ถ้าเปรียบมนุษยชาติ เป็นช่วงวัยของมนุษย์ ในตอนนี้เราก็ยังคงอยู่ในช่วงวัยรุ่นเท่านั้น ซึ่งช่วงวัยรุ่นนั้น คือวัยหัวเลี้ยวหัวต่อ การตัดสินใจในช่วงชีวิตนี้ จะมีผลในระยะยาวกับอนาคตของชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ อนาคตของมนุษยชาติก็เช่นกัน ปัจจุบันมนุษยชาติมีประชากร 118 พันล้านคน และ อีกหลายพันล้านชีวิต ที่กำลังจะเกิดมา และการตัดสินใจของพวกเรา ในช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง จะเป็นตัวกำหนดอนาคตของพวกเขา
สังคมในปัจจุบันไม่ตระหนักถึงความสำคัญและผลกระทบของการตัดสินใจนี้ หนึ่งในเรื่องที่พวกเราต้องตระหนักเพื่อให้มนุษยชาติสามารถเติบโตต่อไปได้นั้นคือการเข้าใจทัศนคติในเรื่องอนาคตที่ยั่งยืน (Longtermism) อนาคตที่ยั่งยืนนั้นในแง่ทฤษฎีนั้นกล่าวถึงการตัดสินใจที่มีผลในระยาวกับอารยธรรมของมนุษยชาติทั้งในปัจจุบันและอนาคต
การตระหนักถึงภาวะโลกร้อน การแก้ปัญหาขยะกัมมันตรังสี การลงมือจัดการกับปัญหาทรัพยากรธรรมชาติที่ขาดแคลน ฯลฯ การลงมือแก้ปัญหาเหล่านี้ไม่เพียงแค่ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของเราแต่ยังส่งผลถึงอนาคตของลูกหลานของเราที่ยังไม่เกิดมาอีกด้วย เรามีหน้าที่ต้องปกป้องและสร้างอนาคตที่ดีให้แก่คนรุ่นต่อไป การเพิกเฉยและไม่ลงมือแก้ปัญหาที่เราก่อไว้โดยใช้ข้ออ้างเพียงแค่ว่า คนรุ่นต่อไปนั้นยังไม่เกิดมา ไม่ใช่คำตอบที่ดีพออีกต่อไปแล้ว
ถ้ามนุษยชาติเป็นเพียงแค่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมทั่วไปเราควรจะเหลือเวลาก่อนที่เราจะสูญพันธุ์ราว 700,000 ปี แต่เราเป็นมนุษย์ การกระทำของเราสามารถทำให้เราสูญสิ้นเผ่าพันธุ์ได้ในเวลาเพียงไม่กี่ร้อยปี หรือมนุษยชาติอาจจะดำรงอยู่ต่อได้อีกหลายร้อยล้านปี เพื่อให้เป็นกรณีหลังมนุษยชาติจึงมีภารกิจที่ต้องทำเพื่อให้อารยธรรมของเรานั้นสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้
ภารกิจแรกนั้นคือการลดความเป็นไปได้ที่พวกเราจะสูญพันธุ์ โดยเราต้องตระหนักถึงความร้ายแรงของโรคระบาดที่ในปัจจุบันไม่ได้มีเพียงแค่โรคจากมนุษย์สู่มนุษย์อีกต่อไปแล้ว แต่ยังมีโรคจากสัตว์สู่คนด้วย จากการที่มนุษย์ลุกล้ำเข้าไปในอาณาเขตของธรรมชาติมากขึ้น ทำให้เราต้องต้องหาวิธีป้องกันไม่ว่าจะเป็นการสร้างวัคซีน การวิจัยทางพันธุศาสตร์ หรือวิธีการต่อสู้กับเชื้อโรคด้วยวิธีการทางกายภาพต่างๆ ซึ่งในปัจจุบันความพยายามจากหลายภาคส่วนในการเตรียมความพร้อมให้กับมนุษยชาติในการรับมือกับโรคระบาดในอนาคต เช่น Oxford Pandemic Sciences Institute ซึ่งเป็นศูนย์วิจัยที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อเตรียมการและพัฒนาวัคซีนป้องกันโรคระบาด เป็นต้น
ภารกิจต่อมาคือการทำให้อารยธรรมของเรานั้นยั่งยืน กล่าวคือทำให้อารยธรรมของเรานั้นดีพอที่จะส่งต่อให้ลูกหลานของเราทุกคนได้อย่างเต็มภาคภูมิไม่ใช่แค่กับคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ซึ่งทำได้โดยการพัฒนาแนวความคิด ศีลธรรมและชุดคุณค่าที่มนุษยชาติยึดถือ เราสามารถสร้างสังคมที่ดีในปัจจุบัน โดยเป็นสังคมที่ทุกคนเท่าเทียมกัน เป็นประชาธิปไตยและพัฒนาโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง เพื่อให้สังคมในอนาคตสามารถพัฒนาต่อยอดไปได้อย่างยั่งยืนและมั่นคง ซึ่ง
นวัตกรรมและเทคโนโลยีนั้นอาจจะเป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยเราสร้างสังคมที่เราต้องการได้ แต่ในอีกทางหนึ่ง นวัตกรรมเช่น ปัญญาประดิษฐ์ (AI) นั้นยังเป็นเทคโนโลยีคาดเดาไม่ได้และจะส่งผลร้ายมากกว่าดีถ้าอยู่ในมือคนผิด เห็นได้จากการที่ปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริธึมถูกนำไปใช้ในโซเชียลมีเดียเพื่อกระจายข่าวสารและข้อมูลเท็จ เพื่อเป็นการการันตีว่านวัตกรรมนี้จะไม่ถูกใช้อย่างผิดวิธีหลายภาคส่วนได้มีการศึกษาวิจัยในเรื่องนี้เพื่อสอนให้ปัญญาประดิษฐ์เหล่านี้มีจุดมุ่งในการสร้างอนาคตที่ยั่งยืนร่วมกันกับเรา เพื่อให้เราสามารถนำตัวแปรที่ไม่แน่นอนนี้มาใช้เพื่ออนาคตได้
ต่อมาคือการนำแนวคิดเรื่องอนาคตที่ยั่งยืนไปปฏิบัติจริง โดยรากฐานของแนวคิดนี้คือการเห็นแก่ผู้อื่นและมีความเห็นอกเห็นใจแก่เพื่อนมนุษย์ ผู้ที่นำแนวคิดอนาคตที่ยั่งยืนนี้ไปใช้อาจจะทำออกมาได้ในหลายทางเช่นการบริจาคผ่านมูลนิธิการกุศล กองทุนเพื่ออนาคตต่าง ๆ หรือในคนรุ่นใหม่ที่เลือกทำงานในองค์กรไม่แสวงหาผลกำไรมากขึ้น ทั้งนี้ อนาคตที่ยั่งยืนยังเป็นแนวคิดที่ใหม่อยู่ทำให้ยังมีตัวแปรที่ยังไม่ได้สำรวจอีกมาก แต่ก็มีองค์กรที่สนใจในเรื่องนี้หลายองค์กรกำลังศึกษาอยู่เช่นกัน ตัวอย่างเช่น Future of Humanity Institute, Global Priorities Institute และ Future of Life Institute เป็นต้น
สุดท้ายนี้ เราต้องกลับมามองถึงผลของแนวคิดอนาคตที่ยั่งยืนที่มีกับปัจจุบัน เพราะการทำเพื่ออนาคตนั้นไม่ได้แปลว่าจะเป็นการทิ้งอดีตหรือละเลยปัจจุบันแต่อย่างใด แค่ในบางครั้งอาจจะเห็นผลได้ไม่ชัดหรือทันทีทันใด ตัวอย่างของเรื่องเหล่านี้เช่น การวิจัยวัคซีน การหันมาใช้พลังงานสะอาด ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้นอกจากจะช่วยโลกในอนาคตของลูกหลานของเราแล้วยังช่วยให้คุณภาพชีวิตของเราในปัจจุบันดีขึ้นด้วย และเมื่อเราตระหนังถึงเรื่องนี้แล้วจะทำให้เราเห็นถึงความสำคัญขององค์กรที่ค่อยช่วยเราในเรื่องนี้มากขึ้นเพราะบางองค์กรที่ทำงานเพื่อพวกเราในระดับสากลนั้นมีงบประมาณน้อยกว่าร้านฟาสต์ฟู้ดแถวบ้านเราด้วยซ้ำ การนำแนวคิดอนาคตที่ยั่งยืนไปปฏิบัตินั้นไม่จำเป็นต้องมาจากการบริจาคเพียงอย่างเดียว เราทุกคนสามารถเริ่มทำได้ด้วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเราให้ทำร้ายโลกน้อยลง เพื่อให้เราและลูกหลานของเราในอีกหลายร้อยไปจนถึงหลายล้านปีข้างหน้ามีโลกที่น่าอยู่
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต #การคาดการณ์อนาคต #แรงขับเคลื่อน
= = = = = = = = = =
แปลและเรียบเรียงโดย: ชินพรรธน์ นิธิฐานวัฒน์
เรียบเรียงจาก: BBC Future
เครดิตภาพ : https://www.ft.com/content/3ebb3122-cb11-11e8-8d0b-a6539b949662