AI กับช่องว่างทางการศึกษาในอนาคต

การมาถึงของศตวรรษที่ 21 พร้อมการพัฒนาของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI) ทำให้เกิดการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมของมนุษย์เป็นไปในรูปแบบใหม่ที่มีความสะดวกสบายต่างจากเดิมแทบทุกด้านในปัจจุบัน โดยเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในการปรับเปลี่ยนโลกใบเดิมให้ตอบสนองความต้องการของมนุษย์มากยิ่งขึ้น ซึ่งการเติบโตของ AI เป็นตัวเร่งสำคัญในการเกิด “Digital Transformation” หรือหรือการนำเทคโนโลยีมาปรับใช้เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรอย่างมีกลยุทธ์ อุตสาหกรรมหลากหลายแขนงได้มีการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้าไปใช้เพื่อช่วยในให้เกิดความรวดเร็ว เพื่อให้เกิดความแม่นยำและเป็นผู้เล่นที่มีสมรรถนะที่ดีพอในการวิ่งบนสนามแข่งขันอันไร้พรมแดน รวมถึง อุตสาหกรรมการศึกษา ที่ได้มีความพยายามในการนำ AI เข้ามาเพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ทางการศึกษาให้แก่นักเรียน

ระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมถูกท้าทายจากเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีชุดข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ที่ผลักดันให้เด็กมีการเรียนรู้ด้วยตนเอง มากกว่าแค่การเรียนภายในห้องผ่านผู้สอน รวมถึงความสามารถในการเชื่อมโยงและย่นระยะเวลาการทำกิจกรรมในชั้นเรียนผ่านระบบทดสอบออนไลน์  หรือแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ โดยกลไกอัจฉริยะดังกล่าว เป็นเสมือนตัวช่วยในการพัฒนาการศึกษาให้มีความก้าวหน้า เพราะช่วยยกระดับทักษะของผู้เรียนให้ออกจากกรอบดั้งเดิม และยังช่วยลดระยะเวลาในการรวบรวมข้อมูลและเตรียมสื่อการสอน แต่ในขณะเดียวกัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมการศึกษา ยังต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายด้านความสามารถในการใช้และเข้าถึงดิจิทัล และความเหลื่อมล้ำ ส่งผลให้ AI อาจเป็นได้ทั้งเครื่องมือในการใช้เชื่อมและแยกโอกาสทางการศึกษาของผู้เรียนแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่มสังคม

  • เครื่องมือเชื่อมโอกาส.. เพิ่มทักษะ

จากผลกระทบของวิกฤติโควิด-19 และการต้องใช้ชีวิตแบบ New-Normal ที่ลดการพบปะของผู้คนกันได้ในชีวิตจริง ทำให้เกิดการนำ AI มาประยุกต์ใช้เป็นเครื่องมือในระบบการศึกษาเพื่อเชื่อมโยงระหว่างผู้สอนและนักเรียนเข้าด้วยกัน ทำให้เกิดผลกระทบต่อการศึกษาแบบดั้งเดิมที่การถ่ายทอดความรู้ถูกจำกัดอยู่แค่ภายในห้องเรียนเท่านั้น ซึ่งช่วงเวลาที่ผ่านมา AI ได้เข้ามาทำหน้าที่เป็นสื่อกลางการสอนระหว่างครูกับนักเรียนผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ เช่น Zoom, Microsoft Teams, Google Forms, Line หรือ Facebook รวมถึงเป็นเครื่องมือหลักในการใช้วัดระดับความรู้โดยไม่จำเป็นต้องสอบภายในห้อง แต่สามารถจัดเก็บข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ผ่านฟังค์ชั่นการวิเคราะห์ทักษะด้านต่าง ๆ ของนักเรียนในชั้นออกมาเป็นกราฟและข้อมูลเชิงสถิติ ผู้สอนจึงสามารถปรับเปลี่ยนหลักสูตรการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการทางวิชาการที่แท้จริงของนักเรียนได้ ซึ่งจะช่วยส่งเสริมคุณภาพในการสอน และเสริมสร้างทักษะทางวิชาการให้มีความโดดเด่นยิ่งขึ้นในอนาคต

AI หรือเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ยังเป็นแหล่งการเรียนรู้แบบเปิดขนาดใหญ่ที่สามารถใช้พัฒนาทักษะความรู้ได้ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นทักษะที่เป็นประโยชน์ในการศึกษา ทักษะสำหรับเรื่องทั่วไปในชีวิตประจำวัน หรือทักษะที่ต้องการในตลาดทั่วโลก ซึ่งผู้เรียนสามารถเข้าถึงความรู้เหล่านี้ตามต้องการได้อย่างง่ายดาย และการเป็นแหล่งรวมความรู้ไร้พรมแดนดังกล่าว จึงเป็นอีกหนึ่งโอกาสของการเชื่อมต่อช่องทางในการสร้างเสริมประสบการณ์ทางการเรียนรู้ ที่เสมือนจริงและทันต่อโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น ChatGPT หรือ Chatbots ต่าง ๆ ที่สามารถตอบคำถามได้ทุกเวลาทันใจ เป็นต้น

 เห็นได้ว่าการศึกษาที่เคยมีช่องว่างได้ถูกความอัจฉริยะและล้ำสมัยของ AI เข้ามาช่วยเติมเต็มได้โดยเป็นตัวกลางในการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างครูและนักเรียนให้มีความสะดวกสบาย ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปยังสถานศึกษาซึ่งบางที่มีความห่างไกลมาก หรือแม้แต่การเข้าถึงการสอนจากบุคลากรชั้นนำจากภาคส่วนต่าง ๆ จากที่บ้าน ลดความเหลื่อมล้ำทางการเข้าถึงองค์ความรู้ และยังช่วยลดภาระของผู้สอนในการวิเคราะห์ข้อมูลเชิงปริมาณ หรืองานเอกสาร ดังนั้น การก้าวกระโดดของ AI จึงมีนัยยะสำคัญต่ออุตสาหกรรมการศึกษาในอนาคต เพราะเป็นโอกาสทองในการเข้าถึงข้อมูลอันเป็นประโยชน์จากหลากหลายพื้นที่ รวมถึงการได้พัฒนาความสามารถทางดิจิทัลที่จะเข้ามาเป็นทักษะสำคัญแห่งอนาคตที่มีผลต่อตลาดแรงงาน

  • เครื่องมือแยกโอกาส.. เพิ่มความเหลื่อมล้ำ

แม้ความสามารถของ AI จะสามารถบ่มเพาะความรู้และทักษะได้อย่างไม่มีขีดจำกัด แต่ทว่าความสามารถในการครอบครอง Smart phone ซึ่งถือเป็นหนึ่งในเครื่องมืออัจฉริยะที่นิยมใช้ที่สุดในปัจจุบันนั้นยังคงถูกจำกัดภายในกลุ่มคนที่มีรายได้ปานกลางไปจนถึงสูงเท่านั้น ประกอบกับปัญหาโครงสร้างพื้นฐานและการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตที่มีประสิทธิภาพ ทำให้ AI กลายมาเป็นสัญลักษณ์สมัยใหม่ที่บ่งบอกได้ชัดเจนถึงความเหลื่อมล้ำของคนบางกลุ่มที่ก้าวไม่ทันและไม่มีโอกาสได้สัมผัสกับโลกดิจิทัล

นอกจาก AI จะเป็นเครื่องมือที่ใช้สำหรับการเชื่อมโอกาสสำหรับผู้เรียนให้ได้ท่องเที่ยวไปในโลกแห่งความรู้ที่ไร้พรมแดน และเข้าสู่ชั่วโมงการสอนได้จากทุกพื้นที่แม้จะอยู่ห่างไกล แต่อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เหล่านี้ ยังเป็นเครื่องมือที่สามารถแยกโอกาสในการเรียนรู้ให้ออกจากผู้ที่เผชิญกับความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจหรือผู้มีรายได้น้อย รวมถึงผู้อยู่อาศัยในพื้นที่ห่างไกลที่ประสบปัญหาจากโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่เข้มแข็งภายในประเทศ ทำให้การประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมการศึกษานั้นมีโจทย์ความท้าทายสำคัญ ได้แก่ ความสามารถในการเข้าถึงดิจิทัล ของทั้งครูผู้สอนและนักเรียน

การเติบโตของเทคโนโลยีที่ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่จะผลักดันประสบการณ์การสอนให้มีคุณภาพที่ดีขึ้นนั้นย่อมแลกมากับราคาที่สูงขึ้น ในอนาคตอาจเกิดการแบ่งชนชั้นจากการครอบครองเทคโนโลยี ซึ่งเป็นการตอกย้ำความเหลื่อมล้ำ และความไม่เท่าเทียม เนื่องจากในกลุ่มเด็กที่มีสถานะทางสังคมที่ดีกว่าก็จะมีโอกาสได้รับประสบการณ์ที่ดีทางการเรียนผ่านเทคโนโลยีมากกว่ากลุ่มเด็กจากบ้านรายได้น้อยที่ยังต้องเรียนกับระบบการศึกษาแบบดั้งเดิมที่อาจจะไม่ได้มีความน่าตื่นเต้น หรือได้รับประสบการณ์แปลกใหม่ทางการศึกษาเทียบเท่าคนอื่น ๆ ซึ่งเห็นได้ชัดว่าการประยุกต์ใช้ AI ในอุตสาหกรรมการศึกษานั้นไม่ได้มีเพียงแต่ประโยชน์เท่านั้น แต่ยังมาพร้อมกับความการกระจุกตัวของความเจริญทางโครงสร้างพื้นฐาน และความเหลื่อมล้ำทางรายได้ ไปจนถึงความไม่เท่าเทียมของประสบการณ์การศึกษาอันเกิดจากการไม่ได้ครอบครองอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ

ผู้คนส่วนใหญ่ในปัจจุบันอาจคุ้นชินกับบทบาทอันหลากหลายของเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ภายในอุตสาหกรรมการศึกษา เช่น การเป็นครูผู้ช่วยอัจฉริยะที่สามารถวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึกของชั้นเรียน การเป็นแหล่งการเรียนรู้แบบเปิดขนาดใหญ่และไร้ขีดจำกัดในการเสาะหาข้อมูล และการเป็นเครื่องมือช่วยบ่มเพาะทักษะที่จำเป็นในอนาคต จากที่กล่าวมาทั้งหมด นอกจาก AI จะทำหน้าที่ในการทำลายกรอบการเรียนที่ถูกจำกัดแค่ภายในห้องออกไปนั้น  จะเห็นได้ว่า AI ยังสามารถพลิกกลับเป็นสิ่งที่ขีดกรอบและขอบเขตของโอกาสในการเข้าถึงความรู้ในกลุ่มคนรายได้น้อย หรืออาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลที่ยังคงมีโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่แข็งแรงได้เช่นกัน

…………………………………………….

เรียบเรียงโดย: จุฑามาศ เฮ่งพก

…………………………………………….

อ้างอิง

ธงชัย ชลศิริพงษ์. กรณีศึกษา: ทำไมปัญญาประดิษฐ์ (AI) จึงทำให้เศรษฐกิจของ “เมือง” กับ “ชนบท” ยิ่งเหลื่อมล้ำ. (2019). From https://brandinside.asia/ai-economy-inequality/

Zhengyu Xu, Yingjia Wei, and Jinming Zhang. AI Applications in Education. From https://eudl.eu/pdf/10.1007/978-3-030-69066-3_29

The Role of Artificial Intelligence in the Future of Education. (2020). from https://www.getsmarter.com/blog/market-trends/the-role-of-artificial-intelligence-in-the-future-of-education/

Michael J. Reiss. The use of AI in education: Practicalities and ethical considerations. (2021). From https://files.eric.ed.gov/fulltext/EJ1297682.pdf