Analytic Tools: ก่อนจะใช้เครื่องมือ ต้องถือเข็มทิศให้มั่น

Analytic Tools:
ก่อนจะใช้เครื่องมือ ต้องถือเข็มทิศให้มั่น
.
ในโลกแห่งความผันผวน การวางกลยุทธ์กลายเป็นโจทย์ที่ท้าทายความสามารถ สำหรับองค์กร รวมไปถึงหน่วยงานราชการ หรือองค์กรไม่แสวงหาผลกำไร ที่ต้องปรับตัวให้ทันต่อความเปลี่ยนแปลง และได้มีการนำเครื่องมือการวิเคราะห์ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการวางแผน เช่น SWOT, PESTEL ไปจนถึง Business Model Canvas แต่มิใช่ว่าทุกเครื่องมือจะสามารถตอบโจทย์ได้เสมอไป
 
แผนยุทธศาสตร์ ตัวชี้วัด งบประมาณ คือตัวอย่างของโจทย์ต่าง ๆ ที่นักวิเคราะห์นโยบายและแผนต้องตีให้แตก ความท้าทายอยู่ที่การมองไปข้างหน้าเพื่อวางแผนระยะยาวให้กับองค์กร โดยคำนึงถึงการบริหารแผน งบประมาณ และกำลังคนให้มีความสอดคล้องกัน ภายใต้ทรัพยากรจำกัด
.
จากประสบการณ์ของนักวิเคราะห์ฯ พบว่ามีปัจจัยต่าง ๆ ที่จะทำให้การวิเคราะห์พลาดเป้า ได้แก่ การมีอคติ ข้อจำกัดเรื่องงบหรือบุคคล การตั้งเป้าหรือกำหนดตัวชี้วัดที่เกินจริง ชุดข้อมูลขาดความน่าเชื่อถือ หรือการขาดความเชื่อมโยงในเชิงกลยุทธ์ เป็นต้น ซึ่งเครื่องมือการวิเคราะห์ใหม่ ๆ จะเป็นตัวช่วยที่ทำให้นักวิเคราะห์ฯ คิดได้เร็วขึ้น มีมุมมองที่กว้างขึ้น และตัดสินใจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
.
บางคนเข้าใจผิดว่าเครื่องมือการวิเคราะห์เปรียบเหมือนมีดแม็กไกเวอร์ (มีดอเนกประสงค์) ที่ช่วยตอบทุกโจทย์ แต่ในความเป็นจริงแล้ว เครื่องมือเป็นดั่งชุดไขควงที่มีหลายขนาด หลายแฉก ซึ่งนักวิเคราะห์ต้องเลือกใช้ให้เหมาะสม และหัวใจสำคัญก็คือ “โจทย์” ต้องมาก่อนเสมอ เป้าหมายหรือคำถามการวิเคราะห์ต้องชัดเจน จากนั้นจึงค่อยเลือกใช้เครื่องมือที่ตอบโจทย์ เราสามารถนำเครื่องมือวิเคราะห์ต่าง ๆ มาประยุกต์ใช้ให้เหมาะกับโจทย์หรือบริบทขององค์กร ตัวอย่างเช่น
 
✅เครื่องมือวิเคราะห์สภาพแวดล้อม (SWOT / TOWS / PESTEL / 7s / VRIO)
✅เครื่องมือวิเคราะห์ผู้ใช้บริการ/ลูกค้า (Journey Map / 5WHYs / What if? / Value Proposition Canvas)
✅เครื่องมือวิเคราะห์คู่แข่ง (Identifying Competitors / Strategic Group Map)
✅เครื่องมือวิเคราะห์ตำแหน่งและทิศทาง (Ansoff Matrix / BCG Matrix / GE Business Screen Matrix)
✅เครื่องมือวิเคราะห์โครงการ/แผนงาน (LogFrame / Problem Tree / Objective Tree)
✅เครื่องมือวิเคราะห์กลยุทธ์ภาพรวม (Balance Scorecard / 5 Generic Competitive Advantage)
.
โจทย์หนึ่งที่ยากมาก ๆ สำหรับองค์กรในปัจจุบัน คือการแสวงหาเป้าหมายที่ชัดเจนในโลกที่คลุมเครือ นักวิเคราะห์จำเป็นต้องมีทักษะการคาดการณ์อนาคตและเครื่องมือไว้เป็นเข็มทิศนำทาง ท่ามกลางกระแสการเปลี่ยนแปลงอันเชี่ยวกราก การวิเคราะห์โดยนำ ‘ประเด็น’ มาเป็นตัวตั้ง อาจกลายเป็นการตีกรอบที่ส่งผลให้แผนงานขององค์กรล้มเหลว ไม่สอดคล้องกับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป สิ่งที่สำคัญกว่าประเด็นก็คือ ‘องค์กร’ และ ‘บุคคล’ ซึ่งนักวิเคราะห์ควรเริ่มต้นจากสองสิ่งนี้ ทำความเข้าใจรากฐาน ระบบขององค์กร ศึกษาและรับฟังผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholders) ผู้ที่จะได้รับผลกระทบจากนโยบาย หรือส่งอิทธิพลต่อความสำเร็จขององค์กร
.
เมื่อนักวิเคราะห์มีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจน บวกกับเครื่องมือที่เหมาะสมแล้ว ก็จะช่วยให้การวางกลยุทธ์มีประสิทธิภาพมากขึ้น นำไปสู่ผลลัพธ์ที่คาดหวัง และการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน
 
—————————
ดัดแปลงเนื้อหาจากการบรรยายหัวข้อ “เครื่องมือการวิเคราะห์สำหรับนักวิเคราะห์นโยบายและแผน” โดย ผศ.ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์ ผู้อำนวยการโปรแกรมการคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ (FuturISt) สถาบันบัณฑิตพัฒนาบริหารศาสตร์
= = = = = = = = = =
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage : FuturISt@NIDA
Blockdit : FuturISt@NIDA (blockdit.com)
Line : @futurist