ยุทธศาสตร์การใช้ประโยชน์จาก AI ที่น่าสนใจในต่างประเทศ

ในบทความสัปดาห์ก่อน เราได้กล่าวถึงความสำคัญ และบทบาทของปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทั่วโลก และได้ศึกษาถึงยุทธศาสตร์ ในการรับมือกับ AI ของหลายประเทศว่ามีแนวทางร่วมที่คล้ายคลึงกันอย่างไร และสำหรับบทความนี้จะได้กล่าวถึงการวางยุทธศาสตร์เพื่อใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ที่มุ่งเป้าเฉพาะและแตกต่างกันไปตามบริบทของแต่ละประเทศอย่างน่าสนใจ ดังต่อไปนี้

ยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าเฉพาะและชัดเจนในการใช้ประโยชน์จาก AI

จากข้างต้นจะเห็นได้ว่าแผนปฏิบัติการและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศส่วนมากมีแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากรสายเทคโนโลยีและการส่งเสริมด้านการวิจัยและนวัตกรรม แต่นอกจากแนวทางเหล่านี้แล้ว อีกหลายประเทศก็ได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าเฉพาะและชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI กล่าวคือ มีการวิเคราะห์ถึงบริบทของประเทศตนเอง ทั้งจุดอ่อน จุดแข็งและปัญหาของประเทศ ว่ามีจุดใดที่เทคโนโลยี AI สามารถช่วยพัฒนาจากที่ดีอยู่แล้วให้ดีขึ้นไปอีกและปัญหาในจุดไหนที่ AI สามารถแก้ไขได้ดีกว่าการใช้เทคโนโลยีอื่นหรือวิธีการแก้ปัญหาแบบอื่น ซึ่งยุทธศาสตร์เช่นนี้จะเห็นได้ชัดเจนในแผนยุทธศาสตร์ของประเทศออสเตรเลียและญี่ปุ่น

ภายใต้แผนนำทางด้าน AI ของประเทศออสเตรเลีย ได้มีการกำหนดพันธกิจว่าส่วนหนึ่งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI จะต้องเป็นไปในลักษณะที่ตอบโจทย์ต่อปัญหาและความท้าทายที่ประเทศกำลังเผชิญ ซึ่งแผนนำทางได้ระบุถึง 3 ด้านสำคัญที่มีศักยภาพเหมาะสมต่อการนำ AI มาใช้เพื่อพัฒนาเพิ่มมูลค่า รวมถึงแก้ปัญหาภายในอุตสาหกรรม/ภาคส่วนนั้น ๆ ได้แก่

  • ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม – นำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เป็นการแก้ปัญหาด้านทรัพยากรธรรมชาติที่เสื่อมโทรมและลดน้อยลง รวมถึงเพิ่มผลิตผลในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เช่น อุตสาหกรรมการเกษตร ประมง และป่าไม้ เป็นต้น
  • สุขภาพและการเข้าสูงสังคมผู้สูงอายุ – เช่นเดียวกับหลายประเทศทั่วโลก ออสเตรเลียกำลังเผชิญกับปัญหาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ทั้งการขาดแคลนแรงงาน การขาดแคลนบุคลากรด้านการแพทย์ และภาระค่าใช้จ่ายในการดูแลผู้สูงอายุที่ประชากรวัยทำงานและรัฐบาลต้องแบกรับ ซึ่งแผนนำทางด้าน AI ของออสเตรเลียได้วางยุทธศาสตร์ให้มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในระบบสาธารณสุข เพื่อลดต้นทุนด้านการแพทย์ในการดูแลรักษาผู้สูงอายุและแบ่งเบางานของบุคลากรทางการแพทย์ อีกทั้งยังคาดว่าเทคโนโลยี AI จะช่วยทำให้ผู้สูงอายุเข้าถึงระบบสาธารณสุขได้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้น
  • โครงสร้างพื้นฐานและเมืองอัจฉริยะ – เป็นการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากร เพิ่มความปลอดภัยและอำนวยความสะดวกสบายในการใช้ชีวิตประจำวันด้วยเทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีอัจฉริยะ

ซึ่งประเทศออสเตรเลียคาดหวังว่ายุทธศาสตร์การพัฒนา AI ในอุตสาหกรรมเหล่านี้จะไม่เพียงแต่แก้ปัญหาภายในประเทศได้เท่านั้น แต่จะเป็นเทคโนโลยีต้นแบบและแนวทางการแก้ปัญหาที่ออสเตรเลียจะสามารถส่งออกให้แก่ประเทศอื่น ๆ ได้ต่อไป

อีกตัวอย่างที่น่าสนใจคือประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคล้ายคลึงกับประเทศออสเตรเลียคือ นอกจากจะวางแผนให้มีการนำ AI มาใช้ในชีวิตประจำวันอย่างรอบด้านแล้ว ญี่ปุ่นยังได้กำหนด 3 ด้านที่จะนำเทคโนโลยี AI มาใช้พัฒนาขับเคลื่อนเป็นพิเศษ โดยมีเป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาด้านคุณภาพชีวิตและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ดังนี้

  • การเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) – คือการนำเทคโนโลยี AI มาใช้เพื่อเพิ่มคุณภาพในการผลิตสินค้าและบริการ รวมถึงเพิ่มผลิตภาพและปริมาณการผลิต อันเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานในอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งแผนยุทธศาสตร์ของประเทศญี่ปุ่นมุ่งจะนำ AI ไปใช้ในการเพิ่มผลิตภาพในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ และสร้างอุตสาหกรรมที่เน้นการสร้างคุณค่าด้วยเทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์
  • การเดินทางและการคมนาคมขนส่ง (Mobility) – เนื่องจากประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศผู้นำในอุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ ดังนั้น หนึ่งในด้านที่แผนยุทธศาสตร์ AI ให้ความสำคัญจึงเป็นด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมยานยนต์และการขนส่ง โดยได้วางแผนนำเทคโนโลยี AI มาประยุกต์ใช้ร่วมกับยานยนต์ เช่น การนำ AI มาเป็นผู้ช่วยคนขับ ไม่เพียงแค่ในรูปแบบ GPS นำทางเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการวิเคราะห์การจราจรและการเลือกเส้นทางที่ดีที่สุด นอกจากนี้ยังมีนโยบายมุ่งพัฒนารถยนต์ไร้คนขับและระบบขนส่งสาธารณะอัตโนมัติ และนอกจากด้านยานยนต์แล้ว ยุทธศาสตร์ในด้านนี้ของประเทศญี่ปุ่นยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยีการทำงานทางไกลและเทคโนโลยีโลกเสมือนเพื่อส่งเสริมและสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวด้วยการท่องเที่ยวเสมือนจริง (Virtual Tourism)
  • ระบบสาธารณสุขและสวัสดิการ – เช่นเดียวกับประเทศออสเตรเลีย ประเทศญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โดยประเทศญี่ปุ่นเป็นหนึ่งในประเทศที่มีอัตราส่วนของผู้สูงอายุสูงที่สุดในโลก ภายในปี 2040 ญี่ปุ่นจะมีประชากรสูงอายุกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของประชากรทั้งหมด ดังนั้นไม่แปลกเลยที่ระบบสาธารณสุขจึงเป็นเรื่องที่สำคัญและรัฐบาลให้ความสนใจอย่างมากในการพัฒนา โดยได้วางยุทธศาสตร์นำเทคโนโลยี AI มาเพิ่มประสิทธิภาพให้แก่การให้บริการสาธารณสุข ตัวอย่างเช่น ระบบตรวจสุขภาพออนไลน์ด้วย AI, การนำระบบตรวจจับสัญญาณ (Sensor) มาช่วยพยาบาลและเจ้าหน้าที่ในการดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล, การใช้ AI ช่วยในการผ่าตัด ไปจนถึงเทคโนโลยี AI ในขั้นสูง เช่น หุ่นยนต์ขนาดจิ๋ว (Nanorobot) ในร่างกายมนุษย์ที่คอยตรวจจับและค้นหาอาการเริ่มต้นของโรค และหุ่นยนต์พยาบาลประจำบ้าน เป็นต้น ดังแผนภาพต่อไปนี้

ภาพจาก Sertis

อีกประเด็นที่สำคัญในการวางยุทธศาสตร์คือ การมองปัญหาที่จะเกิดขึ้นได้อนาคตหรือในกระบวนการดำเนินการตามแผนปฏิบัติการ/แผนยุทธศาสตร์ และให้ความสำคัญกับการป้องกันปัญหา/หาแนวทางการแก้ไขปัญหานั้น ๆ เช่น ในแผนของประเทศเกาหลีใต้ ได้เล็งเห็นว่าการนำ AI มาใช้ (AI Adoption) จะไม่สามารถประสบความสำเร็จได้หากไม่มีความเชื่อมั่นและเชื่อใจจากผู้ใช้ และหากยุทธศาสตร์และนโยบายด้านเทคโนโลยี AI ไม่ยึดตัวผู้ใช้เป็นหลัก (Human-centric) จึงได้กำหนดยุทธศาสตร์ในการสร้าง AI ที่น่าเชื่อถือและได้รับความไว้วางใจจากผู้ใช้ (trustworthy AI) ในแผนยุทธศาสตร์ AI แห่งชาติ ปีค.ศ. 2019 และในปีค.ศ. 2020 รัฐบาลยังได้เผยแพร่แนวทางปฏิบัติจริยธรรมปัญญาประดิษฐ์ (National Guidelines for Artificial Intelligence Ethics) เพื่อส่งเสริมและสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างมีจริยธรรมและสร้างความเชื่อใจระหว่างผู้ใช้และผู้ให้บริการเทคโนโลยี AI รวมถึงออกกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลเพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ประชาชนในการใช้เทคโนโลยี AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องอีกด้วย

เช่นเดียวกัน สหภาพยุโรป (EU) ก็ได้เห็นถึงปัญหาว่าการนำเทคโนโลยี AI มาใช้อย่างแพร่หลายอาจจะต้องชะงักหรือทำได้ไม่เต็มที่ด้วยปัญหาด้านความปลอดภัยของข้อมูล ซึ่งอาจทำให้หลายฝ่ายไม่อนุญาตหรือไม่เต็มใจให้มีการนำข้อมูลของตนไปใช้ จึงได้มีแนวทางว่ากฎหมายด้านการเผยแพร่ของสหภาพยุโรปจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขและเพิ่มเติม

จากแนวทางของประเทศดังกล่าวข้างต้นจะเห็นได้ว่า ยุทธศาสตร์การรับมือกับเทคโนโลยี AI ของแต่ละประเทศนั้นแม้หลายส่วนจะมีความคล้ายคลึงกัน แต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในการวางยุทธศาสตร์ก็คือการคำนึงถึงบริบทของประเทศตนเอง เพื่อให้ยุทธศาสตร์นั้น ๆ สามารถตอบโจทย์และแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจริงได้อย่างเหมาะสม และประเทศเจ้าของยุทธศาสตร์สามารถเก็บเกี่ยวโอกาสและประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ได้มากที่สุด

………………………

เรียบเรียงโดย: สุจารี วัฒนะรัตน์

……………………..

อ้างอิง

CSIRO. (2019). Artificial Intelligence Roadmap. [Online]

Sertis. (2021). Japan’s AI Roadmap: How will the AI world look like in the next 10 years? [Online]

Zaki Khouryyulia and Lesnichayal. (2022). Harnessing trustworthy artificial intelligence: A lesson from Korea. World Bank. [Online]

European Parliament. (2022). The future of AI: the Parliament’s roadmap for the EU.  [Online]