อุตสาหกรรมอวกาศ ได้กลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดด และกลายเป็นกระแสหลัก ที่ผู้คนทั่วโลกจับตาอีกครั้ง ไม่ต่างจากในยุคแห่งการช่วงชิงความเป็นหนึ่งทางอวกาศ ในสมัยสงครามเย็น (1955 – 1975) ทว่าในครั้งนี้ ไม่ใช่แค่การขับเคี่ยวระหว่างสองมหาอำนาจ อเมริกา-รัสเซีย เหมือนในอดีตอีกต่อไปแล้ว แต่มีผู้แข่งขันหลักเพิ่มขึ้นมาเป็นสิบประเทศ และกลายเป็นธุรกิจเสรีที่เปิดกว้าง มีผู้ประกอบการภาคเอกชนหลายรายร่วมวงประชัน พัฒนายานอวกาศ หนึ่งในโปรเจคเด่นที่คาดว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกม ได้แก่ ‘Starship’ ระบบขนส่งอากาศของค่าย SpaceX ที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด โดยจะพาผู้คนไปยังดาวอังคารได้มากถึงครั้งละ 100 คน
ในรอบ 3 ปีหลัง มีอัตราการปล่อยยานอวกาศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในครึ่งแรกของปี 2022 มีการปล่อยยานอวกาศจำนวน 77 ครั้ง (เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 30%) และอุตสาหกรรมอวกาศมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยปีละ 6.8% มีการคาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดจะเพิ่มขึ้นจาก 3.8 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2021 ไปสู่ 5.4 แสนล้านดอลลาร์ฯ ในปี 2026
สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมอวกาศก็ทวีความสำคัญขึ้นมากไม่แพ้กัน โดยภายใต้การผลักดันของ ‘ภาคีความร่วมมืออวกาศไทย’ (THAI SPACE CONSORTIUM: TSC) ประเทศไทยตั้งเป้าที่จะผลักดันตัวเองให้เป็นชาติที่ 5 ของเอเชียที่ผลิตยานอวกาศ และจะส่งยานอวกาศไปสำรวจดวงจันทร์ภายใน 6 ปี มีความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทย-ญี่ปุ่น จัดตั้งสถาบันไทยโคเซ็น เพื่อพัฒนาบุคลากรด้านเทคโนโลยีอวกาศ ยิ่งไปกว่านั้นแล้ว ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ประกอบการธุรกิจอวกาศกว่า 1,000 ราย มีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 30,000 ล้านบาท และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ยถึงปีละ 10% (อ้างอิงจากข้อมูลของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ)
อนาคตของธุรกิจทางอวกาศ
กลไกของการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยบริการด้านอวกาศมีความหลากหลายโดยอาศัยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อสร้างนวัตกรรมต่าง ๆ จะเป็นจุดที่ทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น การพัฒนาจรวดและดาวเทียม การให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยดาวเทียม การพัฒนาอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศ และการเก็บขยะอวกาศ เป็นต้น นอกจากนี้ เทคโนโลยีอวกาศสามารถนำไปประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ในหลากหลายอุตสาหกรรม อาทิเช่น อิเล็กทรอนิกส์ ระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ อาหาร เกษตรกรรม เหมืองแร่ทรัพยากรและพลังงาน วงการก่อสร้าง การแพทย์ รวมถึงการท่องเที่ยว
ในอนาคต ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะไม่ได้ผูกขาดแค่จากภาครัฐ แต่จะเป็นธุรกิจเสรีที่เปิดกว้าง ประกอบกับการพัฒนาเทคโนโลยีต่าง ๆ เช่น Deep Learning, Mobile Connectivity, 3D Printing และRobotics ที่จะมีส่วนช่วยให้ต้นทุนลดลง อาทิ การผลิตจรวดและดาวเทียม หรือการให้บริการอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม นอกจากนี้ยังรวมถึงการพัฒนา Hypersonic Flight หรือเที่ยวบินแบบเร่งด่วน ที่สามารถร่นระยะเวลาการเดินทางระหว่างประเทศ เช่น เส้นทางบินสหรัฐ-ญี่ปุ่น จากเดิมใช้เวลา 13 ชั่วโมง เหลือเพียง 2-3 ชั่วโมง
ธุรกิจทางอวกาศมิได้มีเฉพาะเรื่องการผลิตยานหรือดาวเทียมเท่านั้น แต่ยังมีธุรกิจเกี่ยวเนื่องอีกหลายอย่าง และกลายเป็นเวทีแข่งขันของแบรนด์ดัง อาทิ บริษัทผลิตรถยนต์ Porsche ลงทุนใน Isar Aerospace บริษัทสตาร์ทอัปด้านการปล่อยจรวดและพาดาวเทียมสู่วงจรในประเทศเยอรมนี หรือบริษัทผลิตชุดและเครื่องกีฬา Adidas ได้ส่งชุดการทดลองชื่อ Boost in Space ขึ้นไปกับยาน SpaceX Falcon 9 เพื่อทำการเข้าใจการไหลของอนุภาคฯ แล้วนำองค์ความรู้มาใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์รองเท้า นอกจากนี้ บริษัทยา Sanofi ได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัย BioServe ส่งตัวอย่างเซลล์ในร่างกายมนุษย์ขึ้นไปในอวกาศเพื่อศึกษาผลกระทบของแรงโน้มถ่วงต่อระบบภูมิคุ้มกัน นำไปสู่การพัฒนาวัคซีนที่ดียิ่งขึ้น
ผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ
การสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ อย่างเช่น จรวดที่นำกลับมาใช้ได้ใหม่ หรือดาวเทียมต้นทุนต่ำ ส่งผลให้การสำรวจอวกาศเป็นไปอย่างคึกคัก และเอื้ออำนวยให้อุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ การพัฒนาของเทคโนโลยีดาวเทียมต้นทุนต่ำจากการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศยังส่งผลอย่างมากต่อการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยช่วยในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตผ่านการกระจายสัญญาณอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียม ซึ่งจะช่วยให้สัญญาณอินเทอร์เน็ตครอบคลุมพื้นที่มากขึ้น ในราคาที่ต่ำลง สามารถช่วยกระจายโอกาสในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร การเข้าถึงการศึกษา เพิ่มโอกาสในการเข้าถึงงาน อีกทั้งยังช่วยเสริมสมรรถนะของเทคโนโลยี เช่น เทคโนโลยีข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญาประดิษฐ์ และอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง
ยิ่งไปกว่านั้นการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศยังกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการสร้างโอกาสทางธุรกิจใหม่ ๆ ที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมอวกาศ เช่น การบริการภายในสถานีอวกาศ นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการสำรวจอวกาศ ข้อมูลทางกายภาพของโลกจากดาวเทียม ผลการทดลองต่าง ๆ ในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงยังเป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมากต่องานวิจัยในหลายด้าน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์ความรู้ นวัตกรรม และผลิตภัณฑ์ใหม่ต่อไป
อย่างไรก็ดี การแข่งขันทางอวกาศอย่างเข้มข้นของนานาชาติ อาจจะส่งผลกระทบด้านลบอย่างเช่น ความเหลื่อมล้ำในการพัฒนา ภัยคุกคามด้านความมั่นคงที่รัฐบาลของแต่ละประเทศกังวล และปัญหาสิ่งแวดล้อม เนื่องจากกระบวนการผลิตหรือปล่อยจรวดมีการสร้างก๊าซเรือนกระจกมหาศาล
สรุป
การพัฒนาธุรกิจอวกาศ ทำให้อวกาศไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป นักธุรกิจจำนวนมากมองเห็นโอกาสในการลงทุน ประชาชนให้ความสนใจในอวกาศมากขึ้น นำไปสู่การเร่งพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อให้เท่าทันกับเหตุการณ์และความต้องการ เพิ่มขีดความสามารถของมนุษย์ในการสำรวจอวกาศมากขึ้น อย่างไรก็ดี ภาครัฐที่เป็นตัวแสดงหลักในการขับเคลื่อนโครงการสำรวจอวกาศ ควรจะศึกษาผลกระทบให้รอบด้าน ดำเนินโครงการด้วยความโปร่งใส และพยายามสื่อสารวิสัยทัศน์ สร้างความเข้าใจ ทำให้ประชาชนเห็นคุณค่าของการพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศ และผลประโยชน์ระยะยาวที่สังคมไทยจะได้รับ
#FuturistNIDA #ให้คำปรึกษาด้านการมองอนาคต
#ธุรกิจอวกาศ #เทคโนโลยีอวกาศ #การพัฒนายานอวกาศ #OrbitalAerospace #ไทยจะไปดวงจันทร์
บทความโดย: ทีมงาน Futurist
= = = = = = = = =
อ้างอิง
Parabolic Arc. (2022). 77 Launches Conducted During First Half of 2022 as Access to Orbit Expanded. [Online]
Research and Markets. (2022). Global Space Economy Market Report 2022-2026 – Advancements of Micro-launcher Systems from New Entrants. [Online]
Brand inside. (2021). ด้านมืดการท่องเที่ยวอวกาศ: ความก้าวหน้าของมวลมนุษยชาติ สร้างผลกระทบมหาศาลต่อสิ่งแวดล้อม. [ออนไลน์]
PPTV Online. (2565). “อุตสาหกรรมธุรกิจอวกาศ” เครื่องยนต์ขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยแห่งอนาคต. [ออนไลน์]
SPACETH.CO. (2021). Space Economy Lifting Off 2021: เข้าใจใหม่ ธุรกิจอวกาศไม่ได้มีแค่ดาวเทียม. [ออนไลน์]
The Cloud. (2564). การคว้าโอกาสจาก ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ เทคโนโลยีใหม่ที่ใกล้ตัว และจะสร้างจุดเปลี่ยนให้ประเทศ. [ออนไลน์]
ไทยโพสต์. (2565). ‘เอนก’เจรจารมว.ศึกษาฯญี่ปุ่นร่วมมือ 3 เรื่องเทคโนโลยีอวกาศ เศรษฐกิจสร้างสรรค์ และซินโครตรอน. [ออนไลน์]