ดาวเทียมวงโคจรต่ำ (LOW EARTH ORBIT SATELLITE, LEO SATELLITE)

ดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นดาวเทียมที่โดยทั่วไปจะโคจรและปฏิบัติการอยู่ ณ ระดับความสูงประมาณ 160-1,000 กิโลเมตรเหนือพื้นผิวโลก (European Space Agency, 2020) สามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ในหลายรูปแบบ ตัวอย่างเช่น ดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ดาวเทียมสื่อสาร และดาวเทียมระบุตำแหน่งและนำทาง 

แนวโน้มในอนาคต 

▪ ดาวเทียมวงโคจรต่ำจะได้รับการพัฒนาให้มีคุณภาพดียิ่งขึ้นและมีความหน่วงในการรับ-ส่งสัญญาณลดลง อุปกรณ์การสร้างภาพของดาวเทียมสังเกตการณ์โลกน่าจะสามารถสร้างภาพที่มีรายละเอียดคมชัดมากขึ้น ขณะที่ดาวเทียมสื่อสารน่าจะมีอัตราการส่งข้อมูลเพิ่มขึ้นสูงถึง 65-70 เทระบิตต่อวินาที (Tbps) ใน ค.ศ.2024 (PwC, 2020b, pp.17 & 23)
▪ ต้นทุนการผลิต การปล่อย และการบำรุงรักษาดาวเทียมมีแนวโน้มที่จะลดลง (Borrett, 2020)
▪ ตัวแสดงที่ใช้งานหรือให้บริการดาวเทียมมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนมาใช้กลุ่มดาวเทียมวงโคจรต่ำจำนวนมากแทนดาวเทียมค้างฟ้า หรือใช้ผสมผสานกันเพิ่มขึ้น (PwC, 2020b, p.22)
▪ ดาวเทียมวงโคตรต่ำน่าจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นด้วยอัตราก้าวหน้า โดยดาวเทียมสื่อสารจะเพิ่มจำนวนจากประมาณ 2,000 ดวงใน ค.ศ.2020 เป็นประมาณ 75,000 ดวงภายใน ค.ศ.2030 (AngkasaX Innovation, 2021)
▪ ภาคเอกชนจะกลายมาเป็นตัวแสดงหลักในการพัฒนาและให้บริการดาวเทียมวงโคจรต่ำ
▪ มูลค่าของอุตสาหกรรมอวกาศโลกถูกคาดการณ์ว่าจะเติบโตขึ้นจาก 350 พันล้านเหรียญสหรัฐใน ค.ศ.2016 เป็นหนึ่งล้านล้านเหรียญสหรัฐภายใน ค.ศ.2040 โดยมีภาคส่วนที่ขับเคลื่อนด้วยดาวเทียมวงโคจรต่ำเป็นภาคส่วนสำคัญ เช่น การให้บริการอินเทอร์เน็ต ซึ่งมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 39 ของมูลค่าอุตสาหกรรมรวม (Morgan Stanley, 2021)

ผลกระทบต่อประเทศไทย  

▪ เพิ่มคุณภาพและลดต้นทุนข้อมูลเกี่ยวกับโลกและพื้นที่ เอื้อให้การทำอุตสาหกรรมทรัพยากรปฐมภูมิ เกษตรกรรม และธุรกิจที่อาศัยข้อมูลโลกอื่น ๆ มีประสิทธิภาพสูงขึ้น แต่ผู้ผลิตที่ไม่สามารถเข้าถึงก็จะเสียความสามารถการแข่งขัน
▪ ขับเคลื่อนเครือข่ายห้าจีและหกจี รวมถึงเอื้อต่อการให้บริการอินเทอร์เน็ตจากอวกาศ ซึ่งจะ เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้าถึงและใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตได้อย่างกว้างขวางขึ้น อีกทั้งยังเสริมสมรรถนะของข้อมูลขนาดใหญ่ ปัญญา-ประดิษฐ์ และอุปกรณ์อินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง
▪ เพิ่มความแม่นยำรวดเร็วในการระบุตำแหน่ง การนำทาง และการขับเคลื่อนยานยนต์ไร้คนขับและหุ่นยนต์ ส่งผลให้ผลิตหรือนำเทคโนโลยีเหล่านี้มาประยุกต์ใช้ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
▪ ในภาพรวม จะเพิ่มผลิตภาพของแรงงานทักษะขั้นสูง แต่ลดความต้องการแรงงานขั้นกลาง-ต่ำ
▪ เสริมสร้างขีดความสามารถของรัฐบาลในการกำหนดและบังคับใช้นโยบายการผังเมือง ที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน การเกษตร ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และการจัดการภัยพิบัติ รวมถึงการจัดบริการสาธารณะทางไกลและการใช้ข้อมูลในการบริหารราชการแผ่นดินโดยรวม
▪ เสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพและขบวนการก่อการร้ายในการกำหนดยุทธศาสตร์ การวางแผนยุทธวิธี ตลอดจนการสื่อสารและการควบคุมอาวุธระยะไกล
▪ หากถูกประยุกต์ใช้เป็นอาวุธอวกาศ จะบั่นทอนเสถียรภาพและความมั่นคงในการเมืองโลก