ด้านสังคม (Social)

การขยายตัวของความเป็นเมือง

กระบวนการกลายเป็นเมือง ปรากฏการณ์เมืองหรือปรากฏการณ์นครขนาดใหญ่ขยายตัว ในเชิงสถิติวัดได้จากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในเขตพื้นที่เมือง (อริสา จันทรบุญทาและจิรัฐ เจนพึ่งพร, 2018) แต่ในปัจจุบันด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร โครงข่ายการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่ครอบคลุม สะดวก และราคาถูกลง ผลักให้ขอบเขตของความเป็นเมืองให้กว้างไกลออกไปเรื่อย ๆ ทำให้วิถีชีวิตแบบเมืองแพร่ขยายไปทั่วทุกพื้นที่

การขยายตัวของชนชั้นกลาง

พิจารณาจากรายได้มวลรวมประชาชาติต่อหัว หรือ Gross National Income (GNI) per capita ในแต่ละประเทศ โดยแบ่งประเทศออกเป็นสี่กลุ่มตามรายได้ คือ รายได้ต่ำ, รายได้ปานกลางในระดับต่ำ, รายได้ปานกลางในระดับสูง, รายได้สูง (World Bank Country and Lending Groups, 2021) ในขณะนี้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกมีการเพิ่มขึ้นของ GNI ทำให้หลายประเทศเข้ามาอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลาง บ่งชี้ว่ารายได้ของประชากรในประเทศนั้นเพิ่มขึ้นและสะท้อนให้เห็นว่าชนชั้นกลางกำลังขยายตัว ประเทศไทยนั้นก็จัดเป็นหนึ่งในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper-middle income) เช่นกัน (ไทยเลื่อนชั้นเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูง, 2554) 

การเพิ่มขึ้นของคู่แต่งงานที่ไม่มีบุตรและคนโสดที่ไม่มีบุตร (DINK and SINK)

DINK และ SINK ย่อมาจาก Dual Income No Kids and Single No Kids แปลความหมายได้ว่า DINK เป็นคู่รักหรือคู่แต่งงานที่มีรายได้ทั้งสองคนและไม่มีบุตรหรือเลือกที่จะไม่มีบุตร (Kagan, 2021) ส่วน SINK นั้นคือคนโสดที่ไม่มีบุตร ซึ่งกำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพราะคนรุ่นใหม่ไม่นิยมมีลูก เพราะวิถีชีวิตที่เปลี่ยนไปและการตกต่ำของเศรษฐกิจที่ทำให้หลายคนไม่มีความมั่นคงทางการเงินและการงาน (พงศ์ธร ยิ้มแย้มและโอมศิริ วีระกุล, 2019), (ปิยะชาติ ภิรมย์สวัสดิ์และคณะ, 2563) 

การโหยหาอดีต

การโหยหาอดีตหรือ “วันชื่นคืนสุข” ที่ผ่านไปแล้ว การโหยหาอดีตนี้เป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วและสภาพสังคมที่เต็มไปด้วยปัญหา ไม่น่าอยู่ ผู้คนจึงต้องการหลีกหนีจากความเป็นจริงในปัจจุบันด้วยการแสวงหาชีวิตความเป็นอยู่ในอดีตที่รู้สึกว่าดีกว่าในปัจจุบัน (รุ้งนภา ยรรยงเกษมสุข, 2555)  

กระแสรักสุขภาพ

กระแสการตื่นตัวเรื่องสุขภาพ การสร้างเสริมสุขภาพให้แข็งแรงผ่านการออกกำลัง การรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ อาหารคลีนรวมถึงการดูแลสุขภาพกายและสุขภาพจิตของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อเกิดการระบาดของโรค COVID-19 ทุกคนยิ่งหันมาให้ความสนใจเรื่องสุขภาพมากยิ่งขึ้น 

ความเครียด

ปัญหาความเครียดเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุทั้งทางด้านร่างกายจากปัญหาสุขภาพและการเจ็บป่วยทางด้านจิตใจ เช่น ผู้ที่มีความรับผิดชอบสูง เวลาที่มีเรื่องต่าง ๆ เข้ามากระตุ้นก็จะทำให้เกิดความเครียดได้ง่าย หรือทางด้านสังคม เช่น ความขัดแย้งกับครอบครัวหรือเพื่อนฝูง ความเครียดอาจจะส่งผลกระทบโดยตรงถึงร่างกายได้ เช่น ทำให้นอนไม่หลับ รับประทานอาหารไม่ได้ ปวดศีรษะ ร่างกายอ่อนเพลีย (สุดสบาย จุลกทัพพะ, 2554) 

ความเหลื่อมล้ำ

ความไม่เท่าเทียมกัน ภาวะความเป็นอยู่ของคนในสังคมเดียวกันแต่ดำรงชีวิตหรือมีความเป็นอยู่ที่แตกต่างกัน ความเหลื่อมล้ำมีหลายมิติ แบ่งเป็น 1) ความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์ (Outcome) 2) ความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส (Opportunity) 3) ความเหลื่อมล้ำด้านผลกระทบ (Impact) (McGowan & Vereinte Nationen, 2018)โดยทั่วไปมักจะหมายถึงความเหลื่อมล้ำทางรายได้ (พิรญาณ์ รณภาพ, 2564) 

ประชากรรุ่นวาย (Generation Y)

กลุ่มคนที่เกิดในช่วงต้นของปี ค.ศ. 1980s จนถึงปลาย ค.ศ. 1990s (ราว ๆ พ.ศ. 2520 – 2530) เป็นกลุ่มคนกึ่งกลางระหว่างรุ่นเก่ากับรุ่นใหม่ กำลังอยู่ในวัยทำงาน ใช้ชีวิตเพื่อการทำงาน การบริโภค และใส่ใจกับสุขภาพรวมถึงเรื่องทางการเมืองการปกครองของประเทศ (นิตยาภรณ์ มงคล, 2563) (Dimock, 2019) 

ประชากรรุ่นแซด (Generation Z)

คือประชากรรุ่นใหม่ซึ่งมีอายุน้อยที่สุด เกิดตั้งแต่ปี 1997 (พ.ศ. 2540) จนถึงปัจจุบัน (Dimock, 2019)อย่างไรก็ตามหลายที่ได้จำกัดให้ Gen Z สิ้นสุดลงที่กลุ่มประชากรที่เกิดภายในปี 2010 และประชากรหลังจากนั้นนับเป็น Generation Alpha (“Gen Z and Gen Alpha Infographic Update,” n.d.), (Francis & Hoefel, 2018) แม้การให้คำนิยาม Generation Alpha นี้ก็ยังคงเป็นที่ถกเถียงกันก็ตาม (Pinsker, 2020) สำหรับ Gen Z นั้น แม้ Gen Z ที่อายุมากที่สุดจะเพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าประชากรกลุ่มนี้จะกลายเป็นกำลังสำคัญในตลาดแรงงาน ตลาดผู้บริโภคและอิทธิพลทางสังคม การเมืองในอนาคต ด้วยขนาดประชากรกว่า 2.5 พันล้านคน จำนวนมากกว่า Gen Y ที่กำลังเป็นแรงงานหลักในตอนนี้ (Brodard & Blöchlinger-Brechbühl, 2021) 

ภาวะสมองไหล (Brain Drain)

ปรากฏการณ์สมองไหล (Brain drain) คือการที่แรงงานทักษะสูงหรือบุคคลชั้นมันสมองของประเทศอพยพเพื่อย้ายไปทำงานและตั้งรกรากใหม่ที่ประเทศอื่นที่มีโอกาสในการทำงาน รายได้และสวัสดิการรองรับดีกว่าประเทสต้นทาง (ดวงพร อุไรวรรณ, 2559), (Migration Policy Institute, n.d.) 

สังคมผู้สูงอายุ

สังคมที่ประชากรกลุ่มใหญ่เป็นผู้สูงอายุที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ซึ่งขณะนี้ทั่วโลกกำลังก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุในอัตราที่ต่างกัน โดย (“วารสารข้าราชการ,” 2561, pp. 5–6) 

สมาธิสั้น

การขาดสมาธิในการจดจ่อทำงานหรือกิจกรรมอย่างใดอย่างหนึ่งได้ในระยะเวลานาน แต่การขาดสมาธิหรือการมีสมาธิสั้นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงโรคสมาธิสั้น (ADHD) ซึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรม แต่การมีสมาธิสั้นนั้นเกิดขึ้นจากสภาพแวดล้อม ทั้งสื่อ เทคโนโลยี สังคม ความกดดันจากงานและอื่น ๆ ทำให้คนมีปัญหาในการจดจ่อกับงานตรงหน้า หรือกับสิ่งที่อ่าน ฟัง ดู