องค์กรฯท้องถิ่น: ออกแบบบริการให้ตอบโจทย์ยุคดิจิทัลและตรงใจประชาชน

การเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล เป็นหนึ่งในภารกิจท้าทาย ขององค์กรยุคใหม่ รวมไปถึงองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ต้องมีการพัฒนา ปรับเปลี่ยนการจัดการบริการสาธารณะต่าง ๆ ให้อยู่ในรูปของระบบ e-Service โดยมีโจทย์สำคัญคือ ทำอย่างไรให้บริการออนไลน์มีประสิทธิภาพ และสร้างความประทับใจให้แก่ผู้ใช้บริการ

FutureGov หน่วยงานให้คำปรึกษาด้านปฏิรูปองค์กรฯ ท้องถิ่น ประเทศอังกฤษ ได้ถอดบทเรียนจากการร่วมงานกับองค์กรฯ ท้องถิ่นหลายแห่ง พร้อมกับศึกษาวิจัยแบบแผนการบริการออนไลน์ และพฤติกรรมผู้ใช้งาน เพื่อสร้างแนวปฏิบัติที่ดี (Best Practices) โดยมีการให้นิยาม ‘แบบแผนการบริการ’ (Service Patterns) ว่า เป็นแนวทางการให้บริการที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ ผ่านการออกแบบหน้าเว็บ เส้นทางของผู้ใช้ (User Journeys) และองค์ประกอบต่าง ๆ ของการให้บริการภาครัฐ

โดย FutureGov ได้แบ่งหมวดหมู่การบริการขององค์กรฯท้องถิ่นที่ปรากฏอยู่บนช่องทางออนไลน์ ดังนี้ การตรวจสอบสิทธิ การจองคิวเพื่อรับบริการ การสมัครต่าง ๆ การจัดเก็บและส่งเอกสาร การยืนยันตัวตน การแจ้งเตือนและติดตามความคืบหน้า

‘การจัดการ’ คือหนึ่งในโจทย์ท้าทายขององค์กรฯท้องถิ่นในการให้บริการออนไลน์ แบบแผนการบริการที่ดีควรจะมีการถอดบทเรียน บันทึกหรือแบ่งปันประสบการณ์ของผู้ใช้และเส้นทางผู้ใช้ รวมทั้งกระบวนการสนับสนุน ในปัจจุบันแม้หน่วยงานหลาย ๆ แห่งจะมีช่องทางดิจิทัลมากมาย แต่กระบวนการจัดการหรือระบบหลังบ้านก็ยังมิได้มีการเปลี่ยนแปลงสักเท่าไหร่ แม้ว่าจะมีการออกแบบหน้าเว็บหรือเส้นทางผู้ใช้ดีแล้ว แต่บริการออนไลน์ขององค์กรฯท้องถิ่นส่วนใหญ่ก็ยังมีข้อบกพร่องหลายจุด เช่น ผู้ใช้ต้องใช้เวลาหรือใช้ความพยายามอย่างมากในการดำเนินการ หรือยังคงต้องมีการพึ่งพาความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ และเผชิญกับกระบวนการที่ซ้ำซ้อน มีการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นหลายทอดผ่านช่องทางต่าง ๆ เช่น การพบปะหรือคุยโทรศัพท์กับเจ้าหน้าที่

FutureGov เสนอแนะว่า แบบแผนที่เกิดขึ้นในระดับงานบริการ เช่น การสมัครใบขับขี่ หรือการจ่ายค่าปรับ จะมีส่วนช่วยในการกำหนดแนวทางการออกแบบการให้บริการ สามารถนำไปสู่การถอดบทเรียน ศึกษาหาแนวปฏิบัติที่ดีหรือการใช้เทคโนโลยีที่มีศักยภาพ เพื่อนำมาปรับใช้กับงานบริการทุกประเภท และการปฏิสัมพันธ์ทุกช่องทาง โอกาสสำคัญคือการนำกระบวนการคิดอย่างมีแบบแผนมาประยุกต์ใช้กับการออกแบบกลไกการทำงานขององค์กรเพื่อพัฒนาระดับความพร้อมทางดิจิทัล

แน่นอนว่า ในการออกแบบบริการออนไลน์ องค์กรฯท้องถิ่นจะต้องคำนึงถึงความง่ายในการใช้งาน (Usability) และความสามารถในการเข้าถึง (Accessibility) แต่ในขณะเดียวกัน ก็ต้องไม่ลืมแก้ปัญหาเรื้อรังอย่างเช่น ขั้นตอนยุ่งยาก หรือการปฏิสัมพันธ์ซ้ำซ้อน อันเป็นผลมาจากขีดจำกัดในการแบ่งปันข้อมูล หรือการที่องค์กรฯท้องถิ่นยังไม่สามารถให้บริการรูปแบบอื่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนได้ การแก้ปัญหาที่ตรงจุดที่สุด คือ การแก้ปัญหาในเชิงปฏิบัติการ (Operational Problems) เพื่อพัฒนาปรับปรุงการบริการ โจทย์ไม่ใช่แค่ทำให้การติดต่อรับบริการกับองค์กรฯท้องถิ่นง่ายขึ้น ชัดเจนขึ้น และรวดเร็วขึ้น แต่รวมไปถึงการทำให้ผู้ใช้สามารถรับบริการแบบรวดเดียวจบที่หน้าเว็บ (Service Invisibility) ลดการปฏิสัมพันธ์ที่ไม่จำเป็นให้น้อยที่สุด

‘การบูรณาการ’ เป็นหนึ่งในกุญแจสู่ความสำเร็จ รายงานของ FutureGov ระบุว่า การออกแบบร่วมกัน (Co-design) และการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดขององค์กรฯและข้าราชการ ผ่านการนำกระบวนการ (Facilitation) ในการออกแบบและการวิจัยบริการที่มีลักษณะคล้ายคลึงกัน ช่วยให้ภาคีประสบความสำเร็จมากยิ่งขึ้น และได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าการดำเนินการแบบต่างคนต่างทำ
 
ควรผลักดันให้มีการออกแบบร่วมกันระหว่างองค์กรต่าง ๆ ไปจนถึงการบูรณาการข้ามระดับการปกครอง ดังเช่นกรณีศึกษา โครงการ LOTI ในนครลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ FutureGov ได้มีส่วนร่วมในการสร้างภาคีเครือข่ายนวัตกรรมดิจิทัล ส่งเสริมให้องค์กรฯท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมในการระดมสมอง แบ่งปันแนวปฏิบัติที่ดี และออกแบบร่วมกัน เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลที่ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน และทลายข้อจำกัดของระบบราชการ
 
โจทย์สำคัญในการออกแบบบริการ คือ การวิเคราะห์บริบทของบริการทุกอย่างให้รอบด้าน มีการทดสอบและทำซ้ำแนวปฏิบัติ (Solutions) ที่ได้มาจากการให้บริการจริงในสถานที่ต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น แม้การจัดการด้านที่อยู่อาศัยของสำนักงานเขตแฮคนีย์ และสภาเทศบาลต่าง ๆ จะมีโจทย์ความท้าทายที่คล้ายกันหลายประการ แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดแล้วก็จะพบว่าผู้ใช้ในชุมชนมีความต้องการที่แตกต่างกันในหลายแง่
 
โดยสรุป หัวใจสำคัญของการออกแบบบริการออนไลน์สำหรับองค์กรฯท้องถิ่น คือ การสร้างแบบแผนของการออกแบบบริการที่ดี โดยมีแนวทางสำคัญ 3 ประการ ได้แก่
 
1) ‘บริการ’ ต้องมาก่อน ‘เว็บไซต์’
ให้ความสำคัญกับผลลัพธ์การบริการที่ตอบโจทย์ประชาชนเป็นลำดับแรก ออกแบบแนวปฏิบัติเพื่อปรับปรุงบริการให้ตอบโจทย์ความต้องการของประชาชน ส่งเสริมการบริการที่ยืดหยุ่นและให้ตัวเลือกเมื่อจำเป็น องค์กรต่าง ๆ ควรจะมีการแบ่งปันแนวทาง (Solutions) ที่นำไปสู่การสร้างแบบแผนทางเลือก และการพัฒนารูปแบบบริการออนไลน์ให้ดียิ่งขึ้น
 
2) ร่วมมือกันและทลายกำแพงระบบราชการ
ส่งเสริมการสร้างภาคีเครือข่าย ขยายความร่วมมือระหว่างองค์กรฯท้องถิ่น หน่วยงานภาครัฐในทุกระดับชั้น และในภาคประชาสังคม กระตุ้นให้บุคลากรทำงานโดยมองทะลุกรอบคิดขององค์กร ทั้งนี้ บริการภาครัฐในอนาคตมีแนวโน้มที่จะเป็นผลลัพธ์จากการออกแบบร่วมกัน และจะมีการสร้างแพลตฟอร์มการทำงานร่วมกันตามโมเดลการทำธุรกิจในยุคดิจิทัล (Digital Business Models)
 
3) เก็บบันทึกและแบ่งปัน
ร่วมกันหาวิธีการแบ่งปันแนวปฏิบัติด้านการบริการที่สามารถนำมาใช้ซ้ำ (reuse) ได้ แบบแผนการบริการดิจิทัลจะเป็นประโยชน์แก่องค์กรฯท้องถิ่น มีตัวกลางที่คอยประสานให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และแบ่งปันแบบแผนการบริการหรือแนวปฏิบัติที่ดี โดยนำแบบอย่างของหน่วยงานที่ประสบความสำเร็จมาประยุกต์ใช้กับองค์กรภาคีเครือข่าย
 
แปลและเรียบเรียง
อัลเบอท ปอทเจส
 
บทความต้นฉบับ
Ben Holliday. (2017). What do we think about service patterns for local government?. [Online]
 
= = = = = = = = = =
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage : FuturISt@NIDA
Blockdit : FuturISt@NIDA (blockdit.com)
Line : @futurist