Complexity ซับซ้อนได้ก็ชัดเจนได้

สัปดาห์นี้ในซีรี่ส์ VUCA world ที่กล่าวถึงโลกในยุคของความผันผวน ความไม่แน่นอนความซับซ้อนและความคลุมเครือ จะพาท่านไปทำความเข้าใจ C ที่แทนความหมายของ Complexity หรือความซับซ้อน ว่าความซับซ้อนมีลักษณะอย่างไร แล้วในความซับซ้อนของโครงสร้างขนาดใหญ่ เช่น โครงสร้างระบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการเงิน ควรมีวิธีการจัดการอย่างไร?

มาร่วมหาคำตอบไปด้วยกันว่า ความซับซ้อนสามารถทำให้ชัดเจนได้หรือไม่ แล้วนักอนาคตศาสตร์ต้องวางแผนกลยุทธ์อย่างไรเพื่อรับมือกับความซับซ้อน

จากบทความที่แล้วได้เล่าถึงสถานการณ์ ผลกระทบและแนวทางแก้ไขปัญหาจากสถานการณ์ที่มีความผันผวน มีความไม่แน่นอน จาก VUCA WORLD ในบทความนี้จะนำเสนอตัว C (Complex) หรือสถานการณ์ที่มีความซับซ้อน

ความซับซ้อน (Complexity) คือ ปัญหาที่มีความเชื่อมโยงกันหรือมีผลกระทบต่อเนื่องกัน เป็นสภาวะที่สภาพแวดล้อมมีความซับซ้อนที่เพิ่มมากขึ้นและมีปัจจัยหรือตัวแปรมากมายมาเกี่ยวข้องต่อการตัดสินใจ มักเป็นระบบที่มีโครงสร้างใหญ่ เช่น โครงสร้างระบบทางเศรษฐกิจและโครงสร้างทางการเงิน มีผลกระทบเป็นแบบโดมิโน ทำให้ใช้ระยะเวลานานในการแก้ไขปัญหา แต่เป็นปัญหาที่ต้องอาศัยความรวดเร็วในการแก้ไขสถานการณ์ เพื่อบริหารจัดการปัญหาให้ง่ายขึ้นอย่างมีระบบและรวดเร็ว การสร้างความชัดเจน (Clarity) ในการระบุกลยุทธ์รับมือให้สอดคล้องไปกับวิสัยทัศน์ (Vision) ขององค์กรจึงเป็นแนวทางรับมือการแก้ปัญหาที่ดีที่สุด

การใช้ความเข้าใจอย่างเป็นระบบ (System Thinking) เพื่อมองปัญหาหรือความซับซ้อนให้ง่ายขึ้นผ่านทักษะการสื่อสาร (Communication) ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการอธิบายให้เข้าใจความสลับซับซ้อนของเหตุการณ์นั้นๆ สร้างความชัดเจนหรือลดความซับซ้อน (Simplify) ด้วยทักษะการเรียงลำดับความสำคัญ (Priority) เพื่อจัดระดับความสัมพันธ์ของตัวแปร เพราะหากไม่แยกว่าเรื่องใดสำคัญมากหรือน้อยขนาดไหน อาจทำให้เกิดความสับสนและแก้ปัญหาไม่ได้เนื่องจากเป็นสถานการณ์ที่ปัญหาเชื่อมโยงถึงกัน เช่น การลงทุนทำธุรกิจในหลายประเทศ มีเงื่อนไขหลายอย่างที่เฉพาะเจาะจงไม่เหมือนกันในแต่ละประเทศ และขัดแย้งกับสภาพแวดล้อมหรือการจัดการขององค์กรเดิม ไม่ว่าจะเป็นกฎ ข้อบังคับ กฎหมาย กฎเกณฑ์ วิถีชีวิต วัฒนธรรมองค์กร หรือกำแพงภาษี เป็นต้น

สรุป ทางออกหรือแนวทางแก้ไขสถานการณ์ภายใต้ความซับซ้อนต้องใช้ความชัดเจนหรือกระจ่างชัด เพื่อสร้างความชัดเจนในการเสริมสร้างนโยบายและกลยุทธ์ มี 3 ประการ

1. Awareness คือ การตระหนักรู้ โดยใช้ประสบการณ์หรือสัญชาตญาณตัดสินใจแก้ไขปัญหา
2. Simplify คือ จัดระบบให้มีความเรียบง่าย มุ่งเน้นประเด็นที่เป็นแกนหลักขององค์กร โดยไม่เสียเวลากับขั้นตอนที่ไม่สร้างคุณค่าให้กับองค์กร
3. Systems Thinking คือ การคิดเชิงระบบ เพื่อให้ได้มุมมองแบบองค์รวม