ยุทธศาสตร์รับมือกับเอไอที่น่าสนใจในต่างประเทศ

ในปัจจุบัน เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์หรือ AI (Artificial Intelligence) กำลังเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้นเรื่อย ๆ ในชีวิตมนุษย์ ด้วยความสามารถในการประมวลผล การเรียนรู้ การใช้เหตุผลและการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งในบางครั้งซับซ้อนเกินกว่าที่มนุษย์จะสามารถรับมือได้ ทำให้มีการนำ AI มาใช้ทั้งในชีวิตประจำวัน ในธุรกิจและในระดับอุตสาหกรรม ซึ่งการนำ AI มาใช้นี้ช่วยเพิ่มความสะดวกในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนและเพิ่มรายได้มหาศาลให้แก่ธุรกิจนั้น ๆ ที่นำ AI มาใช้ในกระบวนการทำงานและการผลิต เห็นได้จากผลสำรวจของบริษัท McKinsey ในปีค.ศ. 2019 พบว่า กว่า 44% ของบริษัทที่ได้นำระบบ AI ไปบูรณาการและปรับใช้ สามารถลดต้นทุนในกระบวนการทำงานลงไปได้ ทำให้หลายองค์กรมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว และผู้บริหารจำนวนมากยังเห็นตรงกันว่าการนำ AI มาใช้ทำให้กระบวนการดำเนินงานของบริษัทมีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ การนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในองค์กรยังมีแนวโน้มที่จะเพิ่มสูงขึ้นไปอีก โดยอิงจากสถิติปีค.ศ. 2015 และ 2019 ซึ่งแสดงให้เห็นว่าอัตราขององค์กรที่นำเทคโนโลยี AI หรือมีแผนจะนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในธุรกิจของตนนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 270% ภายในระยะเวลาแค่ 4 ปีเท่านั้น

นอกจากนี้ในชีวิตประจำวัน เรายังพบเจอเทคโนโลยี AI ได้ทุกวันในหลายรูปแบบที่หลายคนอาจจะคุ้นชินจนไม่ทันนึกถึง เช่น การใช้ระบบค้นหาข้อมูล (Search Engine) รวมไปถึงระบบการแปลภาษาอัตโนมัติด้วย Google Translate, ระบบอัตโนมัติและอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ ทั้ง Smart TV, Smart Home รวมไปจนถึงโซเชียลมีเดียและแพลตฟอร์มความบันเทิง เช่น Netflix ซึ่งแพลตฟอร์มเหล่านี้ล้วนใช้อัลกอริทึมที่ผ่านการประมวลผลด้วย AI ในการคัดกรองและแนะนำเนื้อหาที่น่าสนใจและเหมาะสมกับผู้ใช้คนนั้นโดยเฉพาะ (Personalization)

จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี AI นั้นมีความสำคัญและมีผลกระทบอย่างสูงต่อหลากหลายมิติทั้งชีวิต เศรษฐกิจและสังคม จึงมีความจำเป็นที่ต้องมีการวางแผนและยุทธศาสตร์ในการรับมือกับเทคโนโลยี AI ซึ่งมีศักยภาพและพลังในการเปลี่ยนแปลงโลกและวิถีชีวิตของเราไปอย่างพลิกผัน เพื่อให้เราสามารถเก็บเกี่ยวประโยชน์และโอกาสจากเทคโนโลยี AI ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งหลายประเทศทั่วโลกก็ได้เริ่มมีการทยอยออกแผนนำทาง (Roadmap) หรือแผนยุทธศาสตร์ด้านปัญญาประดิษฐ์ระดับชาติในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ เช่น ประเทศไทยเองก็มีการออกแผนปฏิบัติการด้านปัญญาประดิษฐ์แห่งชาติเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (พ.ศ. 2565 – 2570) หรือ AI Thailand ซึ่งมีเป้าหมายมุ่งขับเคลื่อนให้ประเทศไทยเกิดระบบนิเวศนวัตกรรมที่มีการนำเทคโนโลยี AI มาใช้ในการวิจัยและพัฒนาอย่างรอบด้าน รวมถึงเชื่อมโยงแบบบูรณาการและประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในการยกระดับเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตของประชาชนภายในปี พ.ศ. 2570

โดยแผนปฏิบัติการของประเทศไทยมี 5 ยุทธศาสตร์หลัก ๆ คือ 1) เตรียมประเทศให้พร้อมสำหรับการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI 2) พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบเพื่อสนับสนุน AI 3) เพิ่มศักยภาพบุคลากรและการศึกษาด้าน AI 4) พัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสนับสนุนเทคโนโลยี AI 5) ส่งเสริมให้เกิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยี AI ในภาครัฐและเอกชน ทั้งนี้ในแผนปฏิบัติการยังได้มีการแบ่งระยะในการพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายออกเป็น 2 ระยะ กล่าวคือ ในระยะหนึ่งปีแรก จะมุ่งเน้นการใช้เทคโนโลยี AI พัฒนาอุตสาหกรรมในกลุ่มการเกษตร, การแพทย์, และการให้บริการของภาครัฐ ส่วนในระยะที่ 2 จะมุ่งพัฒนาในหลายอุตสาหกรรมมากขึ้น ทั้งอุตสาหกรรมการขนส่ง, การท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์, พลังงาน, การผลิต, การศึกษา, และการเงิน

ที่น่าสนใจคือ ประเทศไทยได้กำหนดให้เศรษฐกิจสร้างสรรค์และการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในกลุ่มอุตสาหกรรมหลักที่สำคัญควรแก่การใช้เทคโนโลยี AI เข้าไปพัฒนาเพิ่มมูลค่าด้วย ซึ่งเป็นการวางยุทธศาสตร์โดยคำนึงถึงบริบทและจุดแข็งของประเทศ และจุดหนึ่งที่แตกต่างไปจากแผนยุทธศาสตร์ของประเทศอื่น ๆ

ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาแผนปฏิบัติการด้าน AI ของประเทศไทยแล้ว พบว่ามีการวางแผนการพัฒนาในหลายด้านที่สอดคล้องกับหลายประเทศทั้งในภูมิภาค ASEAN ด้วยกันเองและประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ในขณะเดียวกัน ประเทศอื่น ๆ ก็มียุทธศาสตร์ที่โดดเด่นและแตกต่างกันไปตามบริบทของประเทศตนเองอย่างน่าสนใจเช่นกัน โดยมีจุดต่างและจุดร่วมที่น่าสนใจ ดังนี้

ยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจโดยใช้ประโยชน์จาก AI ที่ประเทศส่วนใหญ่มุ่งเน้น

จุดร่วมสำคัญที่อย่างหนึ่งของแผนปฏิบัติการหรือแผนยุทธศาสตร์ด้าน AI ที่ประเทศไทยและประเทศอื่น ๆ ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีร่วมกันคือ ความต้องการในการใช้ AI เป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เพื่อให้ประเทศตนกลายเป็นประเทศรายได้สูง ทัดเทียมประเทศพัฒนาแล้ว เช่น ประเทศฟิลิปปินส์ตั้งเป้าที่จะใช้เทคโนโลยี AI สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อมภายในประเทศเพื่อเพิ่มผลิตภาพและประสิทธิภาพของธุรกิจรายย่อยในประเทศ โดยคาดว่าการนำ AI มาใช้จะสามารถช่วยเพิ่ม GDP ของประเทศได้ถึง 12 เปอร์เซ็นต์ เช่นเดียวกับประเทศเวียดนามที่ระบุในแผนแม่บทเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ว่าประเทศเวียดนามจะต้องพัฒนาไปเป็นประเทศรายได้ปานกลางในระดับสูง (Upper Middle-Income) ภายในปีค.ศ. 2030 และมีอุตสาหกรรมเทคโนโลยี/เทคโนโลยี AI เป็นอุตสาหกรรมขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ 

ประเทศมาเลเซียก็มีการระบุเป้าหมายที่คล้ายคลึงกับประเทศไทยเช่นกัน โดยในแผนปฏิบัติการ AI-Rmap ได้ระบุว่าแผนนี้มีเป้าหมายเพื่อสร้างระบบนิเวศเทคโนโลยี AI ที่ยั่งยืนและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้มาเลเซียสามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ในการขับเคลื่อนให้ประเทศเป็นประเทศแห่งเทคโนโลยีชั้นสูงและกลายเป็นประเทศรายได้สูงในที่สุด

กล่าวได้ว่าประเทศกำลังพัฒนาในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ต่างมุ่งหวังให้เทคโนโลยี AI เป็นหนึ่งในตัวขับเคลื่อนสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศในภาพรวมให้เติบโต เพิ่มรายได้มวลรวมของประเทศและยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในประเทศในที่สุด ซึ่งหลายประเทศมียุทธศาสตร์ในการขับเคลื่อนที่มีจุดร่วมคล้ายกัน เช่น

  • มุ่งเน้นการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในตลาดแรงงาน

การพัฒนาทักษะของบุคลากรในตลาดแรงงานให้มีทักษะและความรู้ด้านเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI คิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงนำเทคโนโลยีมาใช้ในการเพิ่มมูลค่าให้แก่ธุรกิจ สินค้าและบริการต่าง ๆ ได้ ตัวอย่างเช่น ประเทศสิงคโปร์ที่วางยุทธศาสตร์ในการพัฒนาบุคลากรในสายงานเทคโนโลยี เช่น นักวิจัย นักพัฒนาซอฟต์แวร์ วิศวกร ให้มีจำนวนบุคลากรที่มีความสามารถโดดเด่นในสายงานเหล่านี้มากขึ้น รวมถึงวางแผนจัดการอบรม (training) ให้กับบุคลากรในสายงานต่าง ๆ เริ่มต้นที่ 25,000 คนให้มีความรู้พื้นฐานด้านการเขียนโค้ดสำหรับ AI และการนำเทคโนโลยี AI ไปใช้ในเชิงปฏิบัติ  

อีกตัวอย่างที่คล้ายกันก็คือแผนด้าน AI ของประเทศฟิลิปปินส์ซึ่งหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนานั้นคือ การพัฒนาบุคลากรที่มีความสามารถด้าน AI เพื่ออนาคตและการ Upskill/Reskill ของแรงงานที่กำลังอยู่ในตลาดแรงงานปัจจุบัน ด้วยการปฏิรูปการศึกษา เพิ่มการสอนเรื่องทักษะความเข้าใจและความสามารถในการใช้เทคโนโลยี (Digital Literacy) ให้แก่ผู้เรียนทุกช่วงชั้น เพิ่มจำนวนผู้สอนในเรื่อง AI และ Data Science รวมไปจนถึงเพิ่มวิชาเรียนด้าน AI และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องให้เป็นวิชาเรียนพื้นฐานในระดับมหาวิทยาลัย และช่วยสนับสนุนคอร์ส/สาขาวิชาเรียนด้านเทคโนโลยี AI ให้เพิ่มมากขึ้น ส่วนในด้านการ Upskill/Reskill นั้น รัฐบาลได้ออกนโยบายสร้างแรงจูงใจให้แก่ธุรกิจต่าง ๆ และตัวแรงงานเองด้วยการให้เงินสนับสนุนการเรียนเพื่อพัฒนาทักษะในการทำงาน และร่วมกับภาคธุรกิจในการพัฒนาโปรแกรม Upskill/Reskill ที่สอนทักษะที่เหมาะสมและตรงตามความต้องการของธุรกิจในอุตสาหกรรมนั้น ๆ โดยเฉพาะ

  • พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลเพื่อรองรับการใช้เทคโนโลยี AI ในวงกว้าง

โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลนับเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ช่วยให้ประชากรจำนวนมากสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีได้ในวงกว้าง เช่นเดียวกัน การทำให้คนส่วนมากสามารถเข้าถึงและใช้เทคโนโลยี AI ได้มากขึ้นในชีวิตประจำวัน จำเป็นต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการทำงานของเทคโนโลยี AI เช่น ระบบประมวลผล Cloud Computing, เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตที่มีความรวดเร็วและครอบคลุมในทุกพื้นที่, เทคโนโลยี Big Data เป็นต้น ซึ่งหลายประเทศก็ได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานเหล่านี้และยกให้เป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์หลักในแผนปฏิบัติการด้านเทคโนโลยี AI ของต้น ตัวอย่างที่น่าสนใจหนึ่งคือประเทศอินเดีย ซึ่งได้ระบุในแผนยุทธศาสตร์ระดับชาติด้าน AI (National Strategy for Artificial) ถึงแผนในการสร้างแพลตฟอร์มประมวลผลกลางของประเทศ เพื่อรวมโครงสร้างพื้นฐานของระบบ Cloud ที่มีอยู่แล้วเข้าด้วยกัน เพื่อประสิทธิภาพในการประมวลผลที่ทรงพลังยิ่งขึ้นและเข้าถึงได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้น ภายในแผนยุทธศาสตร์ยังได้กล่าวถึงการสร้างแพลตฟอร์มสำหรับเผยแพร่ฐานข้อมูลของรัฐบาล เพื่อให้ภาคส่วนต่าง ๆ สามารถนำข้อมูลไปใช้ในการพัฒนาเทคโนโลยี AI ของตนได้

  • ส่งเสริมด้านการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยี AI โดยเฉพาะในส่วนของความร่วมมือด้านการวิจัยในระดับนานาชาติ

ความร่วมมือระหว่างประเทศในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี AI เป็นอีกยุทศาสตร์หนึ่งที่มีความสำคัญ เนื่องจากการแลกเปลี่ยนความรู้และเทคโนโลยีจะเป็นการช่วยสร้างระบบนิเวศนวัตกรรมในระดับนานาชาติ ที่สามารถขับเคลื่อนให้เทคโนโลยีสามารถพัฒนาได้อย่างก้าวกระโดด ตัวอย่างของประเทศที่มีการวางยุทธศาสตร์ในด้านนี้ เช่น ประเทศเวียดนามได้ออกยุทธศาสตร์ส่งเสริมความร่วมมือด้านการวิจัยเทคโนโลยี AI ในระดับทวิภาคีและพหุภาคีนานาชาติ ซึ่งรวมไปถึงการแลกเปลี่ยนบุคลากรผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัยและนักศึกษาในสายงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับ AI ผ่านโครงการวิจัยที่ทำร่วมกัน ไปจนถึงโปรแกรมการฝึกงานและการฝึกอบรมต่าง ๆ ที่จัดขึ้นร่วมกันระหว่างประเทศภาคี นอกจากนี้ แผนยุทธศาสตร์ของประเทศเวียดนามยังได้มุ่งดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติเพื่อให้บริษัทเทคโนโลยีขั้นสูงจากต่างประเทศสนใจเข้ามาลงทุนในประเทศเวียดนาม ซึ่งจะนำไปสู่การถ่ายทอดเทคโนโลยีและความรู้ให้แก่แรงงานในประเทศต่อไป หรือประเทศอินเดียที่ต้องการสร้างความร่วมมือด้านเทคโนโลยี AI ระหว่างประเทศด้วยการสร้างองค์การวิจัยร่วมกันในระดับนานาชาติ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับ องค์การวิจัยนิวเคลียร์ยุโรป (CERN) ของประเทศในกลุ่ม EU

จะเห็นได้ว่าแผนปฏิบัติการและแผนยุทธศาสตร์ของประเทศส่วนมากมีแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยี AI ที่คล้ายคลึงกัน ทั้งการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากรสายเทคโนโลยีและการส่งเสริมด้านการวิจัยและนวัตกรรม แต่นอกจากแนวทางเหล่านี้แล้ว อีกหลายประเทศก็ได้มีการวางยุทธศาสตร์ที่มุ่งเป้าเฉพาะและชัดเจนในการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี AI ซึ่งจะได้กล่าวถึงในบทความต่อไป

 

………………………

เรียบเรียงโดย: สุจารี วัฒนะรัตน์

………………………

อ้างอิง

AI GEN. (2021). 10 สถิติของเทคโนโลยี AI ในปี 2021 ที่ธุรกิจต้องรู้. [Online]

ETDA. (2564). ปัญญาประดิษฐ์ในการให้บริการของภาครัฐ. [Online]

Justin Ponti. (2021). The Philippines launches National AI Roadmap. OpenGov. [Online]

Tomoya Onishi. (2021). Vietnam reveals AI strategy as new leaders enter office. Nikkei Asia. [Online]

Vivien Shiao. (2019). Singapore maps out route to becoming AI powerhouse. The Business Times. [Online]

Aditya Singh Chawla. (2018). India’s Artificial Intelligence Roadmap. The CCG Blog. [Online]

Chamber of Commerce and Industry of Vietnam. (2021) National Strategy On R&D and Application of Artificial Intelligence. [Online]