Global Trends ‘AI ART’ ศิลป์แท้หรือศิลป์เทียม?

𝐆𝐥𝐨𝐛𝐚𝐥 𝐓𝐫𝐞𝐧𝐝𝐬
‘𝗔𝗜 𝗔𝗥𝗧’ ศิลป์แท้หรือศิลป์เทียม?
.
กระแสเฟื่องฟูของวงการศิลปะ NFT กำลังเป็นที่กล่าวขาน ผลงานศิลปะดิจิทัล The Merge ของ PAK ทำสถิติโลก มีราคาขายสูงสุดกว่า 3,000 ล้านบาท ขณะที่ศิลปินไทย Kun Vic (วันชนะ อินทรสมบัติ) ผู้สร้างสรรค์คอลเล็กชัน Ape Kids Club นั้น ครองสถิติเทรดสูงสุดในไทย ด้วยมูลค่ากว่า 1,000 ล้านบาท
.
อย่างไรก็ดี มีการตั้งข้อสงสัยว่าแล้วงานศิลปะอย่าง Generative Art ที่ใช้ระบบ AI หรืออัลกอริธึมในการประกอบสร้างรูปภาพนั้น (หรือพูดง่าย ๆ ก็คือ งานศิลปะที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยจักรกล) จริง ๆ แล้วเราควรจะนับว่ามันเป็นงานศิลปะหรือไม่?
.
“ใช่สิ! ศิลปะจาก AI ยังไงก็เป็นศิลปะ” นั่นคือคำตอบจาก อเมเลีย วิงเกอร์-แบร์สกิน นักวิชาการด้านศิลปะผู้คร่ำหวอด จากมหาวิทยาลัยฟลอริดา โดยอเมเลียให้เหตุผลประกอบว่า โดยพื้นฐานแล้ว ศิลปะจาก AI ก็เดินตามสูตรของศิลปะ ที่มีกระบวนการ input / output ถ่ายทอดไอเดียออกมาเป็นผลงาน และที่สำคัญมันมีการนำเสนอสิ่งแปลกใหม่สู่สายตาชาวโลก
.
อเมเลีย เสริมว่า ก่อนจะมีศิลปะจาก AI โลกเราก็เคยมี Modern Art (ศิลปะสมัยใหม่) ที่ขึ้นชื่อในเรื่องของการแหวกขนบ หยอกเย้า ไร้เหตุผล ไปจนถึงน่าเกลียดน่าชัง หนึ่งในตัวอย่างที่เด่นชัด คือ ผลงาน ‘The Fountain’ ของศิลปินชาวฝรั่งเศส มาร์แซล ดูว์ช็อง ที่นำโถฉี่ไปไว้ในอาร์ตแกลเลอรี จนเรียกเสียงฮือฮา และนำไปสู่การพลิกนิยามของคำว่าศิลปะ
.
ผลงานศิลปะแบบสำเร็จรูปของดูว์ช็อง กระตุ้นให้ผู้คนเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อศิลปะวัตถุ เกิดการตั้งคำถามใหม่ ๆ ว่าผลงานชิ้นนี้คือศิลปะไหม? ศิลปินทำอะไร? เขาต้องการจะสื่ออะไรกันแน่? แล้วเราควรที่จะตีกรอบหรือจำกัดนิยามของงานศิลป์หรือไม่? ซึ่งศิลปินนับร้อยนับพันได้ท้าทายกรอบและทบทวนคำถามเหล่านี้มานานนับศตวรรษ อันนำไปสู่ฉันทามติที่ว่า “ศิลปะไม่ควรถูกตีกรอบหรือจำกัดนิยามตายตัว” ศิลปะอาจจะเป็นรูปธรรมหรือนามธรรมก็ได้ หัวใจสำคัญของมันคือ การตัดสินใจของศิลปิน และปฏิกิริยาโต้ตอบของสาธารณชน
.
ในแง่มุมของศิลปะ AI นั้น ภายนอกดูเหมือนว่าคอมพิวเตอร์จะเป็นตัวกำหนดการตัดสินใจทุกอย่าง หรือตัวศิลปินเองก็อาจจะไม่ได้เข้าใจกลไกของอัลกอริธึมอย่างทะลุปรุโปร่ง อย่างไรก็ดี ในกระบวนการสร้างสรรค์ผลงานนั้นยังไงก็ต้องมี Input หรือการป้อนข้อมูลจากใครสักคนแน่ ๆ ความคิดของมนุษย์จะถูกถ่ายทอดลงไปในโมเดล ML (Machine Learning) หรือการสอนชุดข้อมูล Training Data ให้กับคอมพิวเตอร์ เพื่อเริ่มต้นกระบวนการ เป็นต้น
.
อเมเลีย ทิ้งท้ายว่า ไม่เพียงแต่ศิลปินที่ต้องเรียนรู้เทคโนโลยีและกระบวนการใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ศิลปะดิจิทัล แต่นักวิจารณ์หรือภัณฑารักษ์เอง รวมไปถึงตัวผู้ชมด้วย ก็ต้องพลิกมุมมองและสร้างแนวทางใหม่ ๆ ในการเสพงานศิลป์ด้วยเช่นกัน แนวทางการสร้างงานศิลปะใหม่ ๆ จะก่อให้เกิดศิลปะแบบใหม่ ๆ ฉะนั้นแก่นแท้ของมันจึงไม่ได้แตกต่างไปจากปรากฏการณ์ในอดีตเลย
.
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต
#การคาดการณ์อนาคต #Foresight
 
= = = = = = = = = =
อ่านบทความอื่น ๆ และสนใจปรึกษาข้อมูลแนวคิดการมองอนาคตเพิ่มเติมได้ที่
Facebook Fanpage : FuturISt@NIDA
.
เครดิตบทความ
Amelia Winger-Bearskin. Is AI Art Real Art?
 
เครดิตรูป
Aideal Hwa