พวกเราอาจเริ่มรู้จักและคุ้นเคยกับคำว่า ESG มากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา โดยทาง FuturISt เองก็ได้อธิบายถึงความหมายและความสำคัญที่ ESG มีต่อธุรกิจไปแล้วเช่นกันในบทความที่ผ่านมาของอาทิตย์ก่อน (อ่านได้ที่นี่) หากจะสรุปง่าย ๆ คำว่า ESG ก็คือมิติความรับผิดชอบในด้านต่าง ๆ ต่อการสร้างคุณค่าให้กับสังคมขององค์กร ซึ่งประกอบด้วยสามมิติหลักคือ มิติสิ่งแวดล้อม (E), มิติสังคม (S), และมิติด้านธรรมาภิบาล (G) แนวคิดเรื่อง ESG นี้กำลังทวีความสำคัญขึ้นทั้งต่อภาคธุรกิจเองและภาคประชาชนทั่วไป รวมไปจนถึงภาครัฐที่เริ่มให้ความสำคัญและผลักดันให้ภาคธุรกิจมีความรับผิดชอบต่อผลกระทบจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ESG ยังสามารถช่วยเพิ่มโอกาสในการสร้างผลกำไรที่ยั่งยืนในอนาคตให้กับองค์กรได้ ไม่ว่าจะเป็นการช่วยลดต้นทุนเนื่องจากองค์กรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือกองทุนที่ให้ความสำคัญกับ ESG ได้มากขึ้นหรือการที่องค์กรอาจสามารถลดหย่อนภาษีได้มากขึ้นเนื่องจากการดำเนินการตามเเกณฑ์ ESG เป็นหนึ่งในกิจกรรมเพื่อสังคม หรือการที่องค์กรสามารสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขันได้จากการนำแนวคิด ESG มาใช้ โดยสามารถสร้างความผูกพันและรู้สึกดีในกลุ่มลูกค้าขององค์กร เนื่องจากลูกค้าจะรู้สึกว่าตนเองได้มีส่วนร่วมสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรที่มีความรับผิดชอบและสร้างประโยชน์ให้กับสังคม ยิ่งไปกว่านั้น ESG ยังช่วยให้องค์กรสามารถเข้าถึงนักลงทุนที่ให้ความสำคัญกับผลประกอบการในระยะยาวมากกว่าการคาดหวังหรือมุ่งเก็งกำไรจากผลประกอบการระยะสั้น ส่งผลให้องค์กรมีความมั่นคงด้านเงินทุนมากขึ้น
อย่างไรก็ดี จากการศึกษาของ Harvard Business School พบว่าองค์กรจำนวนมากประสบปัญหาในการนำแนวคิด ESG มาปรับใช้ให้เกิดประสิทธิภาพและเห็นผลอย่างชัดเจน ทั้งนี้เป็นเพราะหลายองค์กรยังคงยึดติดกับความคิดที่ว่า การนำแนวคิด ESG มาใช้ในองค์กรคือการทำกิจกรรมเพื่อสังคมและการดำเนินการตามเกณฑ์ปฏิบัติมาตรฐาน ESG เช่นการลดขยะ การลดมลพิษจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจขององค์กร หรือการเพิ่มแนวทางการบริหารความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อม เป็นต้น แม้ว่ากิจกรรมเหล่านี้ส่งผลดีต่อสิ่งแวดล้อมและสังคม แต่ยังไม่ได้เป็นการขับเคลื่อนจากฐานรากขององค์กรจริง ๆ ซึ่งทำให้ผลที่เกิดขึ้นนั้นอาจจะยังตื้นเขินและไม่เห็นประสิทธิผลตามที่คาดหวัง ดังนั้น องค์กรจะต้องนำแนวคิด ESG มาบูรณาการและใช้ในระดับการกำหนดนโยบายและการดำเนินงานในขั้นต่าง ๆ ขององค์กร
ซึ่งการบูรณาการนี้สามารถทำได้ในสามด้านหลัก ๆ ซึ่งแต่ละด้านสามารถแจกแจงได้ ดังนี้
1) ด้านการออกแบบนโยบายและเป้าหมายองค์กร
การนำแนวคิด ESG มาบูรณาการในองค์กรเกิดประสิทธิภาพสูงสุด องค์กรจำเป็นที่จะต้องนำโจทย์ด้าน ESG มาเป็นหลักในการออกแบบรูปแบบการสร้างคุณค่าผ่านตัวแบบโมเดลธุรกิจและยุทธศาสตร์ขององค์กร ซึ่งจะช่วยให้องค์กรมีประสิทธิภาพและแนวทางในการดำเนินงานร่วมกับแนวคิด ESG ที่แตกต่างและได้ผลดีเหนือกว่าองค์กรอื่น ๆ และยังช่วยสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันให้แก่องค์กรในอีกทางหนึ่งด้วย ตัวอย่างขององค์กรที่ประสบความสำเร็จในการนำ ESG มาใช้ในระดับการออกแบบและกำหนดนโยบายคือ IKEA บริษัทเฟอร์นิเจอร์ชื่อดังจากสวีเดนซึ่งได้ปฏิรูปนโยบายและยุทธศาสตร์การดำเนินงานของบริษัทจากการเป็นบริษัทผู้ผลิตและขายปลีกเฟอร์นิเจอร์ราคาถูกธรรมดา ไปสู่การเป็นผู้ผลิตที่มีความรับผิดชอบต่อสังคมและเป็นผู้นำด้านการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของตน ตัวอย่างเช่น การออกแบบและผลิตเฟอร์นิเจอร์ของ IKEA นั้นคำนึงถึงอายุการใช้งานที่ยาวนานและออกแบบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์สามารถนำไปใช้ใหม่ หรือนำไปรีไซเคิลได้ง่ายกว่าผลิตภัณฑ์ของบริษัทอื่น ๆ นอกจากนี้ IKEA ยังมุ่งพัฒนานำแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในทุกขั้นตอนในห่วงการผลิตและการขายของบริษัท
ที่สำคัญไปกว่านั้น ในการจะวางนโยบายและยุทธศาสตร์ขององค์กร มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรจะต้องกำหนดเป้าหมายร่วมกันระหว่างองค์กรและพนักงาน กล่าวคือ องค์กรจะต้องระบุให้ได้ว่าตัวองค์กรมีเป้าหมายในระยะสั้นและระยะยาวอย่างไร และการนำแนวคิด ESG มาใช้มีเป้าหมายอะไร สามารถพัฒนาและช่วยเหลือสังคมได้อย่างไรและจะมีส่วนช่วยในการทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายในภาพรวมได้อย่างไรบ้าง และเมื่อกำหนดเป้าหมายแล้ว องค์กรจำเป็นที่จะต้องสร้างให้เป้าหมายนี้กลายเป็นคุณค่า (Value) ร่วมกันของคนในองค์กรในลักษณะของเป้าหมายร่วมของสมาชิก (Sense of Purpose) ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือพนักงาน ซึ่งการสร้างคุณค่าร่วมกันนี้จะทำให้คนในองค์กรรู้สึกว่างานที่ตนเองทำอยู่มีความหมายและเกิดผลดีต่อสังคมจริง ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ยึดแนวคิด ESG เป็นหลัก
2) ด้านการสื่อสาร
องค์กรต้องมีความสามารถในการสื่อสารประเด็น ESG ในทั้งสองส่วนคือ คือการสื่อสารในระดับผู้บริหารองค์กรในเรื่องการนำแนวคิด ESG มาใช้และกลไกตรวจสอบและประเมินความรับผิดชอบที่องค์กรพึงมีต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ผ่านการกำหนดเป้าหมายหรือตัวชี้วัดที่สื่อถึงความก้าวหน้าและความสำเร็จในด้านนี้ขององค์กร ซึ่งในปัจจุบันนี้ บุคคลระดับผู้บริหารในหลายองค์กรไม่มีส่วนร่วมในการนำแนวคิด ESG มาใช้และไม่มีส่วนร่วมในการสร้างกลไกตรวจสอบและประเมินผลด้านสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เกิดขึ้นจากกิจกรรมขององค์กรมากนัก เหล่านี้จึงเป็นหนึ่งในปัญหาหลักด้านการสื่อสารที่ควรแก้ไข
สำหรับด้านการสื่อสารอีกส่วนหนึ่งคือ การสื่อสารกับผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนที่ร่วมลงทุนกับองค์กร โดยเป็นการสื่อสารและบริหารความคาดหวังให้ผู้ถือหุ้นและนักลงทุนเข้าใจถึงคุณค่าที่องค์กรยึดถือ และสื่อสารให้ผู้ถือหุ้นเห็นถึงผลที่เกิดขึ้นจากการดำเนินการตามหลักการขององค์ที่ยึดถือแนวคิด ESG ซึ่งคำนึงผลกระทบและประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมเป็นหลัก เพื่อสร้างความเข้าใจและช่วยให้ผู้ถือหุ้นหันมายึดถือคุณค่าแบบเดียวกับองค์กร ซึ่งทำได้โดยการสื่อสารโดยตรงกับผู้ถือหุ้นและนักลงทุน รวมถึงเน้นการนำเสนอผลที่เกิดขึ้นจากการนำแนวคิด ESG มาใช้ในองค์กรในรูปแบบที่จับต้องได้มากขึ้น กล่าวคือ แสดงให้เห็นว่าการนำแนวคิด ESG มาใช้ช่วยลดต้นทุนทางการเงินให้แก่องค์กรเท่าไร หรือสร้างผลกำไรให้แก่องค์เท่าไรบ้าง หรือช่วยเพิ่มยอดขายเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ เหล่านี้เป็นต้น ซึ่งศาสตราจารย์ George Serafeim จาก Harvard Business School ได้เรียกระบบการคำนวณเช่นนี้ว่า Impact-Weighted Accounting
3) ด้านการเปลี่ยนผ่าน
องค์กรที่สามารถเปลี่ยนผ่านตามแนวคิด ESG ได้สำเร็จ จะต้องมีความสามารถก้าวข้ามสามช่วงหลักของการเปลี่ยนผ่านการทำงานดังต่อไปนี้ 1) การนำหลัก ESG มาใช้เพื่อลดความเสี่ยงผ่านการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อสังคม 2) การนำหลัก ESG มาใช้เพื่อการปรับปรุงประสิทธิภาพในการดำเนินงาน 3) การนำหลัก ESG มาใช้เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความคิดสร้างสรรค์ มีนวัตกรรมใหม่ ๆ และสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งองค์กรที่ประสบความสำเร็จในการเปลี่ยนผ่านนั้นจะต้องมีการกระจายอำนาจในการปฏิบัติงานออกจากศูนย์กลางมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ทุกฝ่ายมีอำนาจ มีอิสระและความรับผิดชอบมากขึ้นในการดำเนินงานในแผนกของตนให้เป็นไปตามแนวคิด ESG โดยไม่ผูกติดอยู่กับส่วนกลาง
ซึ่งหากองค์กรสามารถนำแนวคิด ESG มาบูรณาการในการดำเนินงานและนโยบายของตนได้ตามทั้งสามด้านนี้ และทำให้ความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการมีธรรมาภิบาลในการบริหารเป็นศูนย์กลางขององค์กรได้ องค์กรจะมีความสามารถในการแข่งขันให้เหนือกว่าคู่แข่ง สามารถรับมือกับความท้าทายและความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นโลกธุรกิจได้ และจะได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าในที่สุด
……………..
เรียบเรียงโดย: สุจารี วัฒนะรัตน์
……………….
อ้างอิง:
Serafeim, George. “Social-Impact Efforts That Create Real Value.” Harvard Business Review 98, no. 5 (September–October 2020): 38–48. [Online]