ในโลกยุคพลิกผัน หลาย ๆ องค์กรต้องตัดสินใจท่ามกลางความไม่แน่นอนและเผชิญกับแรงกดดันจากทั้งภายในและภายนอก การตระหนักถึงความเปลี่ยนแปลงและเตรียมความพร้อม เป็นกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรมีขีดความสามารถในการปรับตัวให้สอดคล้องกับพลวัตของระบบนิเวศและก้าวสู่อนาคตอย่างยั่งยืน
Nokia เป็นตัวอย่างคลาสสิคขององค์กรยักษ์ใหญ่ที่ปรับตัวช้า และยึดติดกับความสำเร็จเดิม ๆ ย้อนไปในปี 2011 ซีอีโอ Stephen Elop ได้ส่งสารเตือนใจถึงพนักงานของโนเกียทุกคนว่า “ธุรกิจของโนเกียมีสภาพคล้ายกับแท่นขุดเจาะน้ำมันที่กำลังไฟไหม้ ทางเลือกที่เหลืออยู่มีแค่ยึดฐานที่มั่นเดิมแล้วถูกแผดเผาหรือกระโดดหนีเพื่อเอาตัวรอด” แต่อย่างที่ทราบกันดีว่าสุดท้ายแล้ว Nokia ก็เพลี่ยงพล้ำและต้องขายธุรกิจมือถือให้กับ Microsoft ในปี 2014 และประวัติศาสตร์ซ้ำรอย บทเรียนเดิม ๆ ได้เกิดขึ้นกับองค์กรอย่างใหญ่ ๆ อย่างเช่น Blockbuster, Xerox และ Yahoo! ที่ก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลง
ในบทความชุด Lead The Future ผู้เขียน แอนดรูว์ เจมส์ วอลล์ (Andrew James Walls) กล่าวว่า หนทางเดียวของการอยู่รอด คือ ‘การก้าวนำอนาคต’ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรแบบไหน บรรษัทใหญ่ เอสเอ็มอี เอ็นจีโอ องค์กรภาครัฐ วิสาหกิจชุมชน ถ้าพวกเขาไม่เริ่มขับเคลื่อนอนาคตล่ะก็ พวกเขาจะถูกอนาคตเบียดขับเสียเอง แอนดรูว์ได้เสนอว่า ท่าทีการโต้ตอบของผู้มีอำนาจในการตัดสินใจที่มีต่อสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงสามารถสะท้อนถึงระดับความพร้อมขององค์กรในการปรับตัวให้เข้ากับพลวัตของระบบนิเวศ โดยแบ่งออกเป็น 5 ระดับ ได้แก่
- [ระดับ 1] แน่นิ่ง (Fixed) องค์กรไม่มีความเคลื่อนไหวหรือการพัฒนาในระบบนิเวศ ตัวอย่างเช่น บริษัทที่สร้างผลิตภัณฑ์และให้บริการแบบเดิม ๆ ปีแล้วปีเล่า โดยไม่มีการปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง พวกเขาอาจยืนหยัดอยู่ได้สักระยะหนึ่ง เปรียบดั่งเรือที่ทอดสมออยู่ในทะเล ถ้าเรือไม่แล่นออกไปสุดท้ายแล้วก็คงจะอับปาง
- [ระดับ 2] ตั้งรับ (Reactive) องค์กรเผชิญเรื่องไม่คาดคิดเป็นระยะ และโต้ตอบสถานการณ์ความเปลี่ยนแปลงโดยปราศจากความระมัดระวัง องค์กรที่ตอบสนองอย่างเฉื่อยชาก็เหมือนกับสัตว์ที่ตกเป็นเหยื่อในป่าใหญ่ พวกมันพอใจที่จะเดินเตร็ดเตร่แทะเล็มหญ้าจนกว่าจะเผชิญหน้ากับสัตว์นักล่าที่บังคับให้พวกมันต้องโต้ตอบเพื่อเอาตัวรอด
- [ระดับ 3] พร้อมตอบสนอง (Responsive) องค์กรตระหนักถึงปัจจัยขับเคลื่อนความเปลี่ยนแปลงและมีการตอบสนองอย่างไหลลื่น อุปมากับนักเดินป่าที่แม้จะเผชิญอุปสรรคจากสภาพภูมิประเทศ แต่ก็สามารถใช้ทักษะและความอดทนฝ่าฟันไปได้ ยกตัวอย่างเช่น องค์กรที่จับสัญญาณการเปลี่ยนแปลง และตอบสนองความต้องการของตลาด หลังจากคู่แข่งได้นำเสนอผลิตภัณฑ์หรือบริการใหม่
- [ระดับ 4] เป็นฝ่ายรุก (Emergent) องค์กรกลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศ ในขณะที่องค์กรอื่น ๆ เป็นผู้ตอบสนอง หรือเป็นฝ่ายตาม ตัวอย่างเช่น Netflix ที่เปลี่ยนความคาดหวังของผู้บริโภคจากการเช่าสื่อบันเทิงไปสู่บริการสตรีมมิง
- [ระดับ 5] รวมหมู่ (Collective) องค์กร (หรือกลุ่มบุคคลและเครือข่าย) กลายสภาพเป็นระบบนิเวศที่มีผู้สร้างนวัตกรรมและนำการเปลี่ยนแปลง องค์กรที่มีลักษณะของการรวมหมู่มักจะมีการร่วมมือกับหุ้นส่วนในระบบนิเวศอย่างใกล้ชิด ตัวอย่างเช่น Google ที่กลายเป็นผู้นำแพลตฟอร์มเว็บไซต์ที่มีปัจเจกและองค์กรจำนวนมหาศาลคอยนำเสนอผลิตภัณฑ์และนำการเปลี่ยนแปลงในโลกออนไลน์
การอยู่ในแต่ละระดับจะมีต้นทุนทรัพยากรและความไวต่อการเปลี่ยนแปลงแตกต่างกัน การอยู่ในระดับสูง ๆ จะยิ่งทำให้องค์กรครองความได้เปรียบ ตัวอย่างเช่น องค์กรในระดับ 5 อย่าง Amazon จะมีทั้งความได้เปรียบเชิงนวัตกรรมและกลยุทธ์เหนือกว่าองค์กรที่อยู่ในระดับต่ำกว่า เช่น Barnes & Noble
ในขณะเดียวกัน ยิ่งอยู่ในระดับสูงเท่าไหร่ องค์กรก็ยิ่งต้องเปิดรับเทคโนโลยี และก้าวทันความต้องการของลูกค้า องค์กรที่อยู่ในระดับสูง ๆ จำเป็นต้องมีความสลับซับซ้อน ความต้องการทรัพยากร และอิทธิพลต่อระบบนิเวศมากขึ้น การมีเป้าหมายที่ชัดเจนและสอดคล้องกับการพัฒนาองค์กรให้มีคุณสมบัติทัดเทียมหรือยกระดับการเป็นผู้นำในอนาคตมีความจำเป็นต่อการรับมือกับความผันผวนในอนาคต
ถ้าอยากรู้ว่าองค์กรของคุณอยู่ในระดับไหน ให้ตอบคำถามสั้น ๆ เหล่านี้แล้วลองพินิจพิเคราะห์ดู
- อะไรคือแรงขับเคลื่อนที่ส่งผลกระทบและสร้างความไม่แน่นอนต่อระบบนิเวศที่อยู่รายรอบ องค์กรคุณมากที่สุด?
- ผลลัพธ์ระยะยาวที่เป็นไปได้ในระบบนิเวศของคุณมีอะไรบ้าง?
- องค์กรคุณสามารถปรับตัวให้เข้ากับระบบนิเวศและแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในระยะยาวได้ดีเพียงใด?
- องค์กรคุณสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงในระบบนิเวศได้มากแค่ไหน? (มากกว่าการตอบสนองหรือเป็นฝ่ายไล่ตาม)
- องค์กรคุณมีความสัมพันธ์แบบ ‘ร่วมมือ’ หรือ ‘แข่งขัน’ กับองค์กรอื่น ๆ ที่อยู่ในระบบนิเวศ?
ยิ่งองค์กรของคุณตระหนักถึงและก้าวนำความเปลี่ยนแปลง มีความยืดหยุ่นในการปรับตัว และมีความสัมพันธ์แบบร่วมมือหรือพึ่งพาอาศัยกันมากเท่าไหร่ องค์กรของคุณก็จะยิ่งมีระดับความพร้อมในการปรับตัวสูง และมีศักยภาพในการเป็นผู้นำในอนาคต
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต #การคาดการณ์อนาคต #การประเมินสภาพแวดล้อมองค์กร
= = = = = = = = = =
แปลและเรียบเรียงโดย: อัลเบอท ปอทเจส
อ้างอิง
Andrew James Walls. (2022). Navigating Change: How to Find Ecosystem-Strategy Fit. [Online]
ต้องหทัย กุวานนท์. (2565). ถอดบทเรียน “Burning Platform”. [ออนไลน์]