ความสัมพันธ์ในปี 2033 ผ่านสะพานรักดิจิทัล

ปัจจุบัน โลกได้ก้าวเข้าสู่ยุค VUCA World (Volatility – Uncertainty – Complexity – Ambiguity) หรือ “โลกที่มีความผันผวน” ทำให้กระทบต่อรูปแบบการใช้ชีวิตของมนุษย์ในหลากหลายด้าน หนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญที่มาพร้อมกับความไม่แน่นอนคือการเชื่อมโยงทางดิจิทัลอย่างไร้พรมแดน หรือเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตที่ฝังตัวและแทรกซึมเข้าไปในทุกกิจกรรมทางสังคมจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของการใช้ชีวิตประจำวัน และการก้าวกระโดดของอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ เช่น แว่นตา Virtual Reality (VR) เครื่องฉายภาพ 3 มิติ หรือแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ที่ช่วยสร้างสรรค์ประสบการณ์ในการใช้ชีวิตประจำวันของมนุษย์ให้มีความแปลกใหม่จากเดิม ทำให้ทุกวันนี้มนุษย์มีความเชื่อมโยงกับเทคโนโลยีจนไม่สามารถแยกขาดจากกันได้

จากรายงานของ Digital 2022 Global Overview Report พบว่าในระยะเวลาที่ผ่านมาจนถึงปีค.ศ.2022 ผู้คนได้เข้าสู่โลกแห่งอินเตอร์เน็ตเพิ่มมากขึ้นกว่า 192 ล้านคนทั่วโลก ซึ่งใน 4.62 พันล้านคนมีการใช้ Social Media เป็นกิจวัตรประจำวัน ด้วยเหตุผลนี้เอง รูปแบบความสัมพันธ์จึงเปลี่ยนแปลงจากการพบปะกันในชีวิตจริงไปสู่การพบปะกันภายในโลกเสมือน (Metaverse) ที่มีเทคโนโลยีเป็นสื่อกลางในการปฏิสัมพันธ์ (Digital Boundaries) ซึ่งความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นอาจพัฒนารูปแบบจากที่เคยเรียบง่ายและจับต้องได้ไปสู่ความสัมพันธ์รูปแบบใหม่ที่มีความรวดเร็ว ตื่นเต้น ไม่แน่นอน โดยในปี 2033 หรืออีก 10 ปีข้างหน้า ความสัมพันธ์ของมนุษย์อาจมีเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดรูปแบบในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันให้มีความรวดเร็ว ง่ายดาย หรืออาจพลิกโฉมไปสู่ความสัมพันธ์แบบใหม่ที่แตกต่างจากที่เคยเป็นมาอย่างสิ้นเชิง

รักกันได้.. ไม่ต้องเจอตัวจริง (Virtual Reality Relationship)
การเติบโตของสังคมเมือง (Urbanization) จากการพัฒนาทางเศรษฐกิจทำให้สังคมมีการเชื่อมโยงกันน้อยลงในทางกายภาพ เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินชีวิต และเกิดการเคลื่อนย้ายถิ่นฐาน (Relocate) ไปอยู่ในพื้นที่ห่างไกล หรือเกิดการทำงานข้ามพื้นที่กันมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม การเติบโตของเศรษฐกิจนั้นได้มาพร้อมกับการเติบโตของเทคโนโลยีดิจิทัลที่ช่วยเชื่อมต่อและย่นระยะทางให้ผู้คนได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น โดยในปี 2033 รูปแบบความสัมพันธ์ทางไกล (Long Distance Relationship) จะไม่เป็นปัญหาสำคัญอีกต่อไป เนื่องจากคู่รักจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อลดอุปสรรคทางกายภาพ (Physical Barriers) ลง ได้แก่ การใช้แว่นตา Virtual Reality (VR) ที่ถูกสวมใส่จากคนทั้ง 2 คนจะช่วยในการฉายภาพจำลองขึ้น โดยจะช่วยสร้างพื้นที่ให้คู่รักได้มีกิจกรรมร่วมกันเสมือนอยู่ด้วยกันในโลกความจริง โดยสามารถรับรู้ได้ทั้ง รส กลิ่น เสียง และสัมผัส ทำให้ความสัมพันธ์มีความสมบูรณ์มากขึ้น

ดังนั้น ไม่ว่าในอนาคตอีก 10 ปีข้างหน้า สังคมจะมีการปฏิสัมพันธ์ทางกายภาพลดลงกันมากแค่ไหนแต่ผู้คนก็ยังสามารถเชื่อมโยงกันได้ผ่านอุปกรณ์อัจฉริยะ (Smart Device) ที่ช่วยกระชับความสัมพันธ์และยึดมนุษย์ให้เข้าด้วยกันท่ามกลางความหละหลวมของการเชื่อมโยงทางสังคม ผ่านการปฏิสัมพันธ์และมีกิจกรรมร่วมกันผ่านภาพเสมือนจริง โดยทุกกิจกรรมและการสนทนานั้นมีความปลอดภัย (Secure) และเป็นส่วนตัว (Private) สูง นอกจากนี้ ในกลุ่มคนที่ต้องการสร้างความสัมพันธ์ก็สามารถใช้ VR ในการออกเดตกับคนอื่น หรือพูดคุยเพื่อพัฒนาทักษะการเข้าสังคม รวมถึงสร้างชุมชนโดยมีปาร์ตี้ร่วมกันผ่านพื้นที่ในโลกเสมือนจริง (Metaverse) ได้ ซึ่งเป็นการสร้างความบันเทิง ความพึงพอใจ และประสบการณ์เชิงบวกทางสังคมจากเทคโนโลยีดิจิทัล

รักในโลกเสมือน (Falling in love in the Metaverse)
การพัฒนาของโลกเสมือนจริง (Metaverse) จากแอปพลิเคชัน หรือจากเกมส์ได้เปิดโอกาสให้ผู้คนสร้างตัวตนใหม่ (Avatar) และใช้ชีวิตในโลกเสมือนนั้นได้ตามต้องการ อีกทั้งการผจญภัยในโลกเสมือนยังมีพื้นที่สำหรับการแลกเปลี่ยนความรู้สึกและพูดคุยกันได้อย่างกว้างขวาง ทำให้สามารถพัฒนาเป็นความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้ง (Emotional Bonds) ต่อกันได้ ส่งผลให้ในอนาคตจะเกิดความรักในโลกเสมือนจริงเพิ่มมากขึ้น หรืออาจเปลี่ยนแปลงจากการมีรักเดียว ไปสู่การแยกความรักออกเป็นหลายส่วนเพื่อใช้ในโลกเสมือนแต่ละใบ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งความท้าทายในอนาคตของชีวิตคู่ที่ต้องพบเจอกับความสัมพันธ์ที่ไม่มั่นคงหรือแปรปรวนเพราะเทคโนโลยี

โดยปัจจุบัน Online Dating Apps เช่น Tinder ได้มีการพยายามวางแผนพัฒนาไปสู่ Metaverse-Dating ที่จะช่วยสร้างชุมชนให้คนมีปฏิสัมพันธ์กันเสมือนชีวิตจริง (Real Times) เพื่อเสริมสร้างประสบการณ์ความสนุกทั้งด้านการตอบโต้และด้านอื่น ๆ ตามความต้องการของผู้ใช้งาน พอคาดการณ์ได้ว่าในอนาคตผู้คนมีแนวโน้มตกหลุมรักกันผ่านโลกเสมือนและตัวตนที่ถูกสร้างขึ้นในโลกออนไลน์มากขึ้น เพราะมีความรวดเร็วในการสร้างปฏิสัมพันธ์ การมีโอกาสได้เลือกตัวตน (Avatar) และลักษณะบุคลิก (Character) ของคนใน Community ที่ตนเองรู้สึกสนใจได้อย่างไม่จำกัดและมีความเป็นส่วนตัว หรือหากไม่พอใจก็สามารถทอดทิ้งกันได้อย่างง่ายดาย (Ghosting) โดยไม่รู้สึกถึงผลเสียเท่าการปฏิเสธในชีวิตจริง อีกทั้ง การไม่ต้องการเวลาที่ยาวนานในการทำความรู้จัก อาจเกิดการพูดคุยอย่างผิวเผิน ขาดความลึกซึ้ง มีแนวโน้มที่จะเพิ่มอัตราการเกิดความสัมพันธ์แบบไม่ผูกมัด (Casual Relationship) มากขึ้น โดยท้ายที่สุด Metaverse นั้นจะกลายมาเป็นสะพานแห่งอนาคตที่สำคัญในการเปิดโอกาสให้ผู้คนเลือกตกหลุมคนที่ถูกใจผ่านพื้นที่ในจินตนาการได้อย่างไร้พรมแดน ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดของโลก โดยไม่จำเป็นต้องพบปะกันในชีวิตจริง แต่สามารถแสดงความรักต่อกันผ่านแอปพลิเคชันได้

รักข้ามมนุษย์ (Robotic-Romance)
อีก 10 ปีข้างหน้า เป็นที่น่าคิดว่าผู้คนอาจมีการพัฒนาความสัมพันธ์เชิงรักใคร่กับโปรแกรมหรือหุ่นยนต์ (Human-Machine Relationships) ผ่านการผสมผสานระหว่างโลกความจริงกับโลกเสมือน (Augmented Reality – AR) จากการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีที่ถูกพัฒนาเพื่อตอบสนองสังคมที่ขาดการเชื่อมโยงกันในชีวิตจริง ทำให้เกิดแอปพลิเคชันและระบบปฏิบัติการอัจฉริยะที่มีหุ่นยนต์ (AI) หรือภาพเสมือนจริง (Hologram) ปรากฎออกมาและสามารถพัฒนาความสัมพันธ์อยู่ร่วมกับเจ้าของได้ ผ่านเสียง และการแสดงภาพเหมือน

AI ดังกล่าวจะกลายมาเป็นทั้งผู้ช่วยเหลือในชีวิตประจำวันและเพื่อน ดังนั้น การขวนขวายปฏิสัมพันธ์กับมนุษย์ด้วยกันเองอาจไม่เป็นที่น่าสนใจอีกต่อไป ในเมื่อแอปพลิเคชันสามารถสร้างความสัมพันธ์ รวมถึงสถานการณ์ต่าง ๆ ในแบบที่เราต้องการขึ้นมาได้อย่างไม่มีข้อแม้ โดยในอีก 10 ปีข้างหน้า ระบบปฏิบัติการเหล่านี้จะออกแบบมาให้มนุษย์สามารถร่วมทำกิจกรรมกับหุ่นยนต์ได้เสมือนอยู่ด้วยกันจริง ๆ ผ่านการฉายภาพจากหน้าจอ หรือพูดคุยกันได้ตลอดเวลาจากแอปพลิเคชัน ทำให้เทคโนโลยีกลายเป็นแหล่งสนับสนุนทางอารมณ์ (Emotional Support) ที่สำคัญของผู้คน การเข้ามาแทรกซึมเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำของระบบปฏิบัติการ หรือ AI ที่ถูกออกแบบให้มีหน้าตาคล้ายกับมนุษย์ ทำให้มนุษย์เกิดความผูกพันที่ได้แลกเปลี่ยนช่วงเวลาในชีวิตประจำวันร่วมกัน ท้ายที่สุดการมีชีวิตคู่ในปี 2033 จึงอาจไม่ได้ถูกกำหนดแค่กรอบความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์-มนุษย์ แต่เกิดเป็นความสัมพันธ์เชิงโรแมนติกระหว่างมนุษย์-ระบบปฏิบัติการแทน

จากตัวอย่างรูปแบบความสัมพันธ์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตข้างต้น แสดงให้เห็นถึงผลกระทบของดิจิทัลที่มีผลต่อชีวิตของมนุษย์ในทุกรายละเอียดตั้งแต่โครงสร้างสังคมขนาดใหญ่ จนถึงเรื่องปลีกย่อยเล็ก ๆ เช่น ความรักและความสัมพันธ์ ซึ่งในปี 2033 เทคโนโลยีดิจิทัลจะเข้ามาเป็นสะพานหลักในการเชื่อมต่อความรักของผู้คนให้เชื่อมติดกันง่ายขึ้น ถึงแม้การขยายตัวของสังคมและการก้าวกระโดดของเทคโนโลยีจะทำให้เกิดความเหงาแต่เทคโนโลยีจะช่วยถมช่องว่างเหล่านั้นด้วยการพัฒนาให้ตอบสนองทางอารมณ์ เป็นพื้นที่สนับสนุนความคิดสร้างสรรค์ และสร้างประสบการณ์ทางสังคมให้มีความสมจริง ง่ายดาย รวดเร็วกว่าในปัจจุบัน หรือแม้แต่การเข้าครอบครองบทบาทการเป็นแหล่งสนับสนุนอารมณ์ เฉกเช่นเดียวกับเพื่อน คนรัก และครอบครัว
……………….
เรียบเรียงโดย: จุฑามาศ เฮ่งพก
……………….
อ้างอิง

Simon Kemp. Digital 2022: Global overview report. (2022). [Online]

Nathan Grayson. Long-Distance Relationships Suck, But VR’s Made It Easier. (2016) [Online]

Praveen S. Future of digital relationships. (2022) [Online]

Garey Godson. Virtual Love: Social Media bringing us closer or apart? (2019) [Online]

Sabrina A. Huang and Jeremy Bailenson . Close Relationships and Virtual Reality. (2019)