APEC 2022 หรือ เวทีการประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ มีการกำหนดหัวข้อหลัก คือ Open. Connect. Balance. หรือ “เปิดกว้างสร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกัน สู่สมดุล” ซึ่งหมายถึงการเปิดกว้างสู่ทุกโอกาสด้านการค้าและการลงทุนและสร้างโอกาสทางเศรษฐกิจให้แก่ทุกภาคส่วน การเชื่อมโยงกันในทุกมิติของประเทศในกลุ่มความร่วมมือ และการส่งเสริมการเจริญเติบโตที่เน้นสร้างสมดุลในทุกด้านมากกว่าสร้างกำไร ซึ่งในการขับเคลื่อนหัวข้อหลักเหล่านี้ ประเทศไทยได้นำโมเดลเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy Model หรือ BCG) มาเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางและแนวคิดหลักในการผลักดันประเด็นเหล่านี้ โมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสามารถเป็นตัวเชื่อมโยงประเด็นต่าง ๆ เข้าด้วยกัน และขับเคลื่อนไปข้างหน้าอย่างสมดุลและยั่งยืนที่สุด (Calizo, 2020)
นอกจากนี้ ในการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 27 หรือที่หลายคนคุ้นหูกันในชื่อ COP27 ที่เพิ่งผ่านพ้นไป ก็ได้มีการหารือและกำหนดวาระสำคัญในการจัดการปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ โดยมุ่งเน้นที่การบรรเทาและปรับตัว (Mitigation and Adaptation) กล่าวคือ บรรเทาความรุนแรงของปัญหาสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ส่วนการปรับตัวคือการมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือให้ความช่วยเหลือประเทศต่าง ๆ โดยเฉพาะประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งมีความเปราะบางต่อปัญหาเหล่านี้มากกว่าประเทศที่พัฒนาแล้ว ให้สามารถเตรียมความพร้อม และรู้วิธีรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ (Townend, 2022) ซึ่งในการลดก๊าซเรือนกระจกและการเตรียมความพร้อมและรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศนั้น การปรับเปลี่ยนรูปแบบของกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะสามารถเข้ามาช่วยในการตอบโจทย์ตรงนี้ได้เช่นกัน
BCG และอนาคตที่ยั่งยืนของประชาคมโลก
ดังนั้นจะเห็นได้ว่าโมเดลเศรษฐกิจ BCG กำลังเป็นวาระสำคัญทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งนี้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ได้รับการพิจารณาและคาดการณ์ว่ามีศักยภาพเพียงพอในการนำพาประชาคมโลกไปสู่อนาคตที่สมดุลและยั่งยืนดังที่ทุกฝ่ายปรารถนา เนื่องจากหลักการของโมเดลเศรษฐกิจหลักทั้งสามที่นำมาปรับใช้ร่วมกันนั้นมุ่งเน้นไปที่การนำทรัพยากรชีวภาพที่มีอยู่มาใช้หมุนเวียนใช้ให้คุ้มค่ามากที่สุดและมุ่งเน้นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมากกว่าการทำกำไรและการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจและคำนึงถึงความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม ใช้ทรัพยากรอย่างเหมาะสม (สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.), 2562) ซึ่งเป็นรูปแบบเศรษฐกิจที่เหมาะสมอย่างยิ่งกับโลกปัจจุบันที่สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติหร่อยหรอเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ และยิ่งทำให้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศยิ่งรุนแรงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ปัญหาต่าง ๆ มากมาย
ซึ่งการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG จะช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้อย่างยั่งยืน นำไปสู่อนาคตที่ทรัพยากรธรรมชาติได้รับการอนุรักษ์และฟื้นฟู ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้รับการแก้ไข และปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศได้บรรเทาความรุนแรงลง เนื่องจากเศรษฐกิจ BCG นั้นจะเน้นที่การใช้ทรัพยากรให้น้อยลงและคุ้มค่าขึ้น โดยใช้วิธีการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่เพื่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด และยังให้ความสำคัญกับการนำเทคโนโลยี ความรู้และนวัตกรรมทางด้านชีววิทยาหรือวิทยาศาสตร์ชีวภาพอื่น ๆ มาช่วยพัฒนาการผลิตสินค้าและบริการ เช่น ไบโอดีเซล พลาสติกชีวภาพ และพลังงานสะอาด ที่สร้างขยะและมลพิษน้อยลง ซึ่งเหล่านี้ทำให้การปล่อยของเสียและมลพิษต่าง ๆ โดยเฉพาะก๊าสคาร์บอนไดอ็อกไซต์ ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหาสภาะวะโลกร้อนลดน้อยลงตามไปด้วย ทั้งนี้คาดว่าการนำโมเดลเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนึ่งในหลักการของ BCG มาใช้ในระดับโลก จะทำให้สามารถลดปริมาณการปล่อยก๊าสคาร์บอนไดอ็อกไซต์ลงได้ถึง 30 เปอร์เซ็นต์ ภายในปี 2032 (Future Planet, 2022)
นอกจากนั้น กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมรวมทั้งผู้คนมากขึ้น เพราะอยู่ในระบบเศรษฐกิจที่ไม่เน้นการทำกำไรเป็นเป้าหมายหลักอันดับหนึ่งอีกต่อไป แต่เป็นระบบเศรษฐกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและผู้คนมากขึ้น ตามหลักการของเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy) ซึ่งรูปแบบเศรษฐกิจเช่นนี้เองที่จะช่วยในการวางรากฐานของการพัฒนาอย่างยั่งยืนและแก้ปัญหาทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจ (โดยเฉพาะปัญหาด้านการกระจายรายได้) และสิ่งแวดล้อม ซึ่งระบบเศรษฐกิจทุนนิยมที่เน้นกำไรสูงสุดในปัจจุบันยังไม่สามารถแก้ไขได้ แน่นอนว่าโมเดลเศรษฐกิจสีเขียวใน BCG นั้น ยังคงเป็นรูปแบบเศรษฐกิจทุนนิยม แต่จะเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมที่ให้คุณค่าและสมานฉันท์ (Restorative) กับผู้คนและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น (Hodge and Co., 2022)
แม้เศรษฐกิจแบบ BCG จะไม่ได้มุ่งเน้นที่การทำกำไรเป็นสำคัญ แต่ก็มีศักยภาพอย่างสูงในการสร้างอาชีพใหม่ ๆ และเพิ่มการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ เนื่องจากโมเดลเศรษฐกิจแบบ BCG เป็นเศรษฐกิจที่พึ่งพาความรู้ การจัดการ และเทคโนโลยี ซึ่งการพัฒนาและนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ๆ มาใช้ในระบบเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมต่าง ๆ นี้ สามารถสร้างอาชีพใหม่และสร้างโอกาสในการทำงานได้เป็นมูลค่าสูงถึง 4.5 ล้านล้านดอลลาร์ (Future Planet, 2022) และยังสามารถเพิ่มอัตราการเติบโตของ GDP ได้ในระยะยาว เนื่องจากต้นทุนในการผลิตที่ลดลง อันเป็นผลมาจากการใช้ทรัพยากรหมุนเวียนอย่างคุ้มค่าและการนำพลังงานสะอาดมาใช้ และยังคาดการณ์ว่าจะสามารถทำให้รายได้ของประชากรเพิ่มขึ้นอีกด้วย (Ellen MacArthur Foundation, n.d.)
และสำหรับประเทศไทยเองนั้น โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยิ่งมีความเหมาะสมมากที่จะนำมาใช้ในการขับเคลื่อนประเทศให้พัฒนาได้ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม เนื่องจากประเทศไทยเองนั้นเป็นประเทศที่มีจากความหลากหลายทางชีวภาพสูงและมีทรัพยากรธรรมชาติที่หลากหลาย จึงเป็นข้อได้เปรียบของประเทศในการนำหลักเศรษฐกิจชีวภาพมาประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการต่าง ๆ และพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curve
ยิ่งไปกว่านั้นประเทศไทยยังมีข้อได้เปรียบอีกประการคือความหลากหลายของวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งรวมถึงภูมิปัญญาพื้นบ้านและวิถีชีวิตชุมชนท้องถิ่นที่เข้มแข็ง โดยมีโครงสร้างสังคมและเศรษฐกิจที่เน้นการเกษตรเป็นหลัก ซึ่งภูมิปัญญาพื้นบ้านและวิถีชีวิตของชุมชนท้องถิ่นเหล่านี้อิงอยู่กับการเกษตรและธรรมชาติ ทำให้ประชากรและชุมชนรู้จักและเข้าใจการอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืนผ่านการนำทรัพยากรธรรมชาติมาหมุนเวียนใช้อย่างคุ้มค่า มีการนำกลับมาใช้ใหม่ ซึ่งเหล่านี้เป็นรากฐานที่เข้มแข็งในการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาร่วมประยุกต์ใช้เพื่อพัฒนาให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวที่มีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตอย่างยั่งยืน สร้างการกระจายรายได้ที่เข้าถึงคนทุกกลุ่ม
อุปสรรคที่ทำให้ BCG ยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน
อย่างไรก็ตาม โมเดลเศรษฐกิจ BCG ยังไม่ได้รับการนำมาใช้อย่างจริงจังและแพร่หลายนัก ไม่ว่าจะในระดับประเทศไทยเองหรือในระดับโลกก็ตาม ซึ่งหากพิจารณาแล้วจะพบว่าการนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้อย่างจริงจังในระดับประเทศและระดับโลกยังคงมีอุปสรรคหลายประการ โดยความท้าทายสำคัญประการแรกคือ ความท้าทายในการนำโมเดล BCG มาปฏิบัติจริง อันเนื่องมาจากปัญหาการฝอกเขียว (Green washing) ซึ่งคือการที่บริษัทหรือองค์กรเน้นการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กรว่ามีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อดึงดูดให้ผู้บริโภคสนับสนุนและหันมาซื้อสินค้าและบริการของบริษัทนั้น ๆ แต่ในความเป็นจริงแล้ว บริษัทไม่ได้มีการดำเนินการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิต การดำเนินงานของบริษัทให้เป็นกับสิ่งแวดล้อมอย่างแท้จริง ซึ่งเศรษฐกิจสีเขียวและโมเดล BCG นั้นก็ได้รับการวิจารณ์ว่าไม่ได้ช่วยลดปัญหาการผลิตและการบริโภคที่มากเกินไป (Mah, 2021) และจะกลายเป็นเพียงเครื่องมือในการฟอกเขียวให้บริษัทเหล่านี้เท่านั้น โดยกิจกรรมต่าง ๆ ในเศรษฐกิจจะกลับสีเขียวจะกลับกลายเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างกำไรให้บริษัทขนาดใหญ่ต่อไปโดยไม่ได้แก้ปัญหาอย่างแท้จริง
นอกเหนือจากปัญหาด้านการฟอกเขียวแล้ว อุปสรรคอีกข้อหนึ่งที่สำคัญคือการขาดการสนับสนุนจากภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะภาครัฐในด้านของข้อกฎหมายและการให้ความร่วมมือกับภาคเอกชน ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดในประเทศไทยคือ ประเทศไทยยังขาดกฎ ระเบียบ นโยบายและกฎหมายจากทางภาครัฐที่สนับสนุนการนำโมเดล BCG มาใช้อย่างชัดเจน ซึ่งการออกหรือการแก้ไขข้อกฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม เช่น พรบ. ความหลากหลายทางชีวภาพ, พรบ.อากาศสะอาด หรือ พรบ.ส่งเสริมพลังงานทดแทน เป็นต้น จะเป็นตัวช่วยส่งเสริมและกระตุ้นให้การนำโมเดลเศรษฐกิจ BCG มาใช้ในทุกภาคส่วนเป็นไปได้อย่างราบรื่นและเกิดความตื่นตัวด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมในวงกว้างมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชน ภาคเอกชน หรือภาครัฐในหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ
นอกจากนั้น ภาครัฐของประเทศไทยยังไม่มีการสร้างกลไกและแรงจูงใจเพื่อให้เพิ่มความร่วมมือของภาครัฐกับภาคเอกชนในการขับเคลื่อนโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างชัดเจนมากนัก แม้ว่าจะมีภาคเอกชนบางส่วนเช่น SCG, พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด ที่ได้เริ่มนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการดำเนินธุรกิจแล้วก็ตาม (รติมา คชนันทน์, 2561) ทั้งนี้ภาคธุรกิจเอกชนนั้นเป็นหนึ่งในผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและตัวแสดงที่มีบทบาทสำคัญที่สุดตัวหนึ่ง การจะทำให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG ถูกนำไปใช้ได้อย่างเป็นวงกว้างและได้รับการยอมรับจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากภาคธุรกิจเอกชน เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหานโยบายไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติหรือปัญหาการฟอกเขียวดังที่กล่าวไปข้างต้น ดังนั้นการทำงานร่วมกันของภาครัฐและเอกชนจึงเป็นประเด็นสำคัญที่ควรให้ความสนใจและเร่งปฏิบัติ ผ่านการสร้างความร่วมมือและสร้างแรงจูงใจ (Incentive) ด้วยการสนับสนุนด้านเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมของโมเดลเศรษฐกิจ BCG และสนับสนุนทางด้านนโยบายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ช่วยลดหย่อนภาษี เป็นต้น
อุปสรรคใหญ่ข้อสุดท้ายคือ ปัญหาด้านพลังงาน ซึ่งถือเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่ง ในที่นี้คือปัญหาการเปลี่ยนจากการใช้พลังงานฟอสซิล (เช่น น้ำมัน) มาสู่การใช้พลังงานสะอาด ซึ่งพลังงานสะอาดนั้นเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของหลักโมเดลเศรษฐกิจ BCG อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลมาสู่การใช้พลังงานสะอาดในห่วงโซ่อุปทานทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นการจัดหาสินค้า กระบวนการผลิต กระบวนการขนส่ง การบริโภค จำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีขั้นพื้นฐานแทบจะทั้งระบบ (Söderholm, 2020) ซึ่งจำเป็นต้องใช้ทั้งความรู้ เทคโนโลยีและเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งธุรกิจจำนวนมากอาจจะยังไม่มีความพร้อมพอที่จะทำได้และต้องการการสนับสนุนทั้งในด้านเทคโนโลยีและเงินทุน
จะเห็นได้ว่าแม้รูปแบบเศรษฐกิจ BCG จะมีศักยภาพสูงในการช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมและปัญหาเศรษฐกิจให้แก่ประชาคมโลก และสามารถช่วยขับเคลื่อนประชาคมโลกไปสู่อนาคตร่วมกันที่พึงปรารถนาได้ก็ตาม แต่การนำมาปฏิบัติให้เห็นผลจริงยังคงต้องเผชิญกับอุปสรรคหลายประการ ทั้งนี้จำเป็นต้องพึ่งพาความร่วมมือ การทำงานอย่างบูรณาการกันของภาครัฐ ภาคเอกชนรวมทั้งภาคประชาชนในประเทศ และยังต้องการการสนับสนุนด้านความรู้และเงินทุนจำนวนมาก ซึ่งจะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากความช่วยเหลือระหว่างกันของประชาคมโลก โดยเฉพาะระหว่างประเทสที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา ดังนั้น จึงสามารถพูดได้ว่า การจะมุ่งสู่อนาคตที่พึงปรารถนาด้วย BCG นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ประชาคมโลกจะต้องร่วมมือกันอย่างแท้จริงก่อนที่จะสายเกินไป
……………………………………………………………………………
อ้างอิง
Calizo. (2020). Charting new pathways inspired by the Bio-Circular-Green Economy
Ruth Townend. (2022). What are the key issues at COP27?
สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.). (2562). เศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy
Future Planet. (2022). 7 Benefits of The Circular Economy
Vanessa Hodge, Jillian Reid, Ashleigh Morris, and, Jamie Butterworth. (2022). Will the Circular Economy Disrupt Capitalism?
Ellen MacArthur Foundation. (n.d.). The Circular Economy in Details
Alice Mah. (2021). Future-Proofing Capitalism: The Paradox of the Circular Economy for Plastics
รติมา คชนันทน์. (2561). เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
Patrik Söderholm. (2020). The green economy transition: the challenges of technological change for sustainability