การเปิดตัวของ Chat GPT โดย Open AI ในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน ของปี ค.ศ.2022 ได้สร้างความประหลาดใจให้กับชาวโลกหลายประการ ทั้งต่อขีดความสามารถในการประมวลผลในเวลาอันรวดเร็ว ความสามารถในการใช้งานได้อย่างกว้างขวางสำหรับคนทุกกลุ่ม และการใช้เวลาที่สั้นมากที่สุดในการมีผู้ใช้บริการครบ 1 ล้านคน โดย Chat GPT ใช้เวลาเพียง 5 วันในการมีลูกค้าใช้บริการครบ 1 ล้านคน เมื่อเทียบกับอินสตาแกรม สป็อตติฟาย เฟซบุ๊ค ทวิตเตอร์ และเน็ตฟลิกซ์ ที่ใช้เวลาถึง 2.5 เดือน 5 เดือน 10 เดือน 2 ปี และ 3.5 ปี ตามลำดับ ความตื่นตัวต่อการใช้ประโยชน์จากปัญญาประดิษฐ์อย่างรวดเร็วและกว้างขวางนี้กระตุ้นให้มนุษย์กลับมาให้ความสำคัญกับการมองอนาคตของโลกอีกครั้งนับตั้งแต่เหตุการณ์ที่ปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทดีปมายด์ในเครือกูเกิ้ลที่ชื่อว่า อัลฟ่าโกะ สามารถเอาชนะเกมหมากล้อมต่อแชมป์โลกได้ในปี ค.ศ. 2016 และยังได้รับการชื่นชมจากผู้เล่นหมากล้อมว่ามีรูปแบบการเดิมหมากล้อมที่สร้างสรรค์กว่ารูปแบบที่มนุษย์สามารถคิดได้

ระยะเวลาที่แอปพลิเคชั่นมีผู้ใช้บริการครบหนึ่งล้านคน
ที่มา: GPT-3 Demo
พัฒนาการของปัญญาประดิษฐ์
การคาดการณ์อนาคตของปัญญาประดิษฐ์จากการประเมินจากเส้นทางการพัฒนาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ซึ่งมี 3 ลำดับช่วงเวลาที่สำคัญคือ ระดับที่หนึ่งเป็นปัญญาประดิษฐ์เฉพาะเรื่องหรือ Artificial Narrow Intelligence (ANI) มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านตามที่นักพัฒนาได้สร้างการเรียนรู้ในด้านนั้นๆซึ่งเกิดขึ้นจริงแล้วในปัจจุบันดังเช่นกรณีของอัลฟ่าโกะ ลำดับที่สองเป็นปัญญาประดิษฐ์ทั่วไปหรือ Artificial General Intelligence (AGI) มีความเชี่ยวชาญในหลากหลายด้าน มีความสามารถเทียบเท่ากับกับมนุษย์ทั้งการคิดและการวิเคราะห์ การเกิดขึ้นของ Chat GPT จึงเป็นหมุดหมายสำคัญว่าปัญญาประดิษฐ์ในโลกปัจจุบันกำลังเข้าสู่ความก้าวหน้าในระดับนี้ ส่วนระดับสุดท้ายคือปัญญาประดิษฐ์ขั้นสุดหรือ Artificial Superintelligence (ASI) ซึ่งมีความฉลาดกว่าสมองของมนุษย์ในทุกๆด้าน
ปัญญาประดิษฐ์ที่ถูกพัฒนาโดยมนุษย์มีเป้าหมายที่สำคัญเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการคิด วิเคราะห์ และตัดสินใจให้กับมนุษย์ โดยมีความคาดหวังว่าปัญญาประดิษฐ์ที่มีความสามารถเรียนรู้ด้วยตัวเองอย่างต่อเนื่อง นอกจากจะช่วยให้มนุษย์ลดภาระการทำงานแล้วยังช่วยให้มนุษย์สามารถค้นพบหลายๆสิ่งที่มนุษย์มีความปรารถนาแต่ยังไม่สามารถทำได้ภายใต้ศักยภาพของมนุษย์ในปัจจุบัน เช่น การรักษาโรคที่ง่ายและสะดวกขึ้น การเพิ่มอายุขัยและความแข็งแรงให้กับมนุษย์ การใช้พลังงานจากแหล่งพลังงานที่มีไม่จำกัดและไม่ก่อให้เกิดมลพิษ (เช่น อนุภาคในอากาศ) การเดินทางระหว่างดวงดาว กระทั่งการเดินทางข้ามเวลา เป็นต้น
อย่างไรก็ตามปัญญาประดิษฐ์สามารถสร้างได้ทั้งคุณอนันต์และโทษมหันต์ให้กับมนุษย์เนื่องจากมีความเสี่ยงสำคัญ คือ ความไม่แน่นอนว่าปัญญาประดิษฐ์ที่มีขีดความสามารถเหนือมนุษย์นั้นจะให้คุณค่ากับสิ่งใดมากที่สุด เช่น หากปัญญาประดิษฐ์เน้นทำให้มนุษย์มีสมรรถนะที่ขึ้นดีกว่าเดิม ปัญญาประดิษฐ์นั้นก็อาจออกแบบมนุษย์ใหม่ให้มีรูปร่างและกลไกการทำงานของร่างกายที่เปลี่ยนไปจนดูไม่เป็นมนุษย์แบบเดิม หรือหากปัญญาประดิษฐ์เน้นให้ความสำคัญกับความเท่าเทียมกันอย่างเสมอภาคระหว่างสิ่งมีชีวิตทุกชนิดบนโลก ปัญญาประดิษฐ์นั้นก็อาจจำกัดบทบาท จำนวน และการใช้ชีวิตของมนุษย์ให้ยอมรับธรรมชาติมากขึ้น หรือหากปัญญาประดิษฐ์มองว่ามนุษย์คือสิ่งมีชีวิตที่สร้างปัญหาแต่มีประโยชน์กับโลกหรือเอกภพน้อยมากก็อาจทำไปสู่การทำลายล้างเผ่าพันธุ์มนุษย์ เป็นต้น
อนาคตที่เป็นไปได้ของปัญญาประดิษฐ์
จากระดับพัฒนาการตามความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์ นักอนาคตศาสตร์ต่างตระหนักถึงความไม่แน่นอนของโลกหลังจากการกำเนิดของปัญญาประดิษฐ์ โดยมีการคาดการณ์ถึงทางเลือกหนึ่งที่เป็นไปได้ในอนาคต โดยช่วงแรกเป็นช่วงที่มนุษย์สร้างและพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ขึ้นมา ช่วงที่สองเป็นช่วงที่ปัญญาประดิษฐ์พัฒนาตนเองจนกระทั่งมีขีดความสามารถเหนือมนุษย์ จนเข้าสู่ช่วงที่สามซึ่งเป็นช่วงที่ปัญญาประดิษฐ์มีบทบาทในการควบคุมกิจกรรมต่างๆของมนุษย์และความเป็นไปบนโลกนี้มากขึ้น ซึ่งอาจนำไปสู่การล่มสลายของความศิวิไลซ์ของมนุษย์ในช่วงที่ 4

ตัวอย่างการคาดการณ์อนาคตที่เป็นไปได้จากการเกิดขึ้นของปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: Fast Company
นอกจากการคาดการณ์อนาคตจากระดับพัฒนาการทางเทคโนโลยีของปัญญาประดิษฐ์แล้ว นักอนาคตศาสตร์ยังประเมินอนาคตจากพัฒนาการที่ก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ จากการหลอมรวมกันของปัญญาประดิษฐ์เข้ากับเทคโนโลยีอื่นๆ และความก้าวหน้าของการผสานขีดความสามารถระหว่างปัญญาประดิษฐ์กับมนุษย์ โดยมักใช้คำว่า Singularity เป็นคำอธิบายสภาวการณ์ของการหลอมรวมดังกล่าว แม้ว่า Singularity จะสามารถสื่อความหมายได้ถึงนัยยะอื่นๆเช่น พื้นที่ที่เป็นหลุมดำ หรือสภาวะที่มนุษย์ไม่สามารถอธิบายได้ก็ตาม
ตัวอย่างของการคาดการณ์อนาคตเกี่ยวกับ Singularity ซึ่งค่อนข้างสอดคล้องกับพัฒนาการที่เกิดขึ้นจริงกับขีดความสามารถของปัญญาประดิษฐ์ (ซึ่งช่วงนั้นใช้คำว่า Machine Intelligence และบางสำนักใช้คำว่า Non-Biological Intelligence) ที่แม้จะมีพัฒนาการอย่างช้าๆในช่วงก่อนปี ค.ศ.2015 แต่มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดในช่วงหลังจากนั้น โดยจะมีขีดความสามารถเหนือกว่าสมองมนุษย์ในช่วงปี ค.ศ.2023 หลักจากนั้นปัญญาประดิษฐ์จะมาช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับมนุษย์ในด้านต่างๆ จนกระทั่งถึงในช่วงปี ค.ศ.2045 ปัญญาประดิษฐ์จะมีขีดความสามารถสูงกว่าปัญญามนุษย์ของคนทั้งโลกรวมกัน ซึ่ง ANDERS SÖRMAN-NILSSON ได้นิยามสถานการณ์นั้นว่า The Singularity

พัฒนาการของปัญญามนุษย์และปัญญาประดิษฐ์
ที่มา: ANDERS SÖRMAN-NILSSON
อย่างไรก็ดีอนาคตที่เป็นไปได้ของโลกหลังพัฒนาการอย่างก้าวกระโดดของปัญญาประดิษฐ์ยังมีอีกหลายรูปแบบตามประเด็นความไม่แน่นอนสำคัญที่อาจเกิดขึ้นจริง ในบทความฉบับต่อไปเราจะมาสำรวจอนาคตที่เป็นไปได้ของปัญญาประดิษฐ์ ความเชื่อมโยงกับ Singularity และสังเคราะห์ถึงนัยยะที่มีต่อเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์
ที่มา:
Thanthida Thongphet. (2021). General AI ขั้นกว่าของปัญญาประดิษฐ์ ที่จะคิด เข้าใจ เรียนรู้ และประยุกต์ใช้ความสามารถได้เท่ามนุษย์. Techsauce. [Online]
Jamais Cascio. (2009). Singularity Scenarios: The Ultimate Innovation or an AI Apocalypse?. Fast Company. [Online]
Lev Grossman. (2011). 2045: The Year Man Becomes Immortal. Time Magazine. [Online]
Anders Sörman-Nilsson. (2019). 4th Industrial Revolution: The Rise of Transhumanism. [Online]
Juan Manuel Londoño. (2022). What Is the Technological Singularity and Why Are Bill Gates and Elon Musk Afraid of It?. LatinAmerican Post. [Online]
Siesta. (2022). Chat GPT: How AI will and can change your life. For the better – for now. [Online]