สำรวจจีนกับเส้นทางอนาคตอันยิ่งใหญ่ในปี 2049

การเป็นประเทศมหาอำนาจ ที่ขับเคลื่อนการลงทุน และ เปิดตลาดบริโภคใหม่อย่างต่อเนื่อง ของประเทศจีนจนทำให้ถูกจับตามองโดยนักเศรษฐศาสตร์ นักลงทุน และ ประเทศรอบข้างมานานหลายทศวรรษ นอกเหนือจากโลก ที่กำลังจับตามองประเทศจีน ที่เร่งขยายกำลังในการพัฒนาเรื่อย ๆ เบื้องหลังประเทศจีนเอง ก็กำลังจับตามองโลกและได้สร้างภาพอนาคตที่จีนต้องการเป็นในปีค.ศ. 2049 ตามเป้าหมายความฝันของจีน (Chinese Dream) หรือการเป็นประเทศประชาธิปไตยที่มั่งคั่ง เข้มแข็ง มีก้าวหน้าทางวัฒนธรรม และสวยงาม

ด้วยเป้าหมายนี้ที่เป็นจุดกระตุ้น ทำให้ประเทศจีนมีความพยายามวางแผนพัฒนาประเทศ ผ่านการวางกลยุทธ์และนโยบายที่สอดคล้องกันในทุกภาคส่วน และสร้างแผนเศรษฐกิจระยะยาว เพื่อปูเส้นทางสู่การเป็นประเทศจีนยุคใหม่ ที่เป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจโลกและยกระดับชีวิตให้มีความมั่งคั่ง โดยในปีค.ศ. 2049 หรือภายใน 26 ปีข้างหน้า หากประเทศจีนสามารถเดินทางไปสู่ภาพฝันการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว จะเกิดการเปลี่ยนแปลงมหาศาลในหลายด้าน ทั้งด้านเศรษฐกิจ โครงสร้างการผลิตภายในประเทศ และสังคม

การก้าวสู่บทบาทมหาอำนาจทางเศรษฐกิจอย่างเต็มตัว

การขยายตัวของอุตสาหกรรมประเทศจีนที่เจาะตลาดในหลายประเทศ การเป็นผู้ริเริ่มสินค้าและนวัตกรรมใหม่ ๆ รวมถึงเป็นแหล่งลงทุนทั้งในและนอกประเทศ ทำให้ประเทศจีนมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง โดยจีนมีการคาดการณ์อนาคตทางเศรษฐกิจว่าหากจีนมีการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจเฉลี่ยปีละ 6.5% จีนจะสามารถบรรลุเป้าหมายการเป็นประเทศที่มั่งคั่งได้ ซึ่งในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา (ค.ศ. 2010 – 2018) พบว่า เศรษฐกิจโดยรวมของประเทศจีนเติบโตขึ้นเฉลี่ย 7.4% เป็นสัญญาณบ่งบอกถึงการบรรลุตามแผนประเทศที่ตั้งไว้ได้เป็นอย่างดี รวมถึง กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์ไว้ว่าในปีค.ศ. 2024 ภาวะความเสมอภาคทางการซื้อ (PPP) ของประเทศจีนจะขยายใหญ่ขึ้นอีก 56% หรือ 25,270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใหญ่กว่าประเทศสหรัฐอเมริกา ดังภาพด้านล่าง

ในปีค.ศ. 2049 หรือ 26 ปีข้างหน้า ประเทศจีนจะสามารถฟื้นฟูประเทศและขึ้นเป็นผู้นำทางเศรษฐกิจระดับโลก รวมถึงหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle-Income Trap) เป็นผลจากแผนการพัฒนา “One Belt, One Road (OBOR)” ที่มีการฟื้นฟูเศรษฐกิจตั้งแต่โครงสร้างพื้นฐาน ประชาชนในประเทศจะมีรายได้สูงขึ้นจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและปัญญาประดิษฐ์ (AI) ยกระดับคุณภาพชีวิต โดยประเทศจีนจะเป็นหนึ่งในประเทศพัฒนาแล้วที่มีเสถียรภาพทางการเงินและเศรษฐกิจ เพราะมีการบูรณาการความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนในการสร้างนโยบาย และส่งเสริมความสัมพันธ์ในทุกภาคส่วนของสังคมเพื่อความเข้มแข็งจากภายใน มีตลาดอุตสาหกรรมที่หลากหลายพร้อมต่อการลงทุนอยู่ในทุกส่วนของภูมิภาคในประเทศ ทำให้ในอนาคตประเทศจีนจะมีความสามารถทางการแข่งขันสูงมาก เป็น “เศรษฐกิจใหม่” และขึ้นสู่การตำแหน่งผู้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจหลักในตลาดสินค้าส่งออก การลงทุน และเทคโนโลยีเพื่อการผลิต

การยกระดับเป็นหัวใจหลักในห่วงโซ่การผลิตโลกที่ล้ำสมัย

นอกเหนือจากการขยายตลาดสินค้าและบริการที่มีการลงทุนในหลากหลายประเทศทั่วโลก ประเทศจีนยังมีนโยบายเพื่อยกระดับโครงสร้างการผลิต (Process Upgrading) ภายในประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการเป็นผู้ผลิตสินค้าและบริการ โดยมีการดำเนินงานตามแผนอุตสาหกรรม “Made in China 2025 (MIC2025)” ที่มีเป้าหมายหลักในการวางแผนให้ประเทศจีนยกระดับจากผู้ผลิตธรรมดาสู่การเป็น “หัวใจหลัก” ในห่วงโซ่การผลิตทั่วโลก (Global Manufacturing Value Chain) กล่าวได้อีกนัยคือจีนจะกลายเป็นประเทศที่เป็นผู้สร้างหรือพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ที่ช่วยในการผลิตสินค้าและบริการด้วยตนเองโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาประเทศอื่น แต่จีนจะเป็นฝ่ายดึงดูดให้ประเทศอื่น ๆ เข้ามาพึ่งพาแทน ซึ่งจุดหลักอยู่ที่การให้ความสำคัญกับกำลังการผลิตคนในประเทศ โดยมีเมืองเฉพาะทาง (Supply Chain Cities) ที่เป็นกำลังการผลิตในแต่ละภูมิภาคตามทรัพยากรและความเชี่ยวชาญสำหรับอุตสาหกรรมหลักทั้ง 10 ด้าน ดังภาพต่อไปนี้

จากภาพจะเห็นได้ว่า กระบวนการผลิตส่วนใหญ่มีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เพื่อยกระดับหรือสร้างระบบอุตสาหกรรมที่มีความล้ำสมัย (Smart Industry) โดยมีการทำงานร่วมกันระหว่างภูมิภาคทำให้เกิดการเชื่อมโยงทางภาคการผลิตและเกิดความมั่นคงภายในประเทศ และในปีค.ศ. 2049 ประเทศจีนจะเป็นผู้เล่นหลักในอุตสาหกรรมการผลิตและการส่งออกสินค้าและบริการ (Goods and Services) ที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี, มีการดึง AI หรือระบบปฏิบัติการใหม่เข้ามาใช้เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตและสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหาธุรกิจ, มีการพัฒนาธุรกรรมการเงินหยวนดิจิทัล รวมถึงบูรณาการดิจิทัลเข้ากับนวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่า เช่น การสร้างโรงงานอัจฉริยะ การสร้างระบบเกษตรอัจฉริยะ การสร้างรถพลังงานไฟฟ้า (EV) อัจฉริยะ เป็นต้น โดยทุกการผลิตจะทำควบคู่ไปกับเป้าหมายลดมลภาวะและรักษาสิ่งแวดล้อม ให้ประเทศจีนเป็นเมืองสีเขียวทีมีความสวยงาม

 จึงพออนุมานได้ว่าอีก 26 ปีข้างหน้าประเทศจีนจะกลายเป็น Technology Hub หรือพื้นที่ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในประเทศ และนอกประเทศ

สังคมเสถียรภาพ ทั่วถึง ทันสมัย

อีกหนึ่งสิ่งที่ประเทศจีนให้ความสำคัญเพื่อขับเคลื่อนไปสู่ภาพฝันที่ต้องการคือ “Stability First” หรือการรักษาเสถียรภาพภายในประเทศ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างสังคมที่นิยมอัตลักษณ์จีน มีเป้าหมายร่วมกัน และคุณภาพชีวิตของประชาชนดีขึ้น โดยมีหลักการพัฒนาตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs17) ในปัจจุบันประเทศจีนมีประชากร 1.412 พันล้านคนซึ่งถือเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ทำให้ต้องพบกับความท้าทายในการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำในตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประเทศจีนได้มีการวางนโยบายและสร้างแพลตฟอร์มดิจิทัลแก้ไขปัญหาดังกล่าวเพื่อผลักดันประเทศให้หลุดออกจากกับดักรายได้ปานกลาง และได้พบกับผลลัพธ์ที่น่าพอใจ เมื่อรายได้ของประชากรที่เคยต่ำกว่าเกณฑ์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง 11.6% ในระยะเวลาเพียง 8 ปี ซึ่งในปีค.ศ. 2020 คนจีนในพื้นที่ชนบทมีค่าเฉลี่ยรายได้ต่อหัว 12,588 หยวน ซึ่งสูงขึ้นจากปี 2013 เป็นเท่าตัว ดังภาพ

การเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของรายได้ประชาชนในชนบทในช่วงทศวรรษที่ผ่านมาเป็นแรงส่งที่ดีในการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชากรให้หลุดพ้นจากความยากจนและกระจายรายได้ให้เกิดความเท่าเทียมกันในทุกพื้นที่ ซึ่งอีก 26 ปีข้างหน้า ประเทศจีนมีแนวโน้มยกระดับเศรษฐกิจของคนในประเทศให้เท่าเทียมกัน และมีความทั่วถึงได้ในทุกพื้นที่ สืบเนื่องจากการให้ความสำคัญกับการฟื้นฟูและพัฒนากำลังพลภายในประเทศเป็นหลัก ทำให้เกิดการปรับโครงสร้างทางสังคมที่เอื้อให้ประชากรสามารถเข้าถึงการศึกษาและสาธารณูปโภคได้อย่างเท่าเทียม จนสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตเพื่อเข้าถึงเทคโนโลยีที่อำนวยความสะดวก มีทักษะความเชี่ยวชาญในการทำงาน เกิดเป็นวงจรพลเมืองอัจฉริยะ – ประเทศศักยภาพสูง (Smart People – Smart Nation) ที่เข้มแข็งภายในประเทศ

และการเชื่อมโยงการทำงานในแต่ละภูมิภาคยังเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่เข้าถึงการทำงานในระบบอุตสาหกรรมได้ง่าย โดยไม่จำเป็นต้องอยู่ในพื้นที่เมืองหลวงเท่านั้น ผู้คนสามารถใช้ความเชี่ยวชาญและทรัพยากรที่มีเพื่อขับเคลื่อนฐานการผลิตของประเทศโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพิงการผลิตหรือนำเข้าสินค้าจากภายนอกมากเท่าเดิม ในปีค.ศ. 2049 คาดว่าประชากรในประเทศจีนจะมีปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีดิจิทัล และเทคโนโลยี AI ในชีวิตประจำวันค่อนข้างสูง มีความทันสมัยจากการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อความบันเทิงและการทำงาน ประชากรทำธุรกรรมโดยไม่จำเป็นต้องใช้เงินสด (Cashless Society) รวมถึงมีแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ก้าวหน้าและปลอดภัยจากอาชญากรรมออนไลน์ (Cyber Crime) ช่วยส่งเสริมการลงทุนอย่างง่ายดายโดยไม่จำเป็นต้องออกนอกประเทศ เป็นต้น

การยกระดับจากภาพฝัน (Chinese Dream) สู่การเป็นประเทศจีนในระดับโลก (Global China) สร้างโอกาสที่สำคัญในการเปลี่ยนแปลงในหลากหลายมิติ เริ่มตั้งแต่การฟื้นฟูโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญนั่นคือกำลังพลภายในประเทศที่สามารถเข้าถึงสาธารณูปโภคและการศึกษาได้อย่างเท่าเทียมในทุกพื้นที่ มีการกระจายความเจริญไปสู่พื้นที่ชนบท และดึงชนบทในแต่ละภูมิภาคเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเป็นฐานผลิตอุตสาหกรรมที่สำคัญ ซึ่งเป็นการเพิ่มความมั่นคงและขีดความสามารถที่เหนือกว่าประเทศอื่น สุดท้ายแล้ว ในบริบทโลกปี 2049 ประเทศจีนอาจเข้าสู่อุตสาหกรรม 5.0 และมีโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่ (China New Economy) อย่างเต็มตัว ทำให้ประเทศกลายเป็น Smart Nation กล่าวคือ เป็นประเทศที่มีความทันสมัยจากเทคโนโลยีที่ตนเองเป็นผู้ผลิตและส่งออกตามความฝันอันยิ่งใหญ่ตามที่ได้วาดไว้ในปัจจุบัน

………………………

เรียบเรียงโดย: จุฑามาศ เฮ่งพก

……………………..

อ้างอิง

Congressional Research Service (2019) China’s Economic Rise: History, Trends, Challenges, and Implications for the United States. [ที่มา]

 David Dollar, Yiping Huang, and Yang Yao. (2020) China 2049: Economic challenges of a rising global power. [ที่มา]

Leksyutina Yana. Global China 2049 Initiative: Challenges and Opportunities for the US. [ที่มา]

Ministry of Foreign Aff airs of the People’s Republic of China. (2019) China’s Progress Report on Implementation of the 2030 Agenda for Sustainable Development  [ที่มา]

ODI. Global China 2049 Initiative. [ที่มา]

The State Council Information Office of the People’s Republic of China. (2021) Poverty Alleviation: China’s Experience and Contribution.  [ที่มา]

World bank group. (2022) FOUR DECADES OF POVERTY REDUCTION IN CHINA: DRIVERS, INSIGHTS FOR THE WORLD, AND THE WAY AHEAD. [ที่มา]

เจี้ยน กวอ และนรชาติ วัง. (2018) การวิเคราะห์นโยบายด้านยุทธศาสตร์ “ยุคสมัยใหม่” ของประธานาธิบดีสีจิ้นผิง. MFU Connexion, 7(2) (198-222)

Congressional Research Service. (2022)  “Made in China 2025” Industrial Policies: Issues for Congress.

Morten Springborg, Global Thematic Specialist, C WorldWide Asset Management. (2018) Made In China 2025 – Global Ramifications Of China Taking The Center Stage.