ความท้าทายของรัฐสวัสดิการ

การมีสวัสดิการทางสังคม (Social Welfare) ที่ดี กำลังตกเป็นประเด็นทางสังคม ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ และ ติดตามทิศทางในการพัฒนา เช่นเดียวกับในหลายประเทศที่ให้ความสำคัญและกำลังพยายามยกระดับประสิทธิภาพของระบบสวัสดิการให้ครอบคลุมในทุกมิติเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนประเทศตั้งแต่ “คน” ที่เป็นรากฐานอย่างมีพลัง เช่น ประเทศจีน เกาหลี เวียดนาม และญี่ปุ่น หรือแม้แต่ในประเทศไทย ที่เริ่มเกิดเวทีเพื่อถกเถียงถึงความสำคัญและชี้ให้เห็นว่าประเทศจะสามารถพัฒนาไปได้อย่างเท่าเทียม ทั่วถึง และยั่งยืนเมื่อรัฐมีนโยบายใช้ภาษีเพื่อหล่อเลี้ยงหัวใจหลักอย่างสวัสดิการทางสังคมได้อย่างมีคุณภาพ ดังนั้น การกลายเป็น “รัฐสวัสดิการ” (Welfare State) ในปัจจุบันนอกจากจะเป็นเรื่องที่ท้าทายนโยบายการพัฒนาและแนวคิดของรัฐต่อภาคประชาชน นอกจากนี้ยังเป็นเรื่องของการกลายเป็นประเทศในอุดมคติของใครหลายคนที่เอื้อต่อการอยู่อาศัยของผู้คนตั้งแต่เกิดจนวาระสุดท้ายของชีวิต

นอร์ดิก.. ต้นแบบรัฐสวัสดิการ

หากพูดถึงประเทศที่มีระบบสวัสดิการ (Welfare System) ที่ดี กลุ่มประเทศนอร์ดิก (Nordic Countries) ซึ่งได้แก่ ประเทศเดนมาร์ก นอว์เวย์ ฟินแลนด์ ไอส์แลนด์ และสวีเดน จะเป็นหนึ่งในประเทศที่ถูกยกเป็นตัวอย่างของรัฐสวัสดิการที่ใช้ภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพด้วยการจัดบริการทางสังคม (Social Service) ให้กับประชาชนอย่างหลากหลายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาและอยู่อาศัยครอบคลุมในทุกช่วงวัย ทำให้กลุ่มประเทศนอร์ดิกถูกขนานนามว่าเป็นประเทศที่คนมีความสุขที่สุดในโลก ซึ่งกุญแจสำคัญที่ช่วยไขความลับในการกลายเป็นประเทศที่มีความสุขเหล่านี้ คือ “Nordic Model” หรือรูปแบบการพัฒนาด้วยระบบแบบผสมระหว่างระบบทุนนิยมกับสังคม

นิยม ผ่านการวาง 3 เสาหลัก ได้แก่ 1. ระบบปกครองเชิงเศรษฐกิจ (Economic Governance) 2. การทำงานเป็นระบบ (Organized Work) 3. ระบบสวัสดิการเพื่อสาธารณะ (Public Welfare) ดังภาพด้านล่าง

 ความพิเศษของการบริหารสังคมแบบนอร์ดิกคือการมีระบบปกครองเชิงเศรษฐกิจ (Economic Governance) ที่รัฐเป็นผู้รับผิดชอบในด้านการลงทุน มีการออกนโยบายทางเศรษฐกิจระยะยาว มุ่งเน้นให้เกิดการเติบโตของเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนและโตพร้อมกันในทุกพื้นที่อุตสาหกรรม (Balanced Economic) ในขณะเดียวกันก็เปิดโอกาสให้องค์กรพันธมิตรเข้ามามีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นหรือตกลงร่วมกับรัฐในการร่างกฎหมาย และหรือออกแบบระบบอื่น ๆ ในสังคม อีกทั้งยังมีการหักส่วนหนึ่งของเงินเดือนของแรงงานเพื่อสมทบกองทุนสนับสนุนสหภาพ (Coordinated Wage) ซึ่งการทำงานร่วมกันอย่างเป็นระบบ (Organized Work) ทำให้รูปแบบการพัฒนาแบบนอร์ดิกมีระบบสวัสดิการเพื่อสาธารณะ (Public Welfare) ที่ดี ทั่วถึง และเท่าเทียมให้กับคนทุกส่วนในสังคม ทั้งการสนับสนุนการศึกษาตั้งแต่แรกเกิด การฝึกฝนทักษะในรั้วโรงเรียนหรือที่ทำงาน ประกันสุขภาพ และการจ้างงานที่มีการดำเนินงานตามแผนนโยบายตลาดงานเชิงรุก (Active Labour Market Policies) โดยรัฐจะจัดสรรตำแหน่งหน้าที่เพื่อสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานหรืออุดหนุนให้ประชากรมีงานทำทั้งในระยะสั้นและระยะยาว โดยแรงงานที่มีคุณภาพจากภาษีที่ถูกจัดสรรนี้จะเชื่อมโยงต่อไปเป็นชิ้นส่วนสำคัญในองค์กรต่าง ๆ ที่มีความสามารถในการจ่ายภาษีที่สูงเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปพร้อมกัน

สวัสดิการที่มาพร้อมกับความท้าทาย

จากระบบการทำงานที่บูรณาการระหว่างทุนนิยมกับสังคมนิยมเข้าด้วยกันดังกล่าว ทำให้กลุ่มนอร์ดิกเป็นประเทศรัฐสวัสดิการ (Welfare State) ที่ตอบโจทย์ความจำเป็นขั้นพื้นฐานครบถ้วน ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาทั่วถึง การมีประกันสุขภาพ การมีที่อยู่อาศัย การมีงานทำและมีรายได้ การมีบริการทางสังคมที่เท่าเทียม และสังคมมีความปลอดภัย มั่นคง รวมถึงการทำงานร่วมกันเหล่านั้นยังก่อให้เกิดความเชื่อใจ (Trust) ระหว่างภาคส่วน จึงเป็นต้นแบบที่ประเทศอื่นพยายามศึกษาเพื่อยกระดับสวัสดิการสังคมและการพัฒนาบริการสาธารณะให้ดียิ่งขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การก้าวเข้าสู่รัฐสวัสดิการก็ไม่ใช่เรื่องง่ายที่สามารถทำได้ในทุกประเทศ เนื่องจากต้องมีการปรับตั้งแต่รากระบบการบริหาร การจัดการโครงสร้างพื้นฐาน การแบ่งเก็บภาษี และการให้ความร่วมมือกันเพื่อส่งเสริมการทำงานให้บรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจ ในประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย อาจต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายเหล่านี้ที่จะเกิดขึ้นหลังจากการปรับเปลี่ยนโครงสร้างและการบริการเป็นรัฐสวัสดิการทั้งในปัจจุบันและอนาคต

  • การปรับตัวต่อเศรษฐกิจโลก

การปรับเปลี่ยนประเทศเพื่อก้าวเข้าสู่การเป็นรัฐสวัสดิการ เชื่อมโยงสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างรากฐานในประเทศ เช่น ระบบเศรษฐกิจ (Economic System) ที่มีผลโดยตรงต่อการจัดสรรสวัสดิการทางสังคม (Social Welfare) รวมถึงบทบาทของรัฐในการบริหารหรือร่วมลงทุนกับภาคประชาชน ซึ่งปัจจุบันที่มีการแทรกแซงจากเทคโนโลยีสมัยใหม่ (Technology Disruption) และการต่อสู้เพื่อขึ้นเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนขึ้นมากมาย ตั้งแต่ศักยภาพในการเติบโตทางเศรษฐกิจ และค่าจ้างของแรงงาน

ในประเทศที่กำลังพัฒนาและติดกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income-Trap) ซึ่งหลาย ๆ ที่ประสบสภาวะสมองไหล (Brain Drain) และอัตราการจ้างงานต่ำ ถือเป็นเรื่องท้าทายของรัฐในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่มีนโยบายยืดหยุ่นพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจโลก ในขณะที่ต้องให้การสนับสนุนและแบกรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงนั้น เช่น การให้เงินสนับสนุนครอบครัว การอุดหนุนจ้างงาน การให้ประกันสุขภาพ และเงินบำนาญ โดยรัฐต้องมีการบริหารภาษีให้มีความสมเหตุสมผลสอดคล้องกับรายได้ของคนในประเทศ เพื่อนำไปหมุนเวียนจัดสรรเป็นสวัสดิการให้ครอบคลุมทุกความต้องการพื้นฐาน ซึ่งอาจกลายมาเป็นโจทย์และแรงกดดันสำคัญของรัฐในการรับภาระทางการคลังและบริหารให้มีประสิทธิภาพ

  • การเปลี่ยนแปลงของสังคม

อีกหนึ่งความท้าทายสำคัญของการเป็นรัฐสวัสดิการคือการรับมือกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา โดยปรากฎการณ์สำคัญที่กำลังเกิดขึ้นและเป็นมีผลกระทบต่อสังคมในวงกว้างคือ “การเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ” (Ageing Society) ที่ประชากรมีอายุยืนมากขึ้น เฉลี่ย 75 ปี เป็นผลจากการก้าวกระโดดทางการแพทย์และสาธารณสุข แต่อัตราการเกิดกลับลดต่ำลง ส่วนหนึ่งมาจากผู้หญิงนิยมเป็นโสดมากขึ้นด้วย ดังนั้น เมื่อการเกิดต่ำ สัดส่วนแรงงานจึงลดน้อยลง ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจและงบประมาณภายในประเทศ ทำให้รัฐมีหน้าที่ต้องตัดสินใจและกำหนดงบประมาณเพื่อนำมาเป็นสวัสดิการ ประกันสุขภาพ และเงินกองทุนต่าง ๆ ให้ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายประชากรที่มีความหลากหลายมากขึ้น

อีกทั้ง ช่องว่างระหว่างรายได้และการเก็บภาษีที่ไม่เท่าเทียมกันอาจเป็นตัวเร่งให้เกิดความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น ดังนั้น รัฐจึงจำเป็นต้องสนับสนุนให้เกิดรายได้ที่พอเพียงเพื่อเพิ่มกำลังในจ่ายภาษี ในขณะที่ต้องดูแลกลุ่มคนที่ต้องการการสนับสนุนเป็นพิเศษ เช่น กลุ่มคนเปราะบาง คนไร้บ้าน (Homeless) ผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก โดยทุกอย่างยังต้องอยู่บนพื้นฐานความเท่าเทียม (Equality)

ความท้าทายใหม่ที่อาจเผชิญในอนาคต

ปัจจุบันพอเห็นเค้าลางของการก่อตัวของความท้าทายใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต ได้แก่ การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ (Climate Change) และ การอพยพ (Immigration) เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นตัวผลักดันให้รัฐต้องมีการกำหนดนโยบายและสวัสดิการใหม่เพื่อตอบโจทย์ความต้องการตามสถานการณ์ที่อาจจะเกิดขึ้นจากภัยธรรมชาติ เช่น น้ำท่วม การขาดแคลนอาหาร โดยการวางนโยบายและจัดสรรสวัสดิการในอนาคตอาจต้องเน้นทั้งเรื่องสังคมและการบรรเทาความเดือดร้อนจากสภาพอากาศ (Climate Mitigation) อีกทั้ง การกลายเป็นประเทศรัฐสวัสดิการอาจต้องรับมือกับจำนวนผู้อพยพ (Immigrants) ที่มากขึ้น ซึ่งคนกลุ่มนี้มีแนวโน้มขยายขนาดใหญ่ขึ้น เนื่องจากการลี้ภัย และการย้ายถิ่นฐาน ทำให้กลายมาเป็นอีกหนึ่งความท้าทายที่รัฐจะต้องรับมือและใช้ความถี่ถ้วนในการตัดสินใจเรื่องสวัสดิการ การให้ความสนับสนุนทางการเงินและที่อยู่อาศัย เพื่อความอยู่รอดของรัฐและประเทศ

การมีระบบสวัสดิการและโครงสร้างที่เอื้อต่อการดำรงชีวิตอย่างมีความสุขเป็นสิ่งที่ผู้คนส่วนมากใฝ่ฝันและพยายามผลักดันประเทศเพื่อไปให้ถึง แต่ในระหว่างทางเป็นที่แน่นอนว่าจะต้องพบเจอกับความท้าทายจากปรากฎการณ์ต่าง ๆ ทั้งระดับประเทศและระดับโลกที่เข้ามามีผลต่อการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อรองรับระบบบริหารจัดการที่เอื้อต่อการมีสวัสดิการที่ครอบคลุมตอบโจทย์คนทุกกลุ่มในสังคม นอกจากรัฐจะต้องปรับมุมมองให้ประชากรเป็นศูนย์กลางแล้ว ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากหลากหลายภาคส่วนในประเทศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainability) ซึ่งความท้าทายที่กล่าวอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของสิ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ในอนาคตเท่านั้น ทำให้การเป็นประเทศสวัสดิการไม่เพียงแต่มีระบบการจัดการที่ดี แต่ยังต้องมีความยืดหยุ่น เพื่อที่จะสามารถปรับตัวและพร้อมเปลี่ยนแปลงให้ทันกับโลกที่มีความผันผวนสูง (VUCA World) อีกด้วย

………………………

เรียบเรียงโดย: จุฑามาศ เฮ่งพก

………………………

References

มาณริกา จันทาโภ. ความอุ่นใจในชีวิตกับรัฐสวัสดิการแบบสวีเดน. (2563) จาก https://www.senate.go.th/view/1/Digital_media_info/digital_info/5903/TH-TH

พภัสสรณ์ วรภัทร์ถิระกุล. การบริหารจัดการภาครัฐไทยภายใต้ระบบรัฐสวัสดิการ. (2017)  

ปรินดา ตาสี. รัฐสวัสดิการ : ความเท่าเทียมกันของประชาชน. (2552) จาก https://bit.ly/41t8W54

The Nordic Model. The Council of Nordic Trade Unions (NFS). จาก  https://nfs.net/en/what-we-do/the-nordic-region/the-nordic-model/

Steffen Torp, and Jon Reiersen.  Globalization, Work, and Health: A Nordic Perspective. (2020) จาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC7588888/

Dheeraj Vaidya. Nordic Model. จาก  https://www.wallstreetmojo.com/nordic-model/

Anne Marie McGauran. Challenges Facing the Welfare State. (2020) จาก http://files.nesc.ie/nesc_background_papers/151_background_paper_9.pdf