เทคโนโลยีความจริงผสมผสาน เป็นเทคโนโลยีที่ผนวกโลกความเป็นจริง กับองค์ประกอบดิจิทัลเข้าด้วยกัน และเอื้อให้ทั้งสองส่วน กับผู้ใช้งานสามารถมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันได้ โดยอาศัยเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์วิทัศน์ (computer vision) การประมวลผลกราฟฟิก การแสดงผล ระบบการนำเข้าข้อมูล และการประมวลผลแบบคลาวด์ (Microsoft, 2021) เทคโนโลยีความจริงผสมผสานนี้ เกิดจากการบูรณาการ และการต่อยอดขีดความสามารถของเทคโนโลยีความจริงเสมือน (Virtual Reality, VR) และเทคโนโลยีความจริงเสริม (Augmented Reality, AR) ที่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายในปัจจุบันเข้าด้วยกัน (Bayern, 2019)

แนวโน้มในอนาคต
อุปกรณ์เทคโนโลยีความจริงผสมผสาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งอุปกรณ์ฉายภาพแบบสวมหัวและเลนส์ มีแนวโน้มที่จะได้รับการพัฒนาทั้งในเชิงคุณภาพภาพ ประสิทธิภาพการประมวล ผล ความหน่วงในการรับส่งข้อมูล และขนาด อย่างมีนัยสำคัญในระยะ 5 ปี (Vovk, 2020)
อุปกรณ์น่าจะได้รับการพัฒนาจนใช้งานได้อย่างสะดวก มีต้นทุนต่ำลง และเข้าถึงได้ง่ายขึ้น จนกลายเป็นอุปกรณ์ที่บุคคลทั่วไปใช้งานกันแพร่-หลายยิ่งขึ้นภายในระยะ 5 ปี (Ibid.) จำนวนอุปกรณ์เทคโนโลยีความจริงเสริมที่ใช้งานในโลกจะเพิ่มขึ้นเป็น 1.73 พันล้านชิ้นภายใน ค.ศ.2024 (Boland, 2020)
ซอฟต์แวร์ที่ขับเคลื่อนอุปกรณ์น่าจะได้รับการพัฒนาจนสามารถนำมาใช้งานได้หลากหลายวัตถุประสงค์มากยิ่งขึ้น โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และระบบคลาวด์ อุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีนี้จะมีบทบาทมากที่สุด คือ เกม/ความบันเทิง (Gaul, 2018)
ขนาดตลาดของเทคโนโลยีความจริงผสมผสานในโลกมีแนวโน้มจะขยายตัวระหว่าง ค.ศ.2021-2028 ประมาณร้อยละ 18 (Grand View Research, 2021)
ต้นทุนการพัฒนาที่สูงและการขาดแคลนแร่ธาตุที่ใช้ผลิตเซนเซอร์อาจส่งผลให้ต้นทุนการใช้งานสูง และมีการใช้งานอย่างจำกัดและไม่เท่าเทียม

ผลกระทบต่อประเทศไทย
ลดต้นทุนและเวลาในการออกแบบ ปรับแต่ง และทดสอบผลิตภัณฑ์ (ธารทิพย์ รัตนวิจารณ์ และ ชนิชา พงษ์สนิท, 2016) จึงเอื้อต่อการพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการแบบตามคำสั่งซื้อเฉพาะหรือสำหรับลูกค้าเฉพาะกลุ่ม และการพัฒนานวัตกรรมใหม่ ในทางกลับกัน อุตสาหกรรมแบบผลิตจำนวนมากที่ไม่พัฒนานวัตกรรมอย่างรวดเร็วก็เสี่ยงจะออกจากตลาด
เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการการผลิตอุตสาหกรรมและการทำงานทางไกล (Lanner, 2019) จึงเสริมสร้างผลิตภาพของแรงงานทักษะขั้นสูง แต่ลดอุปสงค์ต่อแรงงานขั้นกลางถึงต่ำ
สร้างประสบการณ์เสมือนจริงให้กับผู้เข้ารับการ-ศึกษาอบรม (Versace et al., 2020) จึงช่วยพัฒนา การเรียนรู้ ทุนมนุษย์ และการศึกษาในที่ห่างไกล
เอื้อต่อการพัฒนาการแพทย์ทางไกล การรักษาผู้ป่วยที่มีอาการทางประสาท รวมถึงการดูแลผู้พิการและผู้สูงอายุ (ภัทรพร เย็นบุตร, n.d.) จึงน่าจะช่วยยกระดับคุณภาพระบบสาธารณสุข
ส่งเสริมคุณค่าแบบปัจเจกนิยมและอิสรนิยม
เพิ่มขีดความสามารถของกองทัพ หน่วยข่าวกรอง และขบวนการก่อการร้ายในการบรรลุเป้าหมาย แต่น่าจะลดสำนึกทางจริยธรรมของเจ้าหน้าที่ จึงอาจยกระดับความรุนแรงในการปฏิบัติภารกิจ เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเพิ่มความไม่มั่นคงในการเมืองโลกมากขึ้น