู่การศึกษาและพัฒนางานวิจัยในประเด็นนี้มากขึ้น มีการวิเคราะห์ว่าจะปรับวิธีการเรียนการสอนอย่างไรให้ได้ประสิทธิภาพดีที่สุดต่อผู้เรียนที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนไป (ความสนใจสั้นลง ชอบการทำอะไรหลาย ๆ อย่างในเวลาเดียวกัน) โดยอิงตัวอย่างจากต่างประเทศ เช่น การศึกษาระยะความสนใจของนักเรียน (Bradbury, 2016) การศึกษาผลของการ multitasking บนโซเชียลมีเดียต่อการเรียน (Lau, 2017) เป็นต้น