อนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน และคาดเดาได้ยาก ถ้าเกิดมีทางเลือกระหว่าง ‘อนาคตที่สดใส’ และ ‘อนาคตที่มืดมน’ แน่นอนว่ามนุษย์ส่วนใหญ่ล้วนปรารถนาทางเลือกแรก ท่ามกลางอุปสรรคนานัปการในโลกที่เต็มไปด้วยความขัดแย้งและความเหลื่อมล้ำ เราจะมุ่งสู่วันพรุ่งนี้ที่ดีขึ้นได้อย่างไร
ในงานเขียนชุด Lead The Future ของ Andrew James Wall มุ่งตอบโจทย์ดังกล่าว โดยเสนอแนวคิดเรื่อง Future Design (การออกแบบอนาคต) ที่เชื่อว่ามนุษย์สามารถร่วมมือกันเพื่อสร้างอนาคตที่ดีขึ้นได้ โดยนิยามของการออกแบบอนาคตก็คือการออกแบบผลิตภัณฑ์ องค์กร และการเคลื่อนไหวที่ทำให้โลกนี้เปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น การออกแบบอนาคตอาจเป็นได้ตั้งแต่สิ่งเล็ก ๆ เช่น การปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงสิ่งใหญ่ ๆ เช่น การปฏิวัติทางสังคม ทั้งนี้ การออกแบบอนาคตตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่ามีอนาคตที่เป็นไปได้หลายทางเลือก โดยมีเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างสังคมในอนาคตที่เจริญรุ่งเรือง มีความยืดหยุ่น และเที่ยงธรรม ซึ่งมนุษย์มีส่วนในการกำหนดทิศทางอนาคตผ่านการกระทำด้วยปฏิกิริยาต่าง ๆ เช่น กระตือรือร้น เฉื่อยชา และนิ่งเฉย
นักออกแบบอนาคตเป็นกลุ่มคนที่มีความเชื่อว่าว่ามนุษย์ทุกคนมีอนาคตร่วมกัน เราจึงมีความรับผิดชอบและสิทธิประโยชน์โดยเท่าเทียม การออกแบบอนาคตเป็นกระบวนการแบบมีส่วนร่วมของกลุ่มคนที่แสวงหาผลลัพธ์ทางสังคมในเชิงบวก ไม่ว่าจะเป็นผู้คนในรัฐบาล องค์กรไม่แสวงหาผลกำไร สตาร์ทอัพ อาสาสมัคร หรือการเคลื่อนไหวภาคประชาสังคม
คุณสมบัติของนักออกแบบอนาคต
Andrew เสนอมุมมองว่า นักออกแบบอนาคตเป็นได้ทั้งผู้นำและผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง เป็นผู้ที่ตั้งคำถามถึงอนาคตที่เป็นไปได้และดีที่สุดสำหรับหุ้นส่วน (Stakeholders) และถามต่อไปว่าอนาคตดังกล่าวมีตำแหน่งแห่งที่อย่างไรเมื่อเทียบกับปัจจุบัน และเราจะต้องบรรลุสิ่งใดเพื่อไปให้ถึงจุดหมาย
นักออกแบบอนาคตอาจเป็นผู้ทรงอิทธิพลที่คอยให้ความช่วยเหลือในหลาย ๆ บริบทหรือสถานการณ์ พวกเขาสามารถช่วย
- สนับสนุนองค์กรเอกชน ในการพัฒนาแนวคิด ออกแบบผลิตภัณฑ์ และสร้างคุณค่า
ใหม่ ๆ ให้กับลูกค้าหรือผู้ใช้บริการ - ส่งเสริมหน่วยงานภาครัฐ ในการทำความเข้าใจและรับใช้ประชาชน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
- สร้างวิสัยทัศน์ ในฐานะผู้นำทางความคิด และนักยุทธศาสตร์
- รับใช้ชุมชนโดยยึดหลักความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) และศีลธรรม
- ศึกษาและตระหนักถึงผลกระทบของเทคโนโลยี ความรู้ หรือการค้นพบใหม่ ๆ
ทั้งนี้ นักออกแบบอนาคตอาจจะมาจากหลายแวดวง แต่พวกเขาควรจะมีทักษะสำคัญ 3 ประการ ได้แก่ การคิดเชิงออกแบบ การคิดเชิงอนาคต และการคิดเชิงระบบ
- การคิดเชิงออกแบบ (Design Thinking) – ตระหนักถึงผลลัพธ์ที่ตอบสนองความต้องการที่หลากหลายของมนุษย์ (เช่น ความเป็นผู้ประกอบการ / การออกแบบธุรกิจ / การเคลื่อนไหวทางสังคม)
- การคิดเชิงอนาคต (Future Thinking) – สำรวจแนวโน้มอนาคตที่มองเห็นได้อย่างคร่าว ๆ (เช่น การคาดการณ์อนาคตเชิงยุทธศาสตร์ / การเมือง)
- การคิดเชิงระบบ (System Thinking) – ทำความเข้าใจกลไกและการปฏิสัมพันธ์ในโลกที่ยุ่งเหยิง (เช่น การวิจัย / ปรัชญา / วิศวกรรม)
แนวคิด Future Design ที่นักออกแบบอนาคตเหล่านี้ยึดถือ เป็นแนวคิดที่เชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์เป็นหลัก โดยเชื่อว่าปัจเจกได้ใช้และเรียนรู้ทักษะการออกแบบอนาคตในชีวิตประจำวัน ผ่านกิจกรรมต่าง ๆ เช่น การดูแลครอบครัว การทำงาน การเป็นอาสาสมัครในชุมชน และการเริ่มต้นธุรกิจ ทุกสิ่งที่สามารถนำพาอนาคตที่ดีขึ้นมาให้ตัวเราและผู้อื่นล้วนเป็นส่วนหนึ่งของการออกแบบอนาคต และด้วยเจตนารมณ์ร่วมกัน มนุษย์นี้เองที่จะเป็นผู้กำหนดชะตาโลก ผลักดันการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างโลกในอนาคตที่น่าอยู่ (People Change the World – คน เปลี่ยน โลก)

#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต #การออกแบบอนาคต #นักออกแบบอนาคต #FutureDesign
แปลและเรียบเรียงโดย: อัลเบอท ปอทเจส
= = = = = = = = = =
อ้างอิง
Andrew James Walls. (2022). Lead the Future: An Introduction to Futures Design. [Online]
Boardroom Labs. (2022). An Introduction to Futures Design – The future echoes through the present. [Online]
บทความที่เกี่ยวข้อง:
ไม่มีบทความที่เกี่ยวข้องสำหรับโพสต์นี้