Autonomous Logistics เป็นเทคโนโลยีการขนส่งอัตโนมัติ โดยตลอดทั้งกระบวนการจะไม่มีมนุษย์เข้ามามีส่วนร่วม แต่จะเป็นการทำงานของคอมพิวเตอร์ และ AI เท่านั้น ซึ่งรวมไปถึงการใช้ยานยนต์อัตโนมัติหรือการขนส่งไร้คนขับที่สามารถส่งสินค้าไปยังจุดหมายได้ด้วยยานยนต์อัตโนมัติ เช่น โดรน รถบรรทุกไร้คนขับ หุ่นยนต์ (rolling robot)
โดรน – ตอบโจทย์การส่งพัสดุไปในพื้นที่ห่างไกลหรือในพื้นที่ที่ต้องใช้เวลาในการเดินทาง ทั้งนี้โดรนจะช่วยทำให้การขนส่งสินค้าเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว สะดวกและปลอดภัย เข้าถึงพื้นที่ของผู้รับได้รวดเร็ว ช่วยลดต้นทุนการขนส่งและเพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง มีผลอย่างยิ่งกับบริการขนส่งอาหาร (food delivery)
รถบรรทุกไร้คนขับ – หลักการทำงานคล้ายกับรถยนต์ไร้คนขับ นั่นคือตัวรถจะติดตั้งกล้องวิดีโอ และเซ็นเซอร์ตรวจจับการเคลื่อนไหวจำนวนมากเอาไว้ เพื่อส่งข้อมูลไปให้คอมพิวเตอร์ของ AI ทำการประมวลผลในการทำงานโดยอัตโนมัติ การศึกษาพบว่าการขนส่งสินค้าผ่านรถบรรทุกมีความคุ้มค่าคุ้มราคากว่าการขนส่งด้วยรถไฟ ทั้งในเรื่องความรวดเร็วการขนส่งที่มากกว่า และต้นทุนการขนส่ง
หุ่นยนต์ – การขนส่งด้วย Robot grocery สามารถช่วยลดต้นทุนลงได้ถึง 6 เท่า ลดค่าใช้จ่ายน้ำมันถึง 6 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (Lydon, 2021) เท่ากับเป็นการช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์
นอกจากนี้ในปัจจุบันยังมีเทคโนโลยี Logistic ที่น่าสนใจ อย่างเช่น Vision Picking อุปกรณ์สวมใส่ AR ที่ช่วยแจ้งพนักงานคลังสินค้าให้เรียงและจัดเก็บสินค้าได้อย่างถูกต้อง และ On Demand delivery ที่ช่วยให้ผู้บริโภคสามารถควบคุมวันที่ เวลา และสถานที่จัดส่งอย่างยืดหยุ่น แม้กระทั่งระหว่างการจัดส่ง
Autonomous Logistics เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจที่เกี่ยวข้องหลายประการ ทั้งการช่วยให้การขนส่งรวดเร็วขึ้น เข้าถึงผู้รับได้ง่ายขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายใน Supply chain (Redwood, 2019) โดยรถบรรทุกไร้คนขับลดต้นทุนค่าขนส่งเกือบเท่าตัว (FreightWaves, 2019) หุ่นยนต์ลด 6.5 เท่า และต้นทุนเมื่อใช้โดรนลดลงจากการใช้รถขนส่งทั่วไปถึงร้อยละ 90 (Flavin, 2022) ช่วยลดความเสี่ยงที่เกิดจากความผิดพลาดของมนุษย์ (Human error) ลงได้ ส่งผลให้ประสิทธิภาพการทำงานในภาพรวมของบริษัทดีขึ้น นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ต่อผู้บริโภคที่สามารถกำหนดวัน เวลา ในการรับสินค้าได้ตามความต้องการ และยังช่วยสังคมลดปริมาณการใช้รถบนท้องถนน ลดการใช้น้ำมัน รวมถึงลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เนื่องจากการขนส่งอัตโนมัติทำให้ผู้คนไม่ต้องออกไปซื้อของเอง ทำให้ช่วยลดการจราจรที่ติดขัดลงได้ด้วย
อย่างไรก็ตาม Autonomous Logistics ก็มีความเสี่ยงที่ตามมาในบางประการ เช่น การเกิดความผิดพลาดจากปัญหาที่ไม่ได้โปรแกรมหรือคาดการณ์เอาไว้ล่วงหน้า ซึ่งอาจนำไปสู่อุบัติเหตุหรือความไม่ปลอดภัยระหว่างการทำงานได้ หรือการที่ซอฟต์แวร์ของระบบขนส่งอัตโนมัติมีความเสี่ยงที่จะถูกโจรกรรมข้อมูล (hack) และอาจกระทบต่อบริการขนส่งที่อาจเกิดความผิดพลาดได้ ทำให้บริษัทเกิดความเสียหาย นอกจากนี้การขนส่งไร้คนขับจะทำให้เกิดการแทนที่ของหุ่นยนต์แทนแรงงานมนุษย์ คนขับรถจำนวนมากอาจสูญเสียงานและรายได้จากเทคโนโลยีนี้
มีการคาดการณ์ในอนาคตว่าตลาด Autonomous Logistics จะมีการขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดย ARK Investment คาดการณ์ว่ามูลค่าการตลาด Autonomous Logistics จะเติบโตจากปัจจุบันไปถึง 9 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2030 นอกจากนี้การโดรนจะเข้ามามีบทบาทสูงมากในการขนส่งสินค้าและอาหาร ส่งผลให้สัดส่วนของ e-commerce ที่มีการใช้โดรนเพิ่มสูงขึ้น นอกจากนี้ซอฟท์แวร์ของ Autonomous Logistics จะมีการพัฒนาอย่างรวดเร็วอันเป็นผลมาจากการมีข้อมูลและประสบการณ์ใช้ที่มากขึ้นในภาคการขนส่งสินค้าระหว่าง B2B และ B2C
……………………………..
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต #ธุรกิจแห่งอนาคต #Logistics #AutonomousLogistics
แปลและเรียบเรียงโดย: ผศ. ดร.รักษ์พงศ์ วงศาโรจน์
…………………………….
เอกสารอ้างอิง
IFA. (2018). The use of driverless vehicles for European logistics – pros and cons
Redwood. (2019). Autonomous Logistics are on the Rise!
Techsauce. (2018). ทิศทางนวัตกรรม Logistic เบื้องหลังสำคัญของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่กำลังเปลี่ยนไป
AUTOSPINN. (2021). รถบรรทุกไร้คนขับ อนาคตแห่งการขนส่ง ทางเลือกใหม่ของผู้ประกอบการ
SCG Group. (2020). รถบรรทุกไร้คนขับ : จุดเปลี่ยนใหม่ของค่าขนส่งในอนาคต
SilliconIndia. (2019). Autonomous Logistics Technologies: Flexible & Affordable Autonomous Solutions
Lydon. (2021). Robots Will Make it Cheaper to Deliver Your Groceries
Flavin. (2022). Drone Logistics: How Drone Tech Is Shaking Up Supply Chains
FreightWaves. (2019). Autonomous trucks will save carriers money and improve driver livelihoods