แนวโน้มที่แน่นอนและไม่แน่นอนของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหลังโควิด-19

แม้ว่าประเทศไทย จะได้รับ ผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 มาแล้วกว่า 6 เดือน ภาพของโลกหลังโควิด-19 ยังคงมีความคลุมเครือ และไม่ชัดเจนนัก ในช่วงที่ผ่านมา ผู้ประกอบการ และบุคลากรในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว จำนวนไม่น้อยได้รับผลกระทบ ถึงขั้นต้องออกจากอุตสาหกรรมนี้ไป หลายรายอยู่สถานการณ์ที่ต้องตัดสินใจ ว่าจะเลือกทางเลือกใดนับจากนี้ การทำความเข้าใจและคาดการณ์ถึงแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของภาคการท่องเที่ยวนับจากนี้จึงมีความสำคัญกับการตัดสินใจทางธุรกิจและการตัดสินใจเชิงนโยบาย ทีมงาน FuturISt จึงได้ประมวลแนวโน้มที่แน่นอนและไม่แน่นอนของภาคการท่องเที่ยวในยุคหลังโควิดใน 4 มิติหรือ 4 Cs ไว้ดังนี้

มิติด้านลูกค้าหรือนักท่องเที่ยว (Customer)

ในตลาดการท่องเที่ยวเพื่อความผ่อนคลาย (Leisure Travel) นักท่องเที่ยวยังคงมีความต้องการเดินทางเพื่อท่องเที่ยวค่อนข้างแน่นอนสูง นักท่องเที่ยวใช้เวลาในช่วงที่ผ่านมาด้วยการเฝ้ารอและทำการบ้านเพื่อเตรียมตัวเดินทางท่องเที่ยวเมื่อสถานการณ์เอื้ออำนวย และบรรเทาความต้องการการท่องเที่ยวด้วยการเดินทางท่องเที่ยวในประเทศในระยะทางที่สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกและปลอดภัย ดังเห็นได้จากจำนวนนักท่องเที่ยวที่หนาแน่นในช่วงหยุดยาวในเมืองท่องเที่ยวใกล้กับกรุงเทพมหานครในช่วงที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามในระยะต่อไปความไม่แน่นอนสำคัญของนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้คือจำนวนนักท่องเที่ยวที่ยังคงมีกำลังซื้อไม่ลดลงในสถานการณ์การหดตัวทางเศรษฐกิจและการว่างงานที่สูงขึ้น

ส่วนในตลาดการท่องเที่ยวเชิงธุรกิจ (Business Travel) ทั้งการท่องเที่ยวเพื่อเป็นรางวัล การท่องเที่ยวเพื่อเดินทางติดต่อประชุมและเจรจาทางธุรกิจมีแนวโน้มลดลงในระยะสั้นแน่นอนและชัดเจน ทั้งจากข้อจำกัดในการเดินทางระหว่างประเทศ รายได้และงบประมาณที่ลดลงขององค์กร ส่วนในระยะถัดไปนั้น ความต้องการของการท่องเที่ยวกลุ่มนี้ยังคงมีความไม่แน่นอนว่าจะกลับมาเป็นเช่นเดิมหรือไม่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับ ฐานะทางการเงินของบริษัทหรือสภาวะเศรษฐกิจ ความเคยชินและชื่นชอบกับการประชุมทางธุรกิจด้วยการเดินทางมากกว่าการประชุมและเจรจาทางธุรกิจผ่านระบบเสมือนจริงทางผ่านอินเทอร์เน็ต

มิติด้านกิจการหรือผู้ให้บริการ (Corporate)

ผู้ประกอบการธุรกิจในสาขาการท่องเที่ยวและการเดินทางที่สามารถประคองตัวให้อยู่รอดได้ถึงปัจจุบัน จะเป็นรายที่มีกระแสเงินสดสะสมที่มากเพียงพอกับการหยุดการดำเนินงาน หรือมีความสามารถในการบริหารต้นทุน หรือเพิ่มทุนได้ในระยะเวลาร่วม 6 เดือนที่ผ่านมา การอยู่รอดและเติบโตของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ยังคงเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอนสูงแม้ว่าฤดูกาลท่องเที่ยวกำลังจะมาถึงในช่วง 2 -3 เดือนถัดจากนี้ ทั้งนี้ความสามารถในการอยู่รอดและเติบโตของธุรกิจในสาขานี้ขึ้นอยู่กับขีดความสามารถในการทำตัวให้เบาหรือมีโครงสร้างต้นทุนคงที่ในสัดส่วนที่ต่ำ มีรูปแบบการดำเนินงานที่มีความคล่องตัวสูง (Agility) เพื่อสร้างคุณค่าชุดใหม่ที่ตลาดต้องการหรือเปลี่ยนไป มีความสามารถในการเปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจทั้งในด้านการตลาดและการปฏิบัติการให้เป็นดิจิตอลเพิ่มมากขึ้นตามแนวโน้มพฤติกรรมของผู้บริโภคและระบบนิเวศในระดับโลกของอุตสาหกรรมนี้

มิติด้านคู่แข่งขันและการแข่งขัน (Competition)

ในระยะสั้นกำลังการผลิตที่มีมากเกินความต้องการของผู้ซื้อหรืออุปทานส่วนเกินยังคงเป็นความท้าทายสำคัญของผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้ ส่งผลให้พฤติกรรมการตัดราคาและการแข่งขันที่รุนแรงในด้านอื่นๆระหว่างผู้ประกอบการเป็นสิ่งที่ค่อนข้างแน่นอนเนื่องจากหลีกเลี่ยงได้ยาก การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่ที่มีต้นทุนที่ต่ำกว่าทั้งจากการมีโมเดลธุรกิจใหม่ หรือการพึ่งพาแรงงานลดลง หรือใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีมากขึ้น หรือการจ้างแรงงานใหม่ในอัตราค่าแรงเริ่มต้น หรือการซื้อกิจการที่ล้มละลายมาได้ในราคาที่ถูก ย่อมเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ภาพการแข่งขันที่รุนแรงยังคงมีอยู่แน่นอนในระยะกลาง

ความไม่แน่นอนอีกประการที่สำคัญคือการเกิดขึ้นของสินค้าทดแทนที่เป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้บริโภคที่อาจทำให้ความต้องการในบางสาขาธุรกิจในภาคการท่องเที่ยวลดหายไปได้อย่างรวดเร็ว เช่น การเดินทางระหว่างประเทศได้อย่างรวดเร็วด้วยจรวด การท่องเที่ยวเสมือนจริงด้วยเทคโนโลยี Virtual Reality และ IoT การจัดการการเดินทางผ่านผู้ช่วยส่วนตัว Siri หรือ Alexa หรือ การเดินทางด้วยรถยนต์ไร้คนขับที่ทำให้รถยนต์ถูกปรับเปลี่ยนฟังก์ชั่นเป็นที่พักและห้องพักผ่อนระหว่างเดินทางต่างพื้นที่ได้ เป็นต้น

มิติด้านบริบทปัจจัยแวดล้อม (Context)

ปัจจัยความไม่แน่นอนในระดับมหภาค 4 ประการ ที่มีผลต่ออนาคตของภาคการท่องเที่ยวสูงมาก คือ การค้นพบวัคซีนป้องกันหรือยารักษาผู้ติดเชื้อ COVID-19 ให้หายขาดได้ ซึ่งจะมีผลต่อทั้งความเชื่อมั่นของผู้บริโภคหรือนักท่องเที่ยว กฎระเบียบและข้อจำกัดของการเดินทางระหว่างพื้นที่ และความง่ายและความสะดวกสบายของการเดินทางระหว่างพื้นที่ ประการที่สองคือการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจว่าจะเป็นไปในลักษณะรวดเร็วหรือค่อยเป็นค่อยไป ประกาศที่สามคือความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศและการกีดกันทางการค้าว่าจะมีแนวโน้มผ่อนคลายหรือตึงเครียดมากขึ้น และประการสุดท้ายคือประสิทธิผลของนโยบายและมาตรการการช่วยเหลือ บรรเทาผลกระทบในระยะสั้น และการลงทุนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการท่องเที่ยวในอนาคตจากภาครัฐ

ภายใต้ความไม่แน่นอนสูงของภาคการท่องเที่ยวในอนาคตดังที่กล่าวมาข้างต้น ผู้ประกอบการ ผู้บริหารในหน่วยงานรัฐและเอกชนในภาคท่องเที่ยวจำเป็นต้องมีขีดความสามารถในการวิเคราะห์แนวโน้ม ความไม่แน่นอน และการคาดการณ์อนาคต และพัฒนากลยุทธ์หรือยุทธศาสตร์ให้สามารถตอบโจทย์โอกาสและความท้าทายในอนาคต เพื่อให้ธุรกิจสามารถอยู่รอด แข่งขันได้ และเติบโตอย่างต่อเนื่อง และเพื่อให้ประเทศไทยมีนโยบาย มาตรการ และกลไกสนับสนุนการพัฒนาการท่องเที่ยวของประเทศได้อย่างมั่งคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

บทความโดย :
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
ดุสิต เจเถื่อน
Future Intelligence & Strategy Unit (FuturISt)
สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์