หลายทศวรรษที่ผ่านมา อินเทอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาท ในหลายมุมของวิถีชีวิตมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ อินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลขนาดใหญ่ ที่คนจำนวนมากใช้งานในหลากหลายวัตถุประสงค์ ตั้งแต่ใช้สืบค้นข้อมูลข่าวสารเล็ก ๆ น้อย ๆ ใช้เสพความบันเทิง ใช้ทำการบ้าน ใช้ทำงาน ไปจนถึงใช้หารายได้เพิ่มเติม ในปัจจุบันอินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งข้อมูลที่ใหญ่ที่สุดในโลก และยังเป็นแหล่งสืบค้นข้อมูลหลักที่ชาวอเมริกันใช้เสพข้อมูลข่าวสารแทนที่สื่อแบบดั้งเดิมอย่างสื่อสิ่งพิมพ์และสื่อโทรทัศน์ เนื่องด้วยลักษณะประการสำคัญของอนเทอร์เน็ตคือสามารถเข้าถึงได้ง่ายและสามารถเข้าถึงได้ตลอดเวลาทำให้อินเทอร์เน็ตได้รับความนิยมและเติบโตอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่าการมาถึงของอินเทอร์เน็ตได้สร้างความเปลี่ยนแปลงต่อปฏิสัมพันธ์ของผู้คนในสังคมอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน บทความนี้พยายามนำเสนอผลกระทบของอินเทอร์เน็ตที่อาจส่งผลกระทบต่อความเป็นไปของสังคม
ระยะห่างเสมือน(Virtual Distance)
ดังที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตนั้นถูกใช้งานเพื่อตอบสนองความต้องการต่างๆมากมาย ตั้งแต่การหาข้อมูลเรื่องเล็กน้อยจนถึงเรื่องที่มีความสำคัญมากผ่านการสืบค้นในเสิร์จเอนจิ้นต่างๆอย่างGoogle หรือ Yahoo ความสะดวกในการหาข้อมูลนี้ ในอีกด้านหนึ่งได้ลดบทบาทของการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันในเชิงกายภาพลง ปรากฏการณ์เช่นนี้เรียกว่าระยะห่างเสมือน(Virtual Distance) ซึ่งหมายถึงการที่ผู้คนมีความใกล้ชิดกันในเชิงกายภาพ หากแต่ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กันโดยตรง ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้สายสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่เคยเหนียวแน่นได้ลดความสำคัญลง และสายสัมพันธ์ระหว่างคนกับเครื่องมือทางเทคโนโลยีได้เข้ามาแทนที่ อินเทอร์เน็ตได้ทำให้การสื่อสารแบบตัวต่อตัวระหว่างคนในครอบครัวและวงสังคมขนาดเล็กนั้นลดลง นอกจากนั้นยังมีโอกาสในการเพิ่มระดับความรู้สึกโดดเดี่ยว ความเครียด รวมไปถึงอาการซึมเศร้า ถึงแม้อินเทอร์เน็ตจะมีศักยภาพในการเข้ามาช่วยแก้ปัญที่เคยมีในอดีตของมนุษย์คือความห่างไกลเชิงกายภาพ อินเทอร์เน็ตได้ทำให้ผู้คนที่ต้องอยู่ไกลกันได้กลับมาใกล้ชิดกันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามในอีกแง่หนึ่งอินเทอร์เน็ตเองก็ทำให้ผู้คนที่อยู่ใกล้ชิดกันเชิงกายภาพ มีความห่างเหินกันมากยิ่งขึ้น
ระบบการจดจำที่เปลี่ยนแปลงไปของมนุษย์
อินเทอร์เน็ตนั้นมิได้ส่งผลกระทบเพียงแต่การปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนเท่านั้น หากแต่ยังส่งผลกระทบลึกลงไปถึงระบบความจำของมนุษย์ ในความเป็นจริงระบบการจดจำของมนุษย์นั้นมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมมาตลอดประวัติศาสตร์ การพัฒนาระบบตัวอักษรหรือภาษาเขียนขึ้นมาถือเป็นปรากฏการณ์ในประวัติศาสตร์มนุษย์ที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงระบบการรับรู้และความจำของมนุษย์อย่างชัดเจนที่สุด การเกิดขึ้นของตัวอักษรได้มาแทนที่ระบบความทรงจำเดิมของมนุษย์ที่ถ่ายทอดผ่านเรื่องเล่า นิทาน หรือการวาดรูป ระบบภาษาเขียนได้ช่วยลดภาระในการจดจำเรื่องราวต่างๆในชีวิตประจำวันของมนุษย์ การเกิดขึ้นของโปรแกรมเสิร์ชเอนจินก็เป็นอีกหนึ่งความเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลต่อระบบการจดจำของมนุษย์ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยโคลัมเบียระบุว่าการเติบโตขึ้นของระบบอินเทอร์เน็ตเสิร์ชเอนจินอย่างGoogleนั้น ได้เปลี่ยนวิธีการทำงานของสมองในการจดจำข้อมูล โดยในงานวิจัยระบุว่าในปัจจุบันสมองของมนุษย์มีการพึ่งพาอินเทอร์เน็ตในทำนองเดียวกับที่เราพึ่งพาความทรงจำจากเพื่อน สมาชิกครอบครัว หรือเพื่อนร่วมงาน กล่าวคือเราเลือกที่จะจดจำว่าข้อมูลประเภทใดควรถามใคร แทนที่เราจะจดจำข้อมูลนั้นเอง เช่นเดียวกับที่สมองมนุษย์พึ่งพาอินเทอร์เน็ต ในงานวิจัยยังระบุอีกว่าเรามีแนวโน้มที่จะลืมข้อมูลที่เรามั่นใจว่าสามารถหาได้ในอินเทอร์เน็ต และมีแนวโน้มที่จะจดจำข้อมูลที่เราคิดว่าไม่สามารถสืบค้นได้จากอินเทอร์เน็ต จากงานวิจัยดังกล่าวพอเป็นหลักฐานได้ว่าอินเทอร์เน็ตนั้นเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตของมนุษย์อย่างไม่สามารถแยกออกจากกันได้
ความเชื่อมั่นในระบบอัลกอริทึม
นอกจากอินเทอร์เน็ตจะส่งผลต่อระบบความทรงจำของมนุษย์แล้ว ในปัจจุบันระบบอัลกอริทึมที่ฝังอยู่ในโลกดิจิทัลนั้นมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจของมนุษย์มากขึ้นเรื่อย ๆ เห็นได้จากการเลือกชมสื่อในNetflixของผู้ใช้งานกว่า80%นั้น มาจากการแนะนำของระบบอัลกอริทึม ในขณะที่กว่า1ใน3ของการซื้อสินค้าในAmazonนั้นเกิดจากคำแนะนำของอัลกอริทึมเช่นเดียวกัน จากงานวิจัยของHEC Parisซึ่งเป็นสถาบันการศึกษาด้านการบริหารธุรกิจระบุว่ามนุษย์มีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังคำแนะนำของอัลกอริทึมในการตัดสินใจต่างๆมากกว่าผู้ให้คำแนะนำที่เป็นมนุษย์ นอกจากนี้งานวิจัยยังค้นพบอีกว่าผู้คนมีแนวโน้มที่จะเชื่อฟังคำแนะนำของระบบอัลกอริทึมถึงแม้จำทราบข้อมูลว่าระบบอัลกอริทึมที่ให้คำปรึกษานั้นเคยคาดการณ์ผิดพลาด งานวิจัยดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่ามนุษย์มีความเชื่อมั่นในระบบอัลกอริทึมสูงและมักคิดว่าระบบเหล่านี้มีความเป็นกลางทางข้อมูล แต่ในความเป็นจริงแล้วระบบเหล่านี้ถูกเขียนขึ้นโดยบริษัทเทคโนโลยีต่างๆ ซึ่งผู้ใช้งานไม่มีทางรู้เลยว่าข้อมูลที่ถูกนำเสนอให้กับตนเองนั้นถูกคัดเลือกมาอย่างไร ในบางกรณีลำดับในการนำเสนอเว็บไซต์หรือข้อมูลนั้นสามารถส่งผลถึงประเด็นใหญ่ๆได้เลย มีงานวิจัยระบุว่าการจัดลำดับและเครื่องมือในการเรียงลำดับเว็บไซต์ของเสิร์ชเอนจินนั้นส่งผลต่อผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ต้องการข้อมูลด้านสุขภาพ หากเสิร์ชเอนจินนำเสนอเว็บไซต์ที่มีความน่าเชื่อถือและมีหลักฐานอ้างอิงย่อมส่งผลดีต่อผู้ใช้งาน ในขณะที่เสิร์ชเอนจินที่มีระบบอัลกอริทึมที่มีอคติ(Algorithm Bias)นั้น สามารถเปลี่ยนความคิดของผู้ใช้งานได้เลย นอกจากประเด็นด้านสุขภาพแล้ว การคัดเลือกข้อมูลของอัลกอริทึมยังสามารถส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งได้อีกด้วย โดยการจัดลำดับเนื้อหาของเว็บไซต์โดยระบบอัลกอริทึมที่มีอคติ(Algorithm Bias)สามารถส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ลงคะแนนที่ยังไม่ได้ตัดสินได้กว่า20%และอิทธิพลนี้จะยิ่งมีมากขึ้นในกลุ่มประชากรบางกลุ่ม จะเห็นได้ว่าระบบอัลกอริทึมนั้นมีอิทธิพลอย่างมาก ไม่พียงแต่ส่งผลกระทบในระดับปัจเจก หากแต่สามารถส่งผลกระทบต่อสังคมโดยรวมได้เลย
Chat GPT สัญญาณของความเปลี่ยนแปลง
Chat GPTหรือโปรแกรมแชทบอตที่สามารถตอบโต้กับคู่สนทนาได้อย่างคล่องแคล่ว โปรแกรมนี้สามารถตอบโต้ได้แทบทุกเรื่องเนื่องจากโปรแกรมใช้AIในการรวบรวมข้อมูลจากแหล่งต่างๆทั่วโลกและทำการประมวลผลเป็นคำตอบ ซึ่งมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าด้วยความสามารถที่สูงของโปรแกรมดังกล่าวที่มิได้เพียงแต่ตอบคำถามสั้นๆเท่านั้น หากแต่ยังสามารถตอบคำถามขนาดยาวเป็นบทความได้เลย จึงมีความกังวลว่าโปรแกรมดังกล่าวจะมาแทนที่อาชีพต่างๆในสายงานเขียน หรือแม้แต่ถูกนำไปเป็นตัวช่วยในการเรียนหนังสือหรือไม่ ถึงแม้ว่าโปรแกรมจะยังมีความบกพร่องอยู่บ้างและยังไม่สามารถสร้างผลงานออกมาได้เหมือนที่มนุษย์ทำร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่การเกิดขึ้นของโปรแกรมดังกล่าวแสดงให้เห็นแนวโน้มของเทคโนโลยีที่กำลังจะเข้ามามีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตและสังคมมนุษย์ในอนาคตอันใกล้ อย่างไรก็ตาม Chat GPTคือก้าวใหม่ของระบบอัลกอริทึมที่กล่าวไปในหัวข้อก่อนหน้า ซึ่งมีแนวโน้มจะส่งผลกระทบต่อความรู้สึกนึกคิดของผู้คนในสังคมอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ต เสิร์ชเอนจิน อัลกอริทึม ล้วนโอบล้อมสังคมมนุษย์ไว้แทบทุกแง่มุม ผลจากการมาถึงของเทคโนโลยีเหล่านี้ได้สะท้อนออกมาผ่านสภาพแวดล้อมทางสังคม วัฒนธรรม และวิถีชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้คนในพื้นที่ต่างๆทั่วโลกทั้งด้านบวกและลบ มนุษย์ในฐานะที่เป็นทั้งผู้สร้างและผู้ได้รับผลกระทบจากเทคโนโลยีเหล่านี้ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องปรับตัวและตระหนักถึงความสำคัญของการควบคุมและการทำความเข้าใจการทำงานของเทคโนโลยีเหล่านี้
…………………………
บทความโดย: ภูชิสส์ ภูมิผักแว่น
…………………………
อ้างอิง
DJ Wardynski. (2019). The Effects of Technology on Human Interaction, What are they?.
Eric Sharfstein. (2014). Study Finds That Memory Works Differently in the Age of Google.
Liu Cathy Yang, Xitong Li, & Sangseok You. (2022). To What Extent Do People Follow Algorithms’ Advice More Than Human Advice?
Ahmed Allam, Peter Johannes Schulz, & Kent Nakamoto . (2014). The impact of search engine selection and sorting criteria on vaccination beliefs and attitudes: two experiments manipulating Google output. J Med Internet Res.
Robert Epstein and Ronald E. Robertson. (2015). The search engine manipulation effect (SEME) and its possible impact on the outcomes of elections.
Ian Bogost. (2022). ChatGPT Is Dumber Than You Think. The Atlantic
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้องสำหรับโพสต์นี้